เจาะ ปมประมูลไฮสปีด ซี.พี.ยืน 8 ข้อเสนอ ส่งตรงถึงรัฐบาล

โปรเจ็กต์แห่งปี “รถไฟความเร็วสูง” เชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา 220 กม.วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท กำลังเข้าสู่โหมดเจรจาโค้งสุดท้ายระหว่างรัฐโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตรหลังยื่นข้อเสนอให้รัฐสนับสนุนต่ำสุดอยู่ที่ 117,227 ล้านบาท ทิ้งห่างกลุ่มบีเอสอาร์ในเครือ BTS 52,707 ล้านบาท ที่ขอสนับสนุน 169,934 ล้านบาท

นอกจาก ซี.พี.จะใจถึงเสนอราคาต่ำสุด แถมยังใจดีเพิ่มส่วนรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ 2 สถานี “มักกะสัน-ศรีราชา” อีก 10 ปี คิดเป็นเงินเฉียด 10,000 ล้านบาท แม้จะมีออปชั่นพิเศษให้รัฐ แต่เงื่อนไขที่ซ่อนไว้ในซองที่ 4 เป็นข้อเสนอพิเศษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงการที่ ซี.พี.เสนอมาร่วม ๆ 200 หน้า จำนวน 108 ข้อ ซึ่งเป็นประเด็นน่าสนใจและถูกจับตามองในขณะนี้

รถไฟความเร็วสูง

เจรจานัดแรก 28 ม.ค.

เมื่อผลประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการมี “วรวุฒิ มาลา” รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เป็นประธาน ได้พิจารณาให้กลุ่ม ซี.พี.ผ่านข้อเสนอ 4 ซอง ทั้งคุณสมบัติ เทคนิค ราคา และข้อเสนอพิเศษพร้อมเตรียมเปิดโต๊ะเจรจานัดแรกวันที่ 28 มกราคม 2562 ผลเจรจาจะจบเร็วหรือลากยาวคงต้องรอดู เพราะวงเจรจาเปิดทางให้กลุ่ม ซี.พี.ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมได้อีก หากประเมินแล้วเป็นประโยชน์ต่อโครงการ

แม้คณะกรรมการคัดเลือกจะมีมติเป็นเอกฉันท์ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา จากทั้งหมด 11 ข้อเสนอ สามารถรับข้อเสนอของกลุ่ม ซี.พี.เพียง 3 ข้อ คือ การพัฒนาโครงการร่วมกับชุมชน สร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบบราง และสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและโรงงานประกอบรถไฟ โดยปัดตก 8 ข้อเสนอด้านการเงินและเทคนิคที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขทีโออาร์ นอกเหนืออำนาจคณะกรรมการคัดเลือกที่จะตัดสินใจ

 

วัดใจบอร์ดอีอีซี

แต่ฟังจาก “วรวุฒิ” ดูเหมือนกลุ่ม ซี.พี.ยังสามารถหอบข้อเสนอที่ถูกปัดตกไปเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี ที่มี “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็ได้ในเมื่อโครงการนี้ถูกผลักดันด้วยกฎหมายพิเศษอยู่แล้ว

“ข้อเสนอบางข้อคณะกรรมการคัดเลือกไม่มีอำนาจพิจารณา กลุ่ม ซี.พี.จะนำข้อเสนอที่คณะกรรมการไม่รับไว้ไปปรับเปลี่ยนเพื่อเสนอใหม่ในขั้นตอนเจรจาครั้งต่อไปก็ได้ ซึ่งคณะกรรมการจะเก็บข้อเสนอทุกข้อไว้และเสนอให้บอร์ดอีอีซีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีข้อคิดเห็นที่ต่างจากคณะกรรมการคัดเลือกก็เป็นไปได้ ทุกข้อเสนอเอกชนมีสิทธิเสนอได้หมด อยู่ที่เราจะพิจารณาหรือไม่” นายวรวุฒิกล่าวและว่า สาเหตุที่กลุ่ม ซี.พี.มีข้อเสนอต่าง ๆ มากมาย หวังลดความเสี่ยงของโครงการ ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.ยืนยันว่า ราคาที่เสนอนั้นสามารถดำเนินการโครงการแต่โครงการมีความเสี่ยงมาก โดยเฉพาะถ้าปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้า เงินชดเชยที่รัฐบาลให้ การหาแหล่งเงินกู้เองเนื่องจากโครงการมีความเสี่ยงสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงตามไปด้วย รวมถึงปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ๆ

