สรุป 4 ประเด็นหลักของตลาดอสังหาฯ ที่น่าสนใจในครึ่งปีหลัง 2564

ผ่านมาจนถึงไตรมาส 3 ของปี 2564 กันแล้วนะครับ สถานการณ์ภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ปีนี้ดูจะยังคงมีภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2563 แน่นอนว่าปัจจัยหลักก็มาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่เป็นหลัก รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย 

ด้วยเหตุนี้ดอทเลยอยากจะมาสรุปสถานการณ์ที่น่าสนใจที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาดอสังหาฯ ให้ได้ทราบกัน ซึ่งในบทความนี้จะขอแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

แนวโน้มอสังหาฯ ครึ่งปีหลัง

มาเริ่มต้นกันด้วยแนวโน้มของอสังหาฯ ในช่วงครึ่งปีหลังกันนะครับ โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 ตลาดอสังหาฯ จะดูดีกว่าครึ่งปีแรกของปี 64 ที่มีการหดตัวลงอย่างมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรกนี้ มีการเปิดตัวอาคารชุด เพิ่มขึ้น 77% จากช่วงเดียวกันปี 2563 เพราะปีที่แล้วคนยังไม่ชินกับเรื่อง LTV ส่วนปีนี้ชินชาแล้ว เลยกล้าเปิดขายกันมากขึ้น ส่วนโครงการบ้านมีการเปิดตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แต่บ้านพักอาศัยยังมีอัตราขายได้เฉลี่ย 13% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราขายได้ในปี 2563 อยู่ครับ

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีเปิดตัวขายเพิ่ม มูลค่าประมาณ 265,000-300,000 ล้านบาท แต่ถ้ารัฐคุม COVID ไม่ดี หรือไม่มีการออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะเปิดตัวเหลือแค่ 45,000-52,000 หน่วย มูลค่า 225,000-265,000 ล้านบาท

แต่ก็ยังนับว่าต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยภาพรวมยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะฐานลูกค้าหลักอย่างกลุ่มเซกเมนต์ระดับล่าง-กลางล่าง รวมถึงข้อจำกัดในการเดินทางเข้ามาของผู้ซื้อชาวต่างชาติครับ 

แนวโน้มการเลือกทำเลที่เปลี่ยนไป

ที่ผ่านมาทำเลอสังหาฯย่านถนนบางนา-ตราด ได้รับความนิยม และมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถือเป็นทำเลทอง เนื่องจากเป็นเสมือนศูนย์กลางแห่งใหม่ ที่เชื่อมต่อไปยังอีอีซี ที่มีศักยภาพของประเทศไทย จากนโยบายของรัฐบาลเพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายระยะยาว

แต่จากเหตุการณ์การระเบิดของโรงงานอุตสาหกรรมย่านกิ่งแก้วที่ผ่านมา อาจทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อทำเลที่อยู่อาศัยใกล้กับพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างบางนานั้นยากขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางไปจนถึงคนรวยที่นิยมซื้อบ้านเดียวในย่านนี้ จากเดิมที่เคยมองว่าเป็นทำเลที่ดี อาจจะกังวลในเรื่องผลกระทบทางอ้อม เช่น มลพิษจากเหตุการณ์ระเบิดหรือเพลิงไหม้ รวมทั้งมาตรการรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มากขึ้น ส่งผลให้กระทบกับซัพพลายของโครงการอสังหาฯในโซนบางนาพอสมควร เพราะดีมานด์มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว

แนวโน้มด้านราคาอสังหาฯ 

สำหรับแนวโน้มของราคาอสังหาฯ ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวลดลง โดยราคาคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ขณะที่ราคาบ้านเดี่ยวทรงตัว 

  • ดัชนีราคาคอนโดมิเนียม ลดลงร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 
  • ทาวเฮาส์ ลดลงร้อยละ 0.5 
  • บ้านเดี่ยว ลดลงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อน 

แต่นี่ก็อาจจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพราะผู้พัฒนาจะต้องออกโปรโมชั่นจูงใจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อเพิ่มมากขึ้นแน่นอน

แนวโน้มจากสถานการณ์โควิด-19

จากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างในเดือนกรกฏาคม ที่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยได้ตามแผนที่วางไว้ ทำให้สถานการณ์ภาพรวมของประเทศแย่ลงและยืดเยื้อต่อ ไม่ว่าจะเป็น…

  • ด้านราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาเหล็ก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น 
  • หน่วยคงค้างของตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มคงที่ จากอัตราการระบายเฉลี่ยลดลง
  • อัตราการปฏิเสธสินเชื่อ 40-50%
  • ภาระหนี้ครัวเรือนแตะระดับ 90%  สูงมาก

แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อภาคอสังหาฯ ดังนั้น มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการช่วยสร้าง Demands ในตลาดและดูดซับ Supplies ที่สร้างเสร็จ เร่งช่วยเหลือและเยียวยา SMEs ในด้านการเงินและการตลาด เนื่องจากเป็นแหล่งงานสำคัญในการจ้างงาน กระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนในประเทศ/ต่างประเทศ รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติโดยเร็ว

อ้างอิง: https://www.khaosod.co.th/economics/news_6474386

https://marketeeronline.co/archives/221073