ซิโน-ไทย ผันตัวเป็นดีเวลอปเปอ เดินหน้าแย่งซื้อที่ดิน 11 ไร่ย่านบีทีเอสจตุจักรผุดออฟฟิศหมื่นล้าน

ซื้อที่ดิน

ซิโน-ไทยฯ เตรียม ซื้อที่ดิน ผันตัวเป็นดีเวลอปเปอร์  ต่างชาติบุก-ตลาดแข่งขันสูง  “ซิโน-ไทยฯ” ยักษ์รับเหมาเบอร์ 3 ปรับตัวมุ่งโครงการสัมปทาน  ทุ่ม 4.3 พันล้าน แย่งซื้อที่ดิน “หมอชิตแลนด์” ย่านจตุจักรติดรถไฟฟ้า ผุดอาคารแฝดสำนักงานให้เช่า สูง 36 ชั้น พร้อมสวนลอยฟ้า สกายวอล์ก เชื่อมบีทีเอส มูลค่าโครงการ 1.2 หมื่นล้าน สร้างรายได้ระยะยาวบาลานซ์ความเสี่ยงธุรกิจก่อสร้าง

ซื้อที่ดิน 11 ไร่ ย่านบีทีเอสจตุจักร ซิโน-ไทย เดินหน้าผุดออฟฟิศหมื่นล้าน

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ว่า ปัจจุบันตลาดงาน ก่อสร้างของประเทศไทยถึงภาครัฐจะผลักดันการประมูลงานโครงการออกมามาก แต่สภาพโดยรวมยังมีการแข่งขันตัดราคากันสูง อีกทั้งยังเริ่มมีผู้รับเหมาจากต่างชาติเข้ามาในตลาดช่วงแรก หลังจากที่เงื่อนไขของประเทศไทยเริ่มมีการผ่อนปรนให้ต่างชาติเข้าร่วมแข่งขันประมูลได้ โดยอาจจะมีการยอมรับงานที่ไม่มีกำไร ทำให้การประมูลงานที่ได้มาอาจมีราคาไม่ดีนัก “ก็เริ่มมองธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้บริษัทในระยะยาว เป็นการ secure backlog ให้คงอยู่สำหรับอนาคต โดยหวังรายได้จากการชนะการประมูลงานอย่างเดียวค่อนข้างจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องของ นโยบายภาครัฐ ความมั่นใจและกล้าลงทุนของภาคเอกชน”

รุกธุรกิจสร้างรายได้ระยะยาว

นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า ขณะนี้จึงต้องคิดพิจารณาแนวทางในการที่จะมีรายได้ประจำ หรือ recurring income ที่ไม่ต้องหวังพึ่งจากการประมูลหรือเจรจาเสนอราคาอย่างเดียวบ้าง โดยแนวทางที่บริษัทพิจารณาในตอนนี้ก็คือการ diversify แหล่งที่มาของรายได้เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมลงทุนงานสัมปทานเพื่อจะมีรายได้จากงานก่อสร้างของงานสัมปทาน เช่น ได้ร่วมกับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จับมือเป็นพันธมิตรในนามกิจการร่วมค้า BSR เข้าร่วมลงทุน PPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูแคราย-มีนบุรีกับสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง รวมถึงงานประมูลสัมปทานโครงการอื่น ๆ ในอนาคต

จากรับเหมาสู่ดีเวลอปเปอร์

ซื้อที่ดินนอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนตัวเองเป็นดีเวลอปเปอร์ โดยมองหาจังหวะที่ดีในการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอง หรือหางานในต่างประเทศที่บริษัทมีศักยภาพหรือเตรียมความพร้อม โดยการทำการศึกษาตลาด (market survey) ไว้นายภาคภูมิกล่าวว่า ล่าสุดบริษัทเตรียมจะลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 12,110 ล้านบาท ย่านพหลโยธิน ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยได้ซื้อที่ดินบริษัท หมอชิตแลนด์ จำกัด จาก บมจ.ยูซิตี้ (U) จำนวน 63 แปลง หรือประมาณเนื้อที่ 11 ไร่ วงเงิน 4,320 ล้านบาท เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2562 เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการหมอชิต คอมเพล็กซ์บนที่ดินดังกล่าว โดยบริษัทจะพัฒนาและลงทุนเองทั้งหมด

