ซี.พี.แทงกั๊ก 3ข้อ รถไฟความเร็วสูง วัดใจบอร์ดเปิดโต๊ะต่อรองหลังสงกรานต์

รถไฟความเร็วสูง

หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดยื่นซองประมูลก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2561 มีเอกชน 2 กลุ่มร่วมประมูล

คือ 1.กิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง และ

2.กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัดและพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

โดยกลุ่ม ซี.พี.เสนอให้รัฐสนับสนุนเงินลงทุนน้อยที่สุดอยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำจากกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 119,425 ล้านบาท อยู่ที่ 2,198 ล้านบาท จากนั้นวันที่ 24 ธ.ค. 2561 คณะกรรมการคัดเลือกโครงการได้เปิดซองที่ 4 เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของกลุ่ม ซี.พี. ซึ่งได้เสนอเงื่อนไขยากที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์และมติ ครม.

เช่น ขอขยายอายุสัมปทานจาก 50 ปี เป็น 99 ปี, ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรกจากสัญญากำหนดปีที่ 6-15, เลื่อนจ่ายค่าสิทธิการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์, ให้รัฐการันตีหากผลตอบแทนโครงการไม่ถึง 6.75% เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกไม่รับพิจารณา ขณะที่กลุ่ม ซี.พี.พยายามนำเจรจามาตลอด หวังปิดจุดเสี่ยงโครงการ จึงทำให้เจรจาต่อรองกันอยู่หลายครั้งจนมาถึงวันที่ 4 เม.ย. 2562 ที่มีข้อยุติที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การเดินหน้าโครงการ

 

คาดเซ็นสัญญา รถไฟความเร็วสูง พ.ค.นี้

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า วันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.สรุปว่ากลุ่มซี.พี.ยอมรับเงื่อนไขอย่างไม่มีข้อโต้แย้งตามที่คณะกรรมการคัดเลือกแจ้งไป โดยยอมถอน 12 ข้อเสนอที่อยู่นอกเหนืออำนาจคณะกรรมการ ทีโออาร์และมติ ครม. ทำให้การเจรจาคืบหน้าด้วยดี 80% นัดเจรจาอีกครั้งหลังสงกรานต์ในประเด็นปลีกย่อย

ทั้งสองฝ่ายจะตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายร่วมตรวจสอบร่างสัญญา ก่อนที่คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณา เพื่อให้อัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาต่อไป คาดเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พิจารณาปลายเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นเสนอ ครม.อนุมัติ คาดเซ็นสัญญาในเดือน พ.ค.นี้ ต้องรอให้ผ่านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนถึงเซ็นสัญญาได้

“เงื่อนไขยาก 12 ข้อ ซี.พี.ยอมหมดแล้ว รวมถึงสัมปทาน 50 ปี แต่ยังพูดไม่เต็มปากว่า ซี.พี.เป็นผู้ชนะ ต้องให้การเจรจาจบหมดก่อน” นายวรวุฒิกล่าวและว่า

 

ไม่พูดถึงแหล่งเงินทุน

ส่วนแหล่งเงินจากต่างประเทศ ซี.พี.บอกเพียงว่า ได้ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนจะมาจากไหน ซี.พี.ไม่ได้แจ้ง โดยหลักน่าจะมาจากประเทศไทย ญี่ปุ่น และจีน

รายงานข่าวแจ้งว่า ซี.พี.ยอมถอนเงื่อนไขเพื่อให้โครงการได้เซ็นสัญญาในรัฐบาลชุดนี้ ถ้าช้าอาจไม่เป็นผลดี

 

ดัน 3 ข้อเสนอ

“แต่ก็ยังถอนไม่หมดทั้งพวง ยังมี 3 ข้อเสนอที่ ซี.พี.พยายามให้คณะกรรมการคัดเลือกบันทึกเสนอบอร์ดอีอีซีและ ครม.คือ 1.ให้รัฐชำระเงินร่วมลงทุน 117,227 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 1-6

