“อีไอเอ” รถไฟไทย-จีน ฟาสต์แทร็ก 6 เดือนจบ

           พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยถึงผลหารือครั้งที่ 2 โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร นั้นจะลงทุนด้วย EPC (Engineering Procurement and Construction)


           โดยให้ฝ่ายจีนออกแบบ จัดหาราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุม ส่วนการระบบการก่อสร้างนั้น จีนจะทำการแบ่งสร้างบริเวณอุโมงค์และไหล่เขา ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีพิเศษ โดยไทยจะทำเรื่องเวนคืนที่ดิน, อีไอเอ(รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม) และเป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตลอดเส้นทาง


           สำหรับเงินลงทุน ทั้งอัตราดอกเบี้ยและสัดส่วนการกู้นั้น จะกำหนดหารือในวันที่ 10-11 มีนาคมนี้ที่กรุงเทพฯและหนองคาย พร้อมลงพื้นที่สถานีหนองคายซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว และสำหรับการบริหารโครงการนั้นจะดำเนินการร่วมกันทั้งฝ่ายไทยและจีน โดยในช่วงแรกจีนจะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยจนกว่าจะเกิดความเชี่ยวชาญ จากนั้นฝ่ายไทยก็จะรับผิดชอบดูแลทั้งหมด ทั้งนี้องค์การรถไฟจีน (China Railway Corporation : CRC) จะเป็นหลักในการดำเนินโครงการ โดยจีนเสนอ 3 บริษัทคือ บริษัท ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CRCC), บริษัท ไชน่าเรลเวย์ เอ็นจิเนียริ่ง คอปอเรชั่น จำกัด (CREC)

           สำหรับกรอบเวลาการทำ “อีไอเอ”นั้น จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน โดยในเดือนมีนาคมนี้จะเริ่มการลงพื้นที่สำรวจ ออกแบบรายละเอียด ทำรายงานอีไอเอ เวนคืนที่ดิน โดยของบฯกลางประจำปีเพื่อเริ่มต้นโครงการ รวมถึงการหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเร่งรัดการทำอีไอเอ ให้เสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งวางไว้จากเดิม 1 ปีครึ่ง

           ทั้งนี้ เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด จะทำตามแผนให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนและเริ่มการก่อสร้างในเดือนตุลาคม สำหรับระยะทางที่ 2 เส้นทางแก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย จะศึกษารายละเอียดให้เสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม และจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 1/2559 และกำหนดแล้วเสร็จใน 36 เดือน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