อนุมัติงบ 8.6 แสนล้านทุ่มสร้างรถไฟรางคู่

เป็นที่แน่นอนแล้วว่าแผนพัฒนาเร่งด่วนในปีงบประมาณ 2557-2558 สำหรับทำรถไฟรางคู่ใน 8 เส้นทาง วงเงินสูงกว่า 8.6 แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรเมืองกรุง โดยได้รับการเปิดเผยจาก นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาในระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2557-2558 ประกอบไปด้วย 2 แผนงานหลัก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางราง และการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงประตูการค้าเมืองหลักกทม.และปริมณฑล

โดยการพัฒนาโครงการนี้นั้นจะมีการแบ่งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟเป็นรางคู่ โดยจะมีการขยายรางเป็น 1 เมตรในเส้นทางรถไฟเดิมที่มีปัญหาในการเดินรถไฟ เพื่อให้รถไฟได้วิ่งสะดวกขึ้นเพราะปัจจุบันมีการใช้รถไฟทั้งขนส่งสินค้า และ ขนส่งมวลชนไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ เพื่อให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยจะเริ่มดำเนินโครงการแรกใน 6 เส้นทาง ระยะทางร่วม 887 กิโลเมตร คาดว่าต้องใช้วงเงิน แสนกว่าล้าน  และ ได้มีการเปิดเผยเส้นทางในเบื้องต้นว่า จะเป็นเส้นทาง เส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,007 ล้านบาท, เส้นทางประจวบคีรีขันธ์ชุมพร วงเงิน 17,293 ล้านบาท,เส้นทางนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,038 ล้านบาท, เส้นทางมาบกะเบา-นครราชสีมา วงเงิน 29,855 ล้านบาท, เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพวงเงิน24,842ล้านบาทและเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 9,437 ล้านบาท โดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2563

ส่วนอีก 2 เส้นทาง คือ โครงการวาง มาตรฐานการเดินรถทางรางใหม่สำหรับอนาคต โดยสร้างรถไฟทางคู่ขนาด 1.435 เมตร จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหนองคายนครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท และเส้นทางเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท  โครงการเดินรถทางรางขนาด 1.435 เมตร จะเป็นการนำโครงการรถไฟความเร็วสูงเดิมมาศึกษาเพิ่มเติมในการปรับเปลี่ยนให้เป็นรถไฟทางคู่ระบบไฟฟ้าที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะใช้งบประมาณน้อยกว่าและมีความคุ้มค่ามากกว่ารถไฟความเร็วสูงเพราะสามารถขนส่งได้ทั้งคนและสินค้า” นางสร้อยทิพย์กล่าว ส่วนโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ซึ่งเป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่ประชุม คสช.ให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปตามแผนทั้งหมด

จากการเปิดเผยแผนงบประมาณในเรื่องนี้นั้น หากโครงการนี้เดินหน้าและทำได้อย่างต่อเนื่องเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการจราจรได้มาก ทั้งเส้นทางในเมือง และ นอกเมือง อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับภาคอสังหาฯในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องคือ วงการก่อสร้าง วงการวัสดุก่อสร้าง และ แรงงาน เพราะต้องมีการประมูลงานจากบริษัทที่ให้ความสนใจ และการจ้างงานที่ต้องมีอย่างแน่นอน เพราะต้องใช้แรงงานในการก่อสร้างปรับปรุงเส้นทางต่างๆ ส่วนแนวโน้มของราคาที่ดินในจังหัดต่างๆตามเส้นทางของรถไฟรางคู่ ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีการปรับราคาขึ้นของที่ดิน ที่ใกล้กับสถานีในแต่ละเส้นทางอย่างแน่นอน เพราะปัจจัยจากการเดินทางที่สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น เพราะเราต้องยอมรับว่าการขนส่งหรือการโดยสารด้วยรถไฟนั้นยังจำเป็นและมีผู้ที่นิยมเดินทางอยู่มาก ดังนั้นหากมีการแก้ไขปรับปรุง ทั้งเส้นทาง และ ระบบต่างๆของการรถไฟ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการคมนาคมในอนาคต เพราะหากพัฒนาให้เป็นรถไฟความเร็วสูงได้ ก็จะรองรับกับการเติบโตหลังจากเปิด AEC เพราะต้องมีการแข่งขันที่สูงในทุกๆด้าน และหากบ้านเรายังล้าหลังในเรื่องรถไฟเชื่อว่าจะเสียเปรียบประเทศอื่นๆ เพราะในอนาคตนั้นหลายๆประเทศจะร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางรถไฟให้เชื่อมโยงกันทั้งภูมิภาค ดังนั้นเราก็คงได้แต่เอาใจช่วยว่าการพัฒนารถไฟในครั้งนี้จะสำเร็จและไม่มีอุปสรรคใดๆ อีก

 

ข่าวและบทความข้างต้นนี้จัดทำโดย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ดอท พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการส่งข่าวเกี่ยวกับแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการประชาสัมพันธ์ สามารถติดต่อได้ที่ [email protected]