2.ซี.พี.ผ่อนจ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตลิงก์ 10 ปี เริ่มปีที่ 2-12 พร้อมให้ดอกเบี้ยเพิ่ม 3%

และ 3.จัดตั้งอิมเมอเจนซี่ฟันด์ (กองทุนฉุกเฉิน) มาซัพพอร์ตโครงการ โดยธนาคารไทยกับธนาคารไชน่าดีเวลลอปเมนต์ของจีน (CDB) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก)”

“ซึ่งคณะกรรมการไม่ได้นำมาพิจารณา โดย ซี.พี.แจ้งที่ประชุมว่าพันธมิตรขอให้คง 3 ข้อเสนอนี้ไว้ แล้วให้คณะกรรมการทำเป็นหนังสือแนบไปให้บอร์ดอีอีซีและ ครม.รับทราบว่า เอกชนมีข้อเสนอแนะแบบนี้ อย่างซีเคียวริตี้ฟันด์ เขาบอกแต่ว่าอนาคตจะมีกองทุนนี้ขึ้นมา แต่ไม่บอกว่าจัดตั้งหรือยัง ซึ่งการที่ ซี.พี.ให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้ตั้งแต่ปีแรกเพื่อนำเงินมาลงทุนโครงการระหว่างรอตั้งกองทุนนี้ อยู่ที่การรถไฟฯและอีอีซีจะนำไปเสนอหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการมีหน้าที่เสนอภาพรวมผลการเจรจาเท่านั้น”

เรื่องนี้นายวรวุฒิชี้แจงว่า 3 ข้อเสนอนี้อยู่นอกเหนือทีโออาร์และอำนาจคณะกรรมการคงไม่มีการพิจารณา และไม่นำมาเป็นเงื่อนไข ส่วนอีอีซีจะเสนอบอร์ดพิจารณาหรือไม่นั้น ไม่ทราบ

 

แบงก์จีนยังไม่โอเค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันธมิตรกลุ่ม ซี.พี.มีทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ถือหุ้น 5% บจ.ไชน่า คอนสตรัคชั่นคอร์ปอเรชั่นจากประเทศจีน ถือหุ้น 10% บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ถือหุ้น 15%องค์กรความร่วมมือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการพัฒนาเมืองในต่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JOIN), บจ.ซิติกกรุ๊ป จากประเทศจีน บจ.ไชน่า รีเสิร์ช (โฮลดิงส์) จากจีน, บจ.ซีเมนส์ จากเยอรมนี, บจ.ฮุนได จากเกาหลี, บจ.Ferrovie dello Stato Italiane (FS) จากอิตาลี, บจ.CRRC-Sifang จากจีน และ JBIC จากญี่ปุ่น

โดยกลุ่มบริษัทมีสถาบันการเงินในและต่างประเทศสนับสนุนร่วม 10 แห่ง ได้แก่ JOIN และเจบิกจากญี่ปุ่น, ธนาคารไชน่าดีเวลลอปเมนต์ (CDB) จากจีนและสถาบันการเงินในประเทศอีก 4-5 ราย ล่าสุดรอคำตอบจากธนาคารจีนที่ยังไม่ยืนยันการปล่อยกู้

 

BTS ทำหนังสือถาม

รายงานข่าวกล่าวว่า วันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่ม BSR เสนอราคาชนะเป็นรายที่ 2 ทำหนังสือถึงคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อขอทราบความคืบหน้า หนังสือระบุว่า นับจากที่แจ้งผลราคา 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีการเชิญกลุ่ม BSR มาเจรจา ซึ่งพร้อมสนับสนุนและร่วมลงทุนโครงการ ถ้าเจรจากับ ซี.พี.ไม่สำเร็จ

 

ที่มา prachachat.net

เจ้าสัวเจริญ จัดทัพ พัฒนาที่ดิน แสนไร่ ลดภาระภาษีเจ้าสัวเจริญ จัดทัพ พัฒนาที่ดิน แสนไร่ ลดภาระภาษี

 

ที่ดินทำเลทอง

เปิดกรุที่ดินทำเลทอง 48 แปลงทั่วกรุง วาละล้านอัพ

 

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก