ประมูลรถไฟไฮสปีด ซีพีส่อแววหลุดมือ เดินหน้าต่อรองภาครัฐเต็มสูบ

รถไฟความเร็วสูง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ยังไม่กำหนดวันประชุม เนื่องจากคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานยกร่างรายละเอียดในสัญญายังพิจารณาข้อเสนอของกลุ่ม ซี.พี.ไม่แล้วเสร็จ เพิ่งพิจารณาได้ 7 ข้อ จะประชุมต่อวันที่ 18 ก.พ.นี้

เดดไลน์สิ้น ก.พ.

หากผลเจรจามีแนวโน้มไปต่อไม่ได้ก็ต้องยุติการเจรจา หรือดูแล้วสามารถไปต่อได้ก็เดินหน้ากันต่อไป โดยตั้งเป้าให้เสร็จในเดือน ก.พ. และเซ็นสัญญาเดือน มี.ค.นี้ ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) กำหนดไว้ “11 ข้อเสนอในซอง 4 ที่ ซี.พี.ยื่นจบแล้ว รับ 3 ข้อ อีก 8 ข้อไม่รับ แต่ขั้นตอนเจรจายังไม่จบ เพราะ ซี.พี.มีข้อเสนอ 200 หน้า อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว 11 ข้อก็ได้ คณะอนุกรรมการจะใส่ในสัญญา เช่น ระยะเวลาสัมปทาน ส่งมอบพื้นที่ ระยะเวลาก่อสร้าง ข้อเสนอไหนที่ไม่ตรงทีโออาร์คงไม่พิจารณา จะให้จบโดยเร็ว เพราะรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เร่งให้เสร็จเดือนนี้” นายวรวุฒิกล่าวและว่า

โครงการยังไม่ล้มประมูล หากเจรจา กลุ่มซี.พี.ไม่สำเร็จ จะเชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์-บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น-บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) มาเจรจาซองที่ 4 ต่อไป ในเรื่องวงเงินที่ให้รัฐอุดหนุน เพราะบีเอสอาร์เสนอสูงถึง 169,934 ล้านบาท หากรัฐต้องอุดหนุนจะเป็นภาระด้านงบประมาณในอนาคต

รถไฟความเร็วสูง

คุยบีทีเอสลดเงินอุดหนุน

“การเจรจาคงขอปรับลดวงเงินที่เอกชนเสนอมาให้อยู่ในกรอบที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท ได้หรือไม่ หรือบีเอสอาร์มีข้อเสนอเพิ่มอะไรบ้าง ที่จะลดวงเงินนี้ได้ ก็ต้องคุยกัน