เซ็นทรัล รังสิต ลุยซื้อ761ไร่ ลุ้นสีผังเมืองผุดบิ๊กโปรเจ็กต์

เซ็นทรัล

เซ็นทรัล” ทุ่ม 1,500 ล้าน ซื้อที่ดินไทยเมล่อนจาก บสก.เพิ่ม 145 ไร่ ดอดโอน ส่งท้ายปี รวมแปลงใหญ่ ถึง 761 ไร่ ผุดมิกซ์ยูสรับ ทำเลโซนเหนือ สร้างทาง เชื่อม รถไฟฟ้าสายสีแดง “บางซื่อ-รังสิต-ธรรมศาสตร์” และโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย “บางปะอิน” เชื่อมมอเตอร์เวย์สายอีสาน ขอ 3 ปีค่อยลงทุน ลุ้นผังเมืองปลดล็อกจากสีม่วงเป็นสีแดง เปิดทางพัฒนาเต็มรูปแบบ

เซ็นทรัล รังสิต ลุยซื้อ761ไร่ ลุ้นสีผังเมืองผุดบิ๊กโปรเจ็กต์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลัง บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ซื้อที่ดิน 616 ไร่ ย่านรังสิต เป็นที่ดินโรงงานไทยเมล่อนโปลีเอสเตอร์เดิม ติดถนนพหลโยธิน ตรงข้ามโรงกษาปณ์ วงเงิน 4,000 ล้านบาทเมื่อปี 2554 ต่อจากนายธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ซื้อจากบรรษัทพัฒนาบริหารสินทรัพย์ (บสท.) 3,205 ล้านบาทเมื่อ 31 พ.ค. 2554 ถึงขณะนี้เซ็นทรัลยังไม่ได้พัฒนาโครงการ จากเดิมปี 2555 มีแผนจะลงทุน 13,700 ล้านบาท ขึ้นศูนย์การค้า “เดอะ เอ็ม โปรเจ็กต์” รองรับตลาดโซน รังสิต และรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ด้านหลังโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีรังสิตกับสถานีคลองหนึ่ง

เซ็นทรัลตุนที่รังสิต

ล่าสุด แหล่งข่าวจากวงการอสังหา ริมทรัพย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เซ็นทรัลเป็นผู้ชนะประมูลที่ 145 ไร่เศษ ของไทยเมล่อนเดิม จาก บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) โดยเสนอราคา 1,500 ล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้น 1,500 ล้านบาทเล็กน้อย และโอนกรรมสิทธิ์เมื่อ ธ.ค. 2562

“ที่ 145 ไร่ เป็นแปลงที่ 2 ของไทยเมล่อนที่ออกมาประมูล อยู่ถัดจากที่ 616 ไร่ที่เซ็นทรัลซื้อก่อนหน้านี้ เท่ากับเซ็นทรัลมีที่ผืนใหญ่ 761 ไร่ติดพหลโยธิน ซึ่งปัจจุบันมีไทวัสดุในเครือเซ็นทรัลสร้างอยู่ตรงกลาง”

จากข้อมูลของ BAM ระบุว่า แถบนี้เป็นที่ดินเปล่า 3 แปลง ติดกันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ติดถนนพหลโยธิน ฝั่งขาออก กม.35+200 หน้ากว้าง 192 เมตร ยาว 1,056 เมตร ตั้งราคาประมูล 1,500 ล้านบาทหรือเฉลี่ย 25,770 บาทต่อตารางวา ต่ำกว่าราคาตลาดที่กำหนดตารางวาละ 30,000-60,000 บาท สภาพที่ส่วนใหญ่ถมแล้ว ซึ่งการใช้ประโยชน์ตามผังเมืองรวม จังหวัดปทุมธานี กำหนดเป็นพื้นที่สีม่วงประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายหลัก ใกล้รถไฟฟ้าชานเมืองและอยู่ในย่านพาณิชยกรรม เหมาะพัฒนาเป็นโครงการจัดสรร โรงงาน คลังสินค้า และโลจิสติกส์

 

รอจังหวะลงทุน

แหล่งข่าวระดับสูงจาก บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ดิน ที่บริษัทซื้อเพิ่ม เมื่อรวมของเดิมเป็น 761 ไร่นั้น มีแผนพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่ (big project) แต่ยังไม่มีกำหนดการแน่ชัด และยังไม่อยู่ในไปป์ไลน์ การลงทุนช่วง 3 ปีนี้ เพราะเซ็นทรัลมีที่ดินอีกหลายแปลงที่รอการพัฒนา

“รูปแบบพัฒนาจะเป็นมิกซ์ยูส เพราะขนาดเป็นที่แปลงใหญ่ มีหน้ากว้าง 1 กม.ยาวตลอดถนนพหลโยธิน ส่วนศูนย์การค้าคงพัฒนาใหญ่กว่าเซ็นทรัล เวสต์เกต ก่อนหน้านี้เราเคยมีโครงการเดอะ เอ็ม ก็ยังคงคอนเซ็ปต์อยู่ แต่อาจรีวิวให้เข้ากับขนาดพื้นที่และสถานการณ์ปัจจุบัน”

