2559: หรืออสังหาฯ กำลังจะขาลง!? (ตอนที่ 1)

ในรอบไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ที่ผ่านมานั้น สำหรับใครที่ได้ติดตามแวดวงอสังหาฯ ก็คงจะทราบถึงความพยายามจากภาครัฐ ที่จะกระตุ้นความตื่นตัวของตลาดผ่านนโยบายต่างๆ ที่ภาคเอกชนก็ต่างตอบสนองกันอย่างแข็งขัน มีการโฆษณา ออกโปรโมชัน และจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในสายตาของผู้ซื้อ และนักลงทุนมาโดยตลอด

Credits: investkamloops.com

แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้ความเสี่ยงของการลงทุนใดๆ นั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ และแม้ว่าโลกแห่งอสังหาริมทรัพย์จะเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ แต่สัญญาณของความเสื่อมถอยและจุดอันตรายก็ยังคงโผล่หน้าเข้ามาทักทายเป็นพักๆ เพียงถ้าเราจะลองอ่าน ‘ระหว่างบรรทัด’ ของสิ่งที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนกันอีกสักนิด ว่าปี พ.ศ. 2559 ที่จะเข้ามาในอีกไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้า จะเป็น ‘ขาลง’ ของอสังหาฯ อย่างที่มีคนคาดการณ์กันไว้หรือไม่

Credits: jllresidential.in.th

(หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลในรอบสองเดือนที่ผ่านมาโดยสังเขป และไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวร้าย หรือบั่นทอนความเชื่อมั่นใดๆ เพียงแต่เราอยากจะให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่านให้มากขึ้นไปอีกสักนิด…)

//ความเคลื่อนไหวอสังหาฯ ในช่วงต้นไตรมาสสุดท้ายของปี

ในความเคลื่อนไหวของแวดวงอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ผ่านการสำรวจในงานมหกรรมบ้านและคอนโดครั้งล่าสุดนั้น พบว่ามีผู้ประกอบการที่ออกโปรโมชันพิเศษ เพื่อสนองไปกับนโยบายของภาครัฐที่ลดภาษีและค่าจดจำนอง รวมถึงค่าโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งในอัตราที่เทียบเท่ากับภาครัฐ และต่ำกว่าภาครัฐ อีกทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์หรือ ธอส. ก็ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เพื่อการดังกล่าว ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า จำนวนยูนิตของคอนโดมิเนียมใหม่นั้น อยู่ที่ประมาณ 20000 ยูนิต ซึ่งคิดรวมทั้งปีแล้ว ตกอยู่ที่ 65000 ยูนิต ซึ่งลดน้อยกว่าตอนปี พ.ศ. 2557 ที่ทางบริษัทผู้พัฒนาโครงการต้องการยกยอดไปยังปี พ.ศ. 2559

Credits: tnamcot.com

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของผู้พัฒนาอสังหาฯ โดยภาพรวมนั้น ก็อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นความพยายามที่จะเดินเข้าไปให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นกับการวางแผนและนโยบายที่ผู้ประกอบการจะนำมาใช้ ร่วมกับนโยบายภาครัฐที่พร้อมให้การสนับสนุน

//โอเวอร์ซัพพลาย และสัญญาณขาลงของอสังหาฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯ ก็ลงความเห็นที่น่าสนใจว่า อสังหาริมทรัพย์ที่เคยเติบโตอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กำลังจะประสบกับปัญหาขาลงอย่างเห็นได้ชัด จากปัจจัยลบรอบด้านที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาด้านจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่มีมากจนเกินไปหรือการ ‘โอเวอร์ซัพพลาย’ ที่ผู้ประกอบการแข่งขันกันออกโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และแม้ว่าจะยังไม่ได้ชัดเจนอย่างแน่นอน และยังเป็นแค่เพียงบางทำเล แต่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

Credits: buildernews.in.th

ในประเด็นดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า การออกแคมเปญประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการขายคอนโดมิเนียมโครงการต่างๆ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ความพยายามที่จะจบการขายของยูนิตเพื่อระบายสต็อค ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และบ่งชี้ถึงสัญญาณอันไม่สู้ดีที่กำลังเดินหน้าเข้ามาอย่างช้าๆ ในเวลาที่กำลังจะมาถึง

ที่กล่าวไปทั้งหมด คือปัจจัยและสัญญาณของอสังหาฯ ขาลง ปี พ.ศ. 2559 ในบทตอนถัดไป เราจะมาแจกแจงถึงปัจจัยปลีกย่อยอื่นๆ ที่จะส่งผลให้สัญญาณดังกล่าว มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น