หนี้เสียบ้านพุ่งจากสินเชื่อผ่อนปรน…?

หนี้เสีย
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูลย์ ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่ขณะที่นี้ ธปท.กำลังเตรียมออกมาตรการดูแลสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากปัจจุบันพบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด หนี้เสีย ขึ้นมาก การที่ธปท.ออกมาดูแลจึงเป็นเรื่องที่ดี

เพราะปัญหาของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในขณะนี้ มาจากการปล่อยสินเชื่อที่ผ่อนปรนเกินไป เช่น การกำหนดการให้สินเชื่อต่อมูลค่าบ้านหรือแอลทีวี ที่ปัจจุบันมี มีการกำหนดแอลทีวี ในระดับสูงที่ 90-95% ถือเป็นระดับสูงสุดหากเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลกที่ มีการกำหนด การให้แอลทีวีไว้ราว 70-80%

และถึงแม้ว่าบางประเทศจะมีการให้วงเงินเกินไป นอกจากแบงก์จะต้องสำรองเงินกองทุนเพิ่มแล้ว ในส่วนที่ให้วงเงินสินเชื่อเกินจาก แอลทีวี ก็มีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะแบงก์รับความเสี่ยงมากขึ้น หรือการขอหลักประกันเพิ่ม เช่นเงินฝาก เพื่อค้ำประกันความเสี่ยง

ทั้งนี้ ในต่างประเทศ ยังมีการคุมการเก็งกำไรจากที่อยู่อาศัยอย่างเข้มงวดด้วย เช่น การควบคุม แอลทีวี สำหรับบ้านหลังที่สอง จากบ้านหลักแรกที่ให้ แอลทีวี ที่ 70-80% มาเหลือ 50% หรือบางประเทศเพียง 30% เท่านั้นในบ้านหลักที่สอง เพื่อให้คนที่มีศักยภาพจริงๆ และเพื่อป้องกันการเกิดการเก็งกำไรในที่อยู่อาศัย ดังนั้นก็เชื่อว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ดี หากมีมาตรการลักษณะดังกล่าว เพราะเป็นมาตรการที่สามารถแก้ได้ตรงจุด และแก้ไข ป้องกันการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัยได้

“การปล่อยสินเชื่อแบงก์วันนี้อาจเรียกได้ว่าหละหลวม แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร ส่วนใหญ่อยู่ที่แบงก์เล็กมากกว่า สถานการณ์วันนี้ทุกคนพยายามช่วยเหลือกันเต็มที่ ฝั่งแบงก์ก็พยายามคัดเลือกลูกค้า แต่ก็ยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่เล็ดลอดออกไปได้ ดังนั้นตรงนี้จึงต้องกลับมาดูมากขึ้น เพราะหากเกิดอะไรขึ้นมา โดยเฉพาะผล กระทบจากต่างประเทศ เราจะเอนเอียงได้ง่าย และบีบให้พอร์ตสินเชื่อมีความเสี่ยงสูงมากกว่า ทำให้อาจเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นในระบบได้” นายกิตติกล่าว

แบงก์ชาติ เตรียมออกมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย

แบงก์ชาติ เตรียม เร่งหารือ ผู้เกี่ยวข้อง ออกมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย พร้อมเปิดรับฟังความเห็น เร็วๆนี้ หวังสกัดการเก็งกำไรป้องกันหนี้เสียลาม  ด้านสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนออกมาตรการคุม ยอมรับ “แอลทีวี” ผ่อนปรนเกินไป หวั่นสร้างปัญหาต่อระบบในระยะข้างหน้า ขณะ ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี ชี้การปล่อยแอลทีวีระดับสูงส่งผลต่อหนี้เสียเพิ่ม จับตาบ้านหรู กลุ่ม 10-20 ล้าน เอ็นพีแอลพุ่งมากสุด

สถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ล่าสุด เตรียมออกมาตรการเพื่อมากำกับดูแล การปล่อยสินเชื่อเหล่านี้