รัฐไม่การันตีผลตอบแทน

“การการันตีผลตอบแทน 6.75% ไม่มีพูดถึง เพราะรัฐไม่สามารถการันตีผลตอบแทนให้เอกชนได้ เอกชนต้องรับรู้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน กลุ่ม ซี.พี.ได้ชี้แจงว่า ราคาต่ำสุดที่เสนอมา 117,227 ล้านบาท เป็นข้อเสนอที่ ซี.พี.สามารถทำได้ แต่ต้องรับความเสี่ยงสูงมาก”

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นนายวรวุฒิย้ำว่า เบื้องต้นคณะกรรมการคัดเลือกขอให้ยึดตามสัญญาทีโออาร์ไปก่อน หากจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงต้องกลับไปดูทีโออาร์ก่อนว่ามีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง และต้องแจ้งมาที่การรถไฟฯก่อนเพื่อให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น หรือสัดส่วนการถือหุ้นต่อไป

“ยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลาเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.นานแค่ไหน แต่ดูแล้วไม่น่าจะทันเซ็นสัญญาได้ตามเป้าภายในวันที่ 31 ม.ค.นี้ เพราะเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูงกว่า 2 แสนล้าน ความเสี่ยงก็มากอาจต้องเจรจากันหลายครั้ง ถึงที่สุดแล้วหากการเจรจาไม่เป็นผล จะเชิญรายที่ 2 คือ กลุ่มบีทีเอสมาเจรจาต่อไป เพื่อให้โครงการได้เดินหน้า ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่” นายวรวุฒิกล่าวย้ำ

ปัดตก 8 ข้อเสนอ

สำหรับ 8 ข้อเสนอของกลุ่ม ซี.พี.ที่คณะกรรมการคัดเลือกไม่รับพิจารณา รายงานข่าวแจ้งว่า เป็นเรื่องข้อเสนอการเงินและเทคนิคก่อสร้าง เพื่อลดความเสี่ยงและต้นทุนของโครงการเช่น ขอรัฐการันตีผลตอบแทนโครงการ 6.75% ต่อปี ขอรัฐจ่ายเงินอุดหนุน 10 ปีตั้งแต่ปีแรก จากเดิมในทีโออาร์กำหนดไว้ปีที่ 6-15 ขอรัฐสนับสนุนแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสม ขอปรับการก่อสร้างบางช่วงจากรูปแบบทางยกระดับเป็นทางระดับดิน เพื่อให้สามารถสร้างได้เร็วและลดต้นทุนโครงการ

“กลุ่ม ซี.พี.ยื่นข้อเสนอมาเยอะเผื่อรัฐรับไว้เจรจา ซึ่งเอกชนรู้อยู่แล้วว่าโครงการนี้ยังไงก็มีความเสี่ยงสูง ไม่มีความคุ้มทุนแม้ว่าระยะเวลาสัมปทานจะ 50 ปีก็ตาม ต้องมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีมาหล่อเลี้ยงด้วยถึงจะทำให้โครงการอยู่ได้ รัฐจึงให้สิทธิเอกชนพัฒนาเชิงพาณิชย์พื้นที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ และศรีราชา 25 ไร่ หากเอกชนมีที่ดินแปลงอื่นก็นำมาพัฒนาต่อยอดโครงการได้ในอนาคต ขึ้นอยู่กับการบริหารความเสี่ยงของเอกชน”

ไฟเขียวขยายเส้นทาง-ขยับสถานี

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนออื่น ๆ เช่น การขยายเส้นทางจากสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 30-40 กม. การสร้างเส้นทางย่อย (สเปอร์ไลน์) เชื่อมสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และการปรับตำแหน่งสถานี เป็นข้อเสนอที่คณะกรรมการคัดเลือกรับไว้พิจารณา เนื่องจากประเมินว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงการในภาพรวม เหมือนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สายสีเหลือง แต่ว่าเป็นการพัฒนาในระยะยาว ยังไม่ใช่การลงทุนในเร็ว ๆ นี้ จะใส่เป็นข้อเสนอแนบท้ายในสัญญาและเจรจารายละเอียดกันต่อไป เนื่องจากกลุ่ม ซี.พี.ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการเป็นที่น่าสนใจว่า ปมประเด็นอะไรจะเป็นหมัดเด็ดในมือของกลุ่ม ซี.พี.ที่จะมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงการหลายแสนล้าน ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า โครงการนี้มีความเสี่ยงสูง แต่ทำไมยังจะปักหลักลงทุนต่อ

 

ที่มา  prachachat.net

ราคาที่ดิน

ชาวปากน้ำเฮ ราคาที่ดิน พุ่งรับปีหมูทอง

 

 

รถไฟฟ้า

เจาะพิมพ์เขียว รถไฟฟ้า ฉบับใหม่ ขยายเส้นทาง ปริมณฑล-อยุธยา-ฉะเชิงเทรา

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก