จุดประกายความหวังชาวกรุง รถไฟฟ้าสายสีเทา


จากมติเห็นชอบโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยวสีเทา ช่วงวัชรพล-สะพานพระราม 9-ท่าพระ อันรวมในแผนแม่บทระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล พ.ศ.2553-2572 ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการภายใต้หลักการและเหตุผลของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553

โดยใช้เป็นเส้นทางของโครงข่ายรอง มีเส้นทางตามแนวแกนเหนือ-ใต้ ที่เชื่อมต่อพื้นที่ชุมชนหนาแน่นของกรุงเทพฯชั้นในย่านสาธุประดิษฐ์และริมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ศูนย์กลางกรุงเทพฯ โดย กทม.มุ่งหวังป้อนผู้โดยสารเข้าระบบขนส่งมวลชนหลัก รองรับการเจริญเติบโตของเมือง โครงการออกแบบให้มี 39 สถานี จากสถานีวัชรพลและสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ ระยะทาง 39.91 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ ใช้งบลงทุนตลอดสาย 63,500 ล้านบาท ไม่มีการเวนคืนที่ดินประชาชน โดยระยะที่ 1 จะก่อสร้างช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เป็นเส้นทางแรกก่อน ระยะทาง 16.25 กม. จำนวน 15 สถานี ใช้เงินลงทุนประมาณ 24,000 ล้านบาท โดยเริ่มต้นบริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม จุดตัดถนนรามอินทรา มุ่งหน้าลงใต้ตามถนนประดิษฐ์ มนูธรรม ผ่านซอยนวลจันทร์ ข้ามถนนเกษตรนวมินทร์ และสิ้นสุดที่จุดตัดถนนลาดพร้าว เข้า ถนนลาดพร้าว มุ่งหน้าลงใต้ ผ่านถนนประชาอุทิศ ถนนพระราม 9 ยกข้ามทางพิเศษศรีรัช เลี้ยวเข้าถนนเพชรบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าซอยทองหล่อจนบรรจบกับจุดตัดถนนสุขุมวิท แล้วแยกระบบบริเวณปากซอยทองหล่อ

หลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะมีการศึกษาผล กระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากนั้นจึงจะประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการระยะที่ 1 โดยวางแผนก่อสร้างในปี 2559 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2562

ส่วนการก่อสร้างในระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ระยะทาง 12.17 กม. งบประมาณการก่อสร้าง 15,000 ล้านบาท และช่วงที่ 3 พระราม 3-ท่าพระ ระยะทาง 11.49 กม. งบประมาณการก่อสร้าง 18,000 ล้านบาท ซึ่ง กทม.จะศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างต่อไป ภายหลังได้เปิดให้บริการในระยะแรกไปก่อน

ล่าสุดวันที่ 20 มกราคม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 มีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 300 คน โดยกทม.มีความตั้งใจจะ เป็นผู้จัดหางบประมาณลงทุนก่อสร้างเองทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาวิธีการจัดหา งบประมาณ ว่าจะดำเนินการในรูปแบบของการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ หรือการออกพันธบัตร

“หากโครงการนี้เสร็จจะเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรองที่ประชาชนสามารถใช้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าในระบบหลักได้ 6 สาย คือรถไฟฟ้าสายสีชมพู เหลือง ส้ม แดง เขียว และสีน้ำเงิน ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จในอนาคต คาดว่าในปี 2592 จะมีปริมาณผู้โดยสารบนระบบสูงสุดในช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มากถึง 10,500 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ช่วงพระโขนง-พระราม 3 ประมาณ 10,800 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และช่วงพระโขนง-ท่าพระ ประมาณ 11,700 คน ต่อชั่วโมงต่อทิศทาง” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว

พบว่าการสร้างระบบโมโนเรลมีผล มีกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าระบบหลักอย่าง บีทีเอสและเอ็มอาร์ที โดยเฉพาะผลกระทบในระยะก่อสร้างที่มีขนาดเสารองรับโครงสร้างทางวิ่งขนาดเล็กกว่า และนำโครงสร้างยกมาประกอบที่หน้างานได้ จึงทำให้รบกวนการสัญจรทางถนนของประชาชนน้อยกว่า

ขณะที่ประชาชนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ แต่ก็มีความกังวลถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยตัวแทนผู้อาศัยในพื้นที่ท่าพระ นพ.มกราเทพ เทพกาญจนาได้ให้ข้อมูลว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารูปแบบโมโนเรล ต่างประเทศจะในเป็นระบบขนส่งในระยะสั้นๆ แต่ของ กทม.นั้นมีระยะทางเกือบ 40 กม. อาจมีปัญหาก่อสร้าง ทั้งปริมาณการใช้งานของประชาชนที่อาจคลาดเคลื่อน จนรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ไม่เพียงพอ หากในอนาคตมีประชาชนใช้บริการจำนวนมากกว่าที่คาดไว้

ขณะที่ นายธนิต เกียรติปานอภิกุล ประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า กล่าวว่า เส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าดังกล่าวเป็นเส้นทางแนวเดียวกับเส้นทางของรถโดยสาร บีอาร์ที กังวลว่า กทม.จะยกเลิกการเดินรถ บีอาร์ที อยากให้มีการเดินรถเช่นเดิม เพื่อที่บีอาร์ทีจะเป็นส่วนสำคัญในการขนส่งหากรถไฟฟ้าเกิดปัญหา หรือเมื่อรถไฟฟ้าขนาดเล็กอย่างโมโนเรลขนส่งอย่างจำกัดก็แบ่งเบาผู้โดยสารได้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการก่อสร้าง อาทิ ปัญหาขยะ การจราจรที่จะติดขัดช่วงก่อสร้าง จึงได้เสนอกทม.และจะหาแนวทางบรรเทาปัญหาเหล่านี้ด้วย ซึ่ง กทม.ก็รับข้อคิดเห็นไปบรรจุในแผนงาน เพื่อให้การก่อสร้างกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

ที่มา : reic