สะดุดอีกรอบ รถไฟฟ้าสายสีส้ม – รถไฟทางคู่เฟส2 บอร์ด รฟม.ตีกลับ

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

แผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม ติดหล่ม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หวั่นเพิ่มหนี้สาธารณะ เป็นภาระงบประมาณ บอร์ด รฟม.สั่งศึกษาการเงิน รถไฟฟ้าสายสีส้ม – สีม่วงใต้เพิ่ม รถไฟทางคู่ เฟส 2 ติดล็อกยกแผง 9 เส้นทาง ส่อหลุดโค้งประมูลไม่ทันสิ้นปีนี้

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ อาจส่งผลกระทบต่อ รถไฟฟ้าสายสีส้ม – รถไฟทางคู่ เฟส 2

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 19 เม.ย. 2561 อาจส่งผลกระทบต่อการขออนุมัติลงทุนโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากแต่ละโครงการต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังเพิ่มอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งมีหลักเกณฑ์หลายอย่างต้องพิจารณาประกอบ อย่างไรก็ตาม จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด คาดว่ากระบวนการพิจารณาจะช้าจากเดิม 2-3 เดือน

 

กระทบเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

โครงการที่ต้องเข้ากระบวนการนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนใหม่ที่ยังไม่ผ่านอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนที่ได้รับอนุมัติก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ ไม่จำเป็นต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่

โครงการที่ต้องนำกลับไปให้คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินคลังฯพิจารณา อันดับแรกคือ รถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 9 เส้นทาง เงินลงทุน 427,012 ล้านบาท ที่ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ในปีนี้ โดยเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กม. เงินลงทุน 76,978 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้แล้ว รอเสนอ ครม.อนุมัติ

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การขออนุมัติทุกโครงการต้องทำตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง จะมีแบบฟอร์มให้แต่ละหน่วยงานกรอกเพิ่ม เช่น ความคุ้มค่าด้านการเงิน เพื่อนำไปวิเคราะห์ตรวจสอบเรื่องผูกพันงบประมาณของรัฐบาล จากเดิมสภาพัฒน์พิจารณาแล้วเสนอ ครม.อนุมัติได้เลย แต่ต่อไปต้องส่งข้อมูลเพิ่มให้คณะกรรมการพิจารณา

 

บอร์ด รฟม.ตีกลับสายสีส้ม

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้ รฟม.นำรูปแบบการร่วมลงทุน PPP โครงการก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และการเดินรถสายสีส้มจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ รวม 34.6 กม.

ไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางการเงินให้ครบทุกมิติ เช่น อัตราดอกเบี้ย ปริมาณผู้โดยสาร ความคุ้มค่าของโครงการ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่จะกำหนดกรอบเพดานหนี้สาธารณะ และกรอบการใช้เงินงบประมาณ ซึ่งจะเร่งดำเนินการและเสนอบอร์ดพิจารณาในการประชุมครั้งหน้าเดือน ก.ค.นี้

สำหรับสายสีส้ม ใช้เงินลงทุน 120,000 ล้านบาทเป็นค่าก่อสร้าง 90,000 ล้านบาท ค่าเดินรถ 30,000 ล้านบาท ใช้รูปแบบการลงทุน PPP net cost เวลา 30 ปี โดยรัฐเวนคืนที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนทั้งก่อสร้างและระบบเดินรถ

โดยรัฐสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินเพดานค่างานโยธา 10 ปี เหมือนสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งบอร์ดมองว่า แม้จะให้เอกชนลงทุน PPP ทั้งโครงการ แต่มีเงื่อนไขรัฐต้องสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินเพดานค่างานโยธา และต้องจัดสรรประมาณผูกพันระยะยาว จะสร้างภาระให้รัฐบาล

“การที่ รฟม.เสนอแบบ single one single package คือ ให้งานก่อสร้างและเดินรถไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เปิดบริการได้ตามแผน เดิมเริ่มงานก่อสร้างแล้วถึงจะเปิดประมูลเดินรถ หากมีปัญหาจะเปิดใล่าช้า เหมือนสายสีแดง”

 