ผุดสำนักงานให้เช่า

รูปแบบการพัฒนาเป็นโครงการก่อสร้างอาคารแฝด เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า สูง 36 ชั้น และชั้นใต้ดิน 3 ชั้น โดยชั้นบนสุดของอาคารมีโครงสร้างเชื่อมกันทำเป็นสวนลอยฟ้า มีร้านค้าและสกายวอล์กเชื่อมบีทีเอสหมอชิต วงเงินลงทุนในการพัฒนาโครงการประมาณ 7,790 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ ทั้งนี้ การลงทุนในโปรเจ็กต์นี้ก็ถือเป็นหนึ่งในการที่จะสร้าง recurring income ซึ่งจากทำเลและความพร้อมของที่ดินในแปลงนี้สร้างความมั่นใจให้บริษัทได้ว่า นอกจากจะสร้างความคุ้มค่าจากการพัฒนาโครงการได้แล้ว ทางบริษัทก็น่าจะมีข้อได้เปรียบจากการลงมือก่อสร้างเอง ซึ่งสามารถคำนวณต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้พัฒนารายอื่น ๆ ที่ต้องไปจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง

“ในส่วนของแผนการดำเนินงานก็มีการคิดไว้หมดแล้วว่าจะทำอะไร มีความคุ้มค่าแค่ไหน แต่ยังจะขอไม่เปิดเผยรายละเอียดในตอนนี้ ไว้ให้มีรายละเอียดที่สมบูรณ์กว่านี้ก่อน แต่มั่นใจได้ว่าคุ้มกับต้นทุนที่เราลงทุนไปแน่นอน”

ดึงแหล่งเงินลงทุนหลายช่องทาง

นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า สำหรับแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการลงทุน ทางบริษัทจะใช้แหล่งเงินทุนจากช่องทางต่าง ๆ อาทิ เงินทุนหมุนเวียน, เงินสดจากผลประกอบการที่จะได้รับเป็นปกติจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท, เงินกู้จากสถาบันการเงิน, ออกหุ้นกู้ระยะยาว เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทจะพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะใช้ตามความเหมาะสม สำหรับการชำระเงินที่ซื้อที่ดิน วงเงิน 4,320 ล้านบาท จะแบ่งผ่อนชำระ 4 งวด เป็นระยะเวลา 4 ปี งวดแรกชำระวันที่ 1 พ.ย. 2562 จำนวน 1,300 ล้านบาท งวดที่ 2 วันที่ 1 พ.ย. 2563 จำนวน 1,000 ล้านบาท งวดที่ 3 วันที่ 1 พ.ย. 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท และงวดสุดท้ายวันที่ 1 พ.ย. 2565 จำนวน 1,000 ล้านบาท

นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (backlog) ประมาณ 105,000 ล้านบาท จะสามารถรับรู้รายได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า และจะทำให้การรับรู้รายได้ของบริษัทในปี 2562 น่าจะเติบโตขึ้นประมาณ 10-20% จากปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท และคงจะทำนิวไฮรายได้ทะลุ 30,000 ล้านบาทเป็นปีแรก สำหรับงานที่จะรับรู้ปี 2562 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นงานก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรักเจอร์ ประมาณ 60-70% แบ่งเป็นภาครัฐประมาณ 40% และเอกชนประมาณ 60% ซึ่งรวมงานสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่บริษัทจะนับเป็นงานภาคเอกชน เนื่องจากเป็นการรับงานต่อจากผู้รับสัมปทาน

 

ที่มา prachachat.net