รัฐ ทุ่ม 1.2 หมื่นล้าน สร้างถนนสายใหม่ พร้อมเวนคืนที่ดินเพิ่มอีก 160 ไร่

เวนคืนที่ดิน

ทุ่ม 1.2 หมื่นล้านผุด 2 โครงข่ายใหม่ทะลวงรถติด บูมที่ดินตาบอดทำเลกรุงเทพฯโซนตะวันตก “นนทบุรีนครปฐม” เวนคืนที่ดิน 160 ไร่ สร้างถนน 6-8 เลน ต่อเชื่อม “สะพานนนท์ 1-ราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษก” ระยะทาง 4 กม. เดินหน้ารื้อ 1,370 แปลง เปิดหน้าดิน 3 อำเภอ ตัดถนนจาก “นครอินทร์-ศาลายา” ระยะทาง 12 กม. ปี’63 ลุยเต็มสูบ

เวนคืนที่ดิน

มีรายงานว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีแผนจะพัฒนาก่อสร้างถนนสายใหม่เพื่อเสริมโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯโซนตะวันตก จำนวน 2 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 12,863 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการต่อเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยานนทบุรี 1-กาญจนาภิเษก วงเงิน 3,663 ล้านบาท และโครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์-ศาลายา วงเงิน 9,200 ล้านบาท

 

EIA เชื่อมสะพานนนท์ 1 ฉลุย

โดยโครงการถนนต่อเชื่อมสะพานนนทบุรี 1-กาญจนาภิเษก หลังศึกษารายละเอียดโครงการแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2559 เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากคณะกรรมการชุดใหญ่ มี “บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ กรมทางหลวงชนบทจะต้องนำโครงการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากผลการศึกษาของโครงการนี้ จะใช้เงินลงทุน 3,663 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 1,296 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 2,367 ล้านบาท มีพื้นที่ถูกเวนคืน 160 ไร่ หรือ 340 แปลง อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 220 แห่ง

 

สร้างถนนยาว 4 กม.

แนวเส้นทางจะต่อขยายถนนต่อเชื่อมโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณถนนนนทบุรี 1 ที่เปิดใช้ไปแล้วเมื่อปี 2558 มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับราชพฤกษ์เดิมบริเวณแยกวัดโบสถ์ดอนพรหม ตัดตรงไปจนเชื่อมกับถนนกาญจนาภิเษก บริเวณ กม.23+300 ห่างแยกต่างระดับบางใหญ่ 3.5 กม.

และห่างจากต่างระดับบางคูเวียง 2 เมตร ระยะทางรวม 3.827 กม. รูปแบบโครงการก่อสร้างถนนระดับดินขนาด 6-8 ช่องจราจร สะพานหรือทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมถนนระดับดินขนาด 2-3 ช่องจราจร และสะพานหรือทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร

“ตามแผนที่วางไว้ในปี 2563 จะเริ่มสำรวจอสังหาริมทรัพย์ จากนั้นเริ่มเวนคืนในปี 2564 ก่อสร้างในปี 2565 แล้วเสร็จปี 2567” นายพิศักดิ์กล่าวและว่า

 

ทะลวงที่ดินตาบอด

เมื่อแล้วเสร็จจะบรรเทาปัญหาการจราจรของพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพฯโซนตะวันตกได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบนถนนราชพฤกษ์ที่มีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น หลังเปิดใช้สะพานนนทบุรี 1 รวมถึงยังสามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตของเมืองและลดขนาดพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ (super block) ของพื้นที่ในกรอบถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนนครอินทร์ ถนนบางใหญ่-บางคูลัด และถนนกาญจนาภิเษก รวมถึงเป็นการส่งเสริมการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม

“โครงการนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่โครงข่ายที่สำคัญในบริเวณนี้ โดยสามารถใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางระหว่างด้านตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงกับถนนสายหลักที่สำคัญในแนวเหนือ-ใต้ได้ด้วยเช่นกัน” นายพิศักดิ์กล่าวและว่า

ในขณะที่ถนนกาญจนาภิเษก หรือถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ซึ่งเป็นถนนสายหลักในพื้นที่ตามแนวเหนือ-ใต้ที่สำคัญอีกเส้นหนึ่งนั้น ปัจจุบันมีแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสายหลักที่เชื่อมต่อกับถนนกาญจนาภิเษกในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งเหนือและฝั่งตะวันตก ทั้งในลักษณะทางหลวงพิเศษและทางหลวงเกิดขึ้นมากมายหลายโครงการเพื่อกระจายการจราจรสู่ภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อมีการพัฒนาถนนกาญจนาภิเษกให้เป็นทางหลวงพิเศษอย่างสมบูรณ์แล้ว จะสามารถแยกรถทางไกลที่ต้องการออกไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ จากรถในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะมีผลให้ประสิทธิภาพของถนนกาญจนาภิเษกเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น