การซื้อที่ดินไทยเมล่อนของกลุ่ม จิราธิวัฒน์ 616 ไร่ก่อนหน้านี้ เพื่อพัฒนา ค้าปลีกขนาดใหญ่ รับการขยายตัวของกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นที่เปิดเผยในวงการค้าปลีกตั้งแต่ปี 2555 เนื่องจาก เป็นทำเลมีศักยภาพ ถือเป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่ต้องการปักธงสาขาให้ครอบคลุม 4 มุมเมืองคือ เซ็นทรัลบางนา, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลเวสต์เกต เดิมตั้งเป้าเปิดปี 2560 แต่ติดปัญหาผังเมือง จึงลงทุนแค่ร้านไทวัสดุไปก่อน โดยเซ็นทรัลแบ่งที่ให้ไทวัสดุเช่าเปิดสาขาที่ 41 เมื่อปี 2558 ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกช่วงรอยต่อกรุงเทพฯกับปริมณฑล จำเป็นต้องใช้ที่แปลงใหญ่ เพื่อสร้างความ ผสมผสานและสร้างแรงดึงดูด เห็นได้จากเมกาบางนาที่ประสบความสำเร็จสูงมาก ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯตอนเหนือในปัจจุบัน ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เป็นผู้นำตลาด ด้วยพื้นที่กว่า 5 แสน ตร.ม. มีผู้ใช้บริการนับแสนคนในแต่ละวัน นอกจากเซ็นทรัลได้เตรียมที่ดินไว้แล้วนั้น ย่านดังกล่าวยังมี บมจ.สยามฟิวเจอร์ฯ และอิคาโน่ (อิเกีย) ผู้พัฒนาเมกาบางนา ได้กว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่กว่าพันไร่ บริเวณจุดตัดรังสิต-นครนายก กับวงแหวน รอบนอกก่อนหน้านี้ และมีแผนพัฒนาโครงการค้าปลีกเช่นกัน

 

ปรับสีผังเมือง

แหล่งข่าวจากโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างปรับปรุงใหม่ผังเมืองรวมท่าโขลงคลองหลวง-รังสิต เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 2 หลังประกาศใช้เมื่อปี 2552 มีพื้นที่ 216 ตางรางกิโลเมตร ครอบคลุมเทศบาลเมืองท่าโขลง เทศบาลเมืองคลองหลวง อ.คลองหลวง และเทศบาลนครรังสิต อ.ธัญบุรี คาดว่าภายใน 2563 จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งปลายเดือน ม.ค. 2563 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอให้คณะกรรมการผังเมืองรวมจังหวัดพิจารณาอนุมัติ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง โดยรัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทั้งรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ และโทลล์เวย์

“ผังเมืองใหม่มีหลายพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตรงโรงแรมแมนฮัตตันซอยวัดคุณหญิงส้มจีน และที่ดินอีก 100 ไร่ เดิมเป็นสีม่วง รวมถึงที่ไทยเมล่อน 616 ไร่ ที่เซ็นทรัล ซื้อไปปี 2557 บริษัทยื่นเสนอขอปรับสีผังเมืองจากสีม่วงเป็นสีแดง พัฒนาพาณิชย กรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากได้ เพื่อขึ้นศูนย์การค้าและบิ๊กโปรเจ็กต์”

ทั้งนี้ เป็นการรองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ เนื่องจากสถานีจะอยู่ด้านหลังพอดี ตามแบบจะมีทางเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้า ด้านหน้าเชื่อมโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากรังสิต-บางปะอิน ที่ต่อเชื่อมจากมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราชของกรมทางหลวง โดยมีด่านเก็บค่าผ่านทางของโทลล์เวย์อยู่ด้านหน้าโครงการ

 

เร่งสายสีแดง-โทลล์เวย์

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค. 2564 จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 80,000-100,000 เที่ยวคนต่อวัน ทั้งนี้จะทดลองการเดินรถฟรีในปีหน้าช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 ส่วนต่อขยายสายสีแดงช่วงรังสิตม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อปี 2562 ล่าสุด ร.ฟ.ท.เตรียมเปิดประมูลในปีนี้ จะใช้เวลา สร้าง 3 ปี แล้วเสร็จปี 2565 นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ภายในปี 2563 กรมจะเร่งรัดโครงการส่วนต่อขยายดอนเมือง โทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน 18 กม. วงเงิน 29,400 ล้านบาทให้เปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุน PPP ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสม ตามแผนจะสร้างในปี 2564 ใช้เวลา 4 ปี แล้วเสร็จเปิดใช้ในปี 2568

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