หวั่นกระทบเปิดหวูดปี”66

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

นายภคพงศ์กล่าวว่า คาดว่างานเดินรถของสายที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปิดบริการสายสีส้มปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คืบหน้า 9.98% ตามแผนจะเปิดปี 2566 เนื่องจากปกติงานระบบจะใช้เวลา 36 เดือนในการผลิต ติดตั้งและทดสอบระบบ หากหาเอกชนดำเนินการได้ในปี 2562-2563 ถือว่ายังอยู่ในแผนงาน ตั้งเป้าไตรมาส 4 จะประกาศทีโออาร์ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 23.6 กม. เงินลงทุน 1.01 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างจัดหาแหล่งเงินลงทุนเพิ่ม

แบ่งเป็นเงินทุนที่กระทรวงการคลังจะจัดหาเงินทุนให้ 90% อีกส่วนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 10% รูปแบบการลงทุนจะเปิดให้เอกชนร่วมทุน PPP เหมือนสายสีส้ม ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP ที่เหมาะสมระหว่าง PPP net cost และ PPP gross cost รวมถึงทำตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯใหม่ด้วย

 

งานทางหลวงติดหล่มถ้วนหน้า

ขณะที่นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวเช่นกัน ทั้งโครงการมูลค่า 1,000 ล้านบาท ที่จะขอจัดสรรงบประมาณประจำปี ในปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 20-30 โครงการ จะเริ่มเปิดประมูลเดือน ส.ค.นี้ ให้ทันเบิกจ่ายงบประมาณเดือน ต.ค.

อาจล่าช้าออกไปอีกรวมถึงโครงการขนาดใหญ่ มอเตอร์เวย์สายใหม่ เช่น นครปฐม-ชะอำ 119 กม. เงินลงทุน 80,600 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 62,600 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18,000 ล้านบาท จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost รัฐเวนคืน และให้เอกชนก่อสร้างงานโยธา ติดตั้งงานระบบ และรับสัมปทานบริหารโครงการ 30 ปี

นอกจากนี้ มีมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-วังมะนาว จะสร้างเฟสแรก ช่วงต่างระดับบางขุนเทียน-มหาชัย 11.5 กม. เงินลงทุน 15,000 ล้านบาท ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน 18 กม. เงินลงทุน 30,538 ล้านบาท ส่วนต่อขยายถนนบรมราชชนนี-ถนนพุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 6,000-7,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการ PPP ให้เอกชนร่วมลงทุนระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี 6 หมื่นล้านบาท และค่าเวนคืนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จะขอเพิ่มเติม 14,217 ล้านบาทด้วย

 

ห้ามสร้างภาระเกิน 30%

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ บังคับใช้ตั้งแต่ 20 เม.ย. 2561 ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ วันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการชุดนี้ครั้งแรก และมีมติกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังบางส่วนออกมาแล้ว

สาระสำคัญของกฎหมายมีเรื่องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของรัฐไว้ โดยกำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานรัฐตามที่ได้รับมอบหมาย ต้องมียอดคงค้างรวมกันไม่เกินอัตรา 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จึงให้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เตรียมเสนอ ครม. จัดทำรายงานเพิ่มเรื่องการสูญเสียรายได้รัฐมาด้วย

 

ชี้ไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่

“โครงการที่เข้าเงื่อนไขนี้ ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ รถไฟทางคู่ เป็นต้น แม้เป็นโครงการที่เอกชนลงทุน แต่มีเงื่อนไขว่า หากรัฐต้องรับภาระก็จะรับได้ไม่เกินในส่วนที่เป็นการลงทุนตัวโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เกี่ยวการเดินรถ”

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ จะต้องจัดทำแนวปฏิบัติที่ชัดเจน จะได้ไม่เกิดปัญหาการตีความภายหลัง

ด้านนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ชี้แจงว่า การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ถึงขนาดต้องกลับไปเริ่มนับ 1 ใหม่ และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลทำให้การประมูลโครงการต่าง ๆ ล่าช้า ส่วนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับหน่วยงานเจ้าของโครงการมากกว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องดูรายละเอียดว่ามีข้อติดขัดอย่างไร หากมีปัญหาก็จะจัดการในภาพรวมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ

 

ที่มา prachachat.net

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เราหามาเสริฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก …