ปั้นสนามบินเชียงใหม่…เป็นฮับภาคเหนือ


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เจ้ากระทรวงคมนาคม เผยว่า ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงยุโรปและอเมริกา จึงเป็นจุดสนใจของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

           อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่มีภูมิศาสตร์เป็นป่าเขาที่สวยงามและมีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญมาก ทั้งเชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง หรือว่า แพร่ ล้วนเป็นที่ประทับใจของชาวไทยและต่างชาติ และเนื่องจากประชากรรวมถึงนักท่องเที่ยวที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องทำการปรับโครงสร้างการคมนาคมขนส่งภาคเหนือให้เชื่อมโยงกับ 4 ภูมิภาค เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และเชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าพม่า ลาว เวียดนาม จีน เพื่อข้ามไปยังอินเดียได้


“ถ้าจะเทียบเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทางบกจะเห็นภาพชัด ทางอากาศมีสนามบินเชียงใหม่และเชียงรายที่คนใช้มากที่สุด ทางรถไฟค่อนข้างจะคลาสสิก แม้จะเกิดมาแล้ว 118 ปี จะทำไงถึงจะโมเดิร์นไนซ์ได้ เป็นสิ่งที่จะทำต่อไป”

           ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯและภูเก็ตถือว่าเชียงใหม่ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก เพราะเป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากร 1.7 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวปีละประมาณ 8 ล้านคน เนื่องจากมีพื้นที่คาบเกี่ยวกับจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นแม่ฮ่องสอน เชียงราย, ลำปาง หรือ พะเยา แต่สิ่งสำคัญคือต้องรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมที่ดีไว้ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

           ทางด้านกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนใน 2 ประเด็นคือ ทางรางและทางอากาศ ซึ่งทางราง ต้องแก้ปัญหาเรื่องความล่าช้า และจะเปลี่ยนแปลงจากหัวรถจักรไอน้ำเป็นดีเซล และไปสู่หัวรถจักรไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและทำให้การเดินทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 600-700 กม. เหลือเพียง 10 ชม.

           นอกจากระบบรางแล้ว ทางอากาศ จะมีการพัฒนาให้เป็นสนามบินแนวตั้ง เนื่องจากปัจจุบันแน่นมาก ความจุ 8 ล้านคน/ปี จำเป็นต้องขยายลานจอดอีก 8 หลุมจอด รวมกับของเดิมเป็นกว่า 20 หลุมจอด เพื่อเพิ่มการเข้าออกเครื่องบิน และเปิดบริการได้ 24 ชม.

           ในส่วนของเทอร์มินอล (อาคารผู้โดยสาร)นั้น จะสร้างอาคารหลังใหม่ด้านข้างสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ รองรับผู้โดยสาร 4 ล้านคน/ปี พร้อมปรับปรุงอาคารเดิมสำหรับผู้โดยสารในประเทศ จะรองรับผู้โดยสารได้ 9 ล้านคน/ปี ทำให้อีก 5 ปีข้างหน้าหรือปลายปี 2562 จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 12.5 ล้านคน/ปี

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