 

ทุ่ม 9 พันล้านเร่งนครอินทร์-ศาลายา

นายพิศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์- ศาลายา ปัจจุบันได้สำรวจและออกแบบ รายละเอียดเสร็จแล้ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 9,200 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 4,600 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 4,600 ล้านบาท มีที่ดินถูกเวนคืน 1,370 แปลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และสิ่ง ปลูกสร้าง 87 หลัง ปัจจุบันรออนุมัติรายงาน อีไอเอ ตามแผนจะสำรวจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 เริ่มเวนคืนในปี 2564 และก่อสร้างในปี 2565-2567 รูปแบบโครงการเป็นถนนตัดใหม่ขนาด 6 ช่องจราจร พร้อมทางต่างระดับ 2 แห่ง ก่อสร้างตามแนวตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 90 ตร.กม. มีแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ ของ จ.นนทบุรี และ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ระยะทางรวม 12 กม.

“เมื่อโครงการแล้วเสร็จในอนาคต จะช่วยเพิ่มเติมโครงข่ายใหม่และเสริมประสิทธิภาพเส้นทางคมนาคม การจราจรที่ติดขัดพื้นที่โซนตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบนถนนกาญจนาภิเษก ถนนบรมราชชนนี”

 

เชื่อมนนทบุรี-นครปฐม

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบนทางหลวงชนบท สาย นฐ.5035 ช่วงด้านเหนือของเดอะรอยัลเจมส์กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ ห่างจากทางหลวงชนบท สาย นฐ.3004 (ศาลายา-บางภาษี) ประมาณ 1 กม. จากหมู่บ้านอาภากร และหมู่บ้านอาภากร 3 ไปทางทิศใต้ประมาณ 250 เมตร ทางทิศตะวันออกใกล้คลองนราภิรมย์ และทางแยกต่างระดับศาลายา สภาพการใช้ที่ดินโดยรอบเป็นอาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัยและที่ว่าง

จากนั้นจะตัดผ่านทางหลวงชนบท สาย นบ.5014 ข้ามคลองสามท้าว ตัดทางหลวงชนบท สาย นบ.1001 ข้ามคลองจีนบ่าย คลองขุนเจน โดยแนวเส้นทางจะอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์พัฒนาชีวิตใหม่ แล้วแนวจะเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามคลองลาดละมุด ผ่านทางหลวงชนบท สาย นบ.5035 ใกล้กับทางแยกเข้าวัดบางม่วง ข้ามคลองโสนน้อย ตัดผ่านทางหลวงชนบท นบ.1001 บริเวณซอยอินทนิล ผ่านพื้นที่โล่งด้านหลังหมู่บ้านศุภาลัยการ์เด้นวิลล์ ข้ามคลองบางนาและคลองประปา ก่อนเบี่ยงขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือผ่านพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านมัณฑนา กับโครงการบ้านเอื้ออาทร บางกรวย (วัดพระเงิน)

โดยแนวจะอยู่ด้านทิศใต้ของวัดสุนทรธรรมิการาม ข้ามคลองหัวคู และเข้าบรรจบกับถนนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก บริเวณ กม.ที่ 11+997 เป็นจุดเชื่อมทางแยกต่างระดับบางคูเวียง เพื่อให้แนวเส้นทางต่อเชื่อมกับถนนนครอินทร์ได้โดยตรง ซึ่งสภาพการใช้ที่ดินปัจจุบันบริเวณโดยรอบจุดสิ้นสุดโครงการ มีอาคารพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย (หมู่บ้านกฤษณา) และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ คือ พลัสมอลล์ โลตัส

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

บ้านและที่ดิน

บ้านและที่ดิน เราโดนเวนคืน เราจะได้ค่าเวนคืนเท่าไร และสัญญาณเตือนอะไรทำให้เรารู้ได้ว่าที่ดินเราอาจจะโดนเวนคืน

ชุมชนคลองเตย

พี่น้อง ชุมชนคลองเตย เตรียมตัว รัฐสั่งมีแผนเตรียมย้าย 26 ชุมชนคลองเตยสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก