คลังมั่นใจชงเก็บภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง! บ้านราคาต่ำกว่า 50 ล้านรอด

คลังพร้อมเสนอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้า ครม.อังคารนี้ (7 มิ.ย.) มั่นใจผ่าน ฉลุยหลังยกเว้นไม่เก็บภาษีบ้านราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาท พร้อมออกหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนกรณีที่ดินไม่ต้องเสียภาษี เช่นที่ดินส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรร โรงเรียนและวัด เป็นต้น

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 7 มิ.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.พิจารณา พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นครั้งที่ 2 หลังจากก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังเคยเสนอกฎหมายดังกล่าวให้ ครม.พิจารณา แต่ถูกตีกลับและสั่งให้กระทรวงการคลังออกกฎหมายลูกของกฎหมายดังกล่าวให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะข้อยกเว้นการไม่เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทใดบ้าง สำหรับ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างที่จะเสนอ ครม.ในครั้งนี้ กระทรวงการคลังยังคงกรอบแนวทางการจัดเก็บภาษีเอาไว้ 4 ประเภท และกำหนดเพดานของอัตราภาษีที่จะจัดเก็บสูงสุดคือ

1.ที่ดินสำหรับการเกษตร จัดเก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 0.2% ของมูลค่าที่ดิน 2.ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย จัดเก็บในอัตราสูงไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าที่ดิน โดยจะจัดเก็บเฉพาะบ้านที่มีราคาเกินกว่า 50 ล้านบาท และบ้านหลังที่ 2 หรือมากกว่านั้น โดยบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นไม่เก็บภาษี

3.ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม จัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 2% ของราคาที่ดิน และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ จะจัดเก็บอัตราสูงสุดไม่เกิน 5% ส่วน กรณีที่ดินของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง หรือจัดสรรที่ดิน ในช่วง 3 ปีแรกจะจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำที่สุด เพื่อลดภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ แต่เมื่อครบ 3 ปีแล้วยังไม่ดำเนินการก่อสร้างถึงจะถูกเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด

ส่วนเรื่องการออกกฎหมายลูกหรือประกาศเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กระทรวงการคลังจะเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า อำนาจในการจัดเก็บภาษีจะอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปบำรุงและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง นอกจากนี้ กฎหมายลูกยังกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เก็บภาษีแบบขั้นบันได กล่าวคือ มูลค่าที่ดินต่ำ จะเสียภาษีน้อยที่สุด และค่อยๆขยับขึ้นตามขั้นบันไดที่ท้องถิ่นกำหนด เหมือนกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บแบบอัตราก้าวหน้า

ส่วนเรื่องการยกเว้นไม่เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทใดบ้างนั้น จะมีการกำหนดอย่างชัดเจนในกฎหมายลูก เช่น วัด โรงเรียน ที่ดินส่วนกลางของหมู่บ้าน และสาธารณะ เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องของการตีความทางกฎหมายที่จะตามมาในภายหลัง รวมถึงกรณีที่ผู้ครอบครองที่ดินที่ได้รับจากมรดก หรือมีรายได้ไม่เพียงพอในการชำระภาษี กฎหมายลูกก็ยังกำหนดให้สามารถผ่อนชำระภาษีหรือเลื่อนภาษีออกไปได้ด้วย เพื่อลดกระแสต่อต้านจากสังคมในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ในปีแรกประมาณ 60,000 บาท และหากกฎหมายผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติฯ (สนช.) จะให้มีผลบังคับใช้ในต้นปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้กรมธนารักษ์มีความพร้อมเกือบ 100% ในการจัดเก็บภาษีที่ดินเป็นรายโฉนด ได้ทั่วประเทศ จากเดิมที่จัดเก็บที่ดินเป็นรายบล็อก

ทั้งนี้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เคยถูกนำมาเป็นประเด็นการเมืองและเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงในสมัยนายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง จนนายกรัฐมนตรีต้องสั่งชะลอโครงการและให้กระทรวงการคลังนำกลับไปพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากนายสมหมายตั้งเป้าหมายว่า จะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นถึงปีละ 200,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล.

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปจาก thairath.co.th

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/