บ้านหรู10-20ล้าน’หนี้เสีย’มากสุด

หนี้เสีย

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี)  กล่าวว่า หากดูหนี้เสียในระบบสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยของระบบธนาคารพาณิชย์วันนี้ เชื่อว่า ปัญหาไม่ได้มาจาก การให้แอลทีวีสูงเพียง อย่างเดียว แต่ปัญหาอีกด้านยังมาจากการ ผ่อนเกณฑ์ เรื่องภาระหนี้ต่อรายได้ของแบงก์ด้วย ที่สร้างปัญหาให้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้หากดูด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ เมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มที่แบงก์ให้แอลทีวีสูงเกิน 100% ถือว่าเป็นกลุ่มที่เห็นเอ็นพีแอลสูงชัดเจน โดยมีเอ็นพีแอลเฉลี่ย 3.1-5.2% โดยพบว่าเอ็นพีแอลของสินเชื่อบ้านราคาเฉลี่ย 1-3 ล้านบาท เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.9% ขณะที่ราคา 3-5 ล้านบาทเอ็นพีแอล 3.1% และราคา 5-10 ล้านบาท เอ็นพีแอลสูงขึ้นที่ 3.5% และเอ็นพีแอลมากที่สุดอยู่ในกลุ่มบ้านราคา 10-20ล้านบาท ที่มีเอ็นพีแอล 5.2%

แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มที่มีเอ็นพีแอลสูงๆไม่ได้มีแค่กลุ่มที่แบงก์พาณิชย์ให้ แอลทีวีสูงๆเท่านั้น แต่ยังพบว่า แม้จะให้LTV ต่ำเพียงระดับ 70-80% แต่ระดับเอ็นพีแอลก็สูงเช่นกัน โดยราคาบ้านต่ำกว่า 1 ล้านบาท แต่เอ็นพีแอลสูงถึง 2.7% ซึ่งมากกว่า กลุ่มบ้านที่มีราคาเฉลี่ย 1-3ล้านบาทมีเอ็นพีแอลที่ 2.3% และราคา 3-5ล้านบาท 2.2%

ดังนั้น การใช้แอลทีวีก็อาจไม่ได้สะท้อนเสมอไปว่า การให้แอลทีวีสูง แล้วมีโอกาสเอ็นพีแอลสูง เพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้กู้เป็นหลัก เพราะในกลุ่มที่แบงก์ให้แอลทีวีต่ำ ก็เป็นกลุ่มที่เอ็นพีแอลสูงเช่นกัน

จับตาบ้านราคาแพงเอ็นพีแอลพุ่ง

หนี้เสีย

จากข้อมูลสะท้อนให้เห็นอีกด้านว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือการให้สินเชื่อบ้าน ราคาสูงมากกว่าราคาต่ำ โดยบ้านที่ราคาเฉลี่ย3-5 ล้านบาท และเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไปกลับเป็นกลุ่มที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ปัญหาวันนี้ไม่ใช่มาจาก การให้แอลทีวีสูงๆอย่างเดียว แต่เอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่า บางส่วนก็มาจากกลุ่มที่แบงก์ให้แอลทีวีต่ำด้วยซ้ำ แน่นอนกลุ่มที่แบงก์เคยให้กู้เกิน 100% กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีเอ็นพีแอลสูงที่แบงก์อาจต้องขจัดออก แต่กลุ่มที่แบงก์ต้องเป็นห่วงคือกลุ่มราคาบ้านสูงๆ ที่เราพบว่ามีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พอบ้านชิ้นใหญ่บางทีแบงก์ก็หย่อนเกณฑ์ หากเทียบกับบ้านราคาต่ำๆ ที่แบงก์คัดเลือกอย่างมาก เพราะคิดว่ากลุ่มนั้นต้องระวัง

แต่จริงๆแล้วคนที่เกิดหนี้เสียคือพวกซื้อบ้านราคาแพงๆอีกด้านที่มีปัญหาคือการดูภาระหนี้ต่อรายได้หย่อนเกณฑ์เกินไปสำหรับรายได้สูง หรือคนที่ ซื้อบ้านแพง สำหรับเราก็คิดว่าการมีภาระหนี้ต่อรายได้ที่ 40% ก็สูงแล้ว ดังนั้นแบงก์ก็อาจต้องกลับมาดูหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้มากขึ้น”

ทั้งนี้ หากดู การปล่อยสินเชื่อสะสม ตามมูลค่าแอลทีวี พบว่า มีการกระจุกตัวสูง ในกลุ่มราคาบ้าน1-3ล้านบาท ที่ให้แอลทีวีเพียงระดับ 70-80% กลุ่มนี้มีสัดส่วนสินเชื่อ คงค้างที่ 2.8แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าทุกกลุ่ม หากดูการปล่อยสินเชื่อบ้านราคา 1-3 ล้านบาท พบว่าสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.57 แสนล้านบาท จากสินเชื่อบ้านคงค้างของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ 2.03ล้านล้านบาท

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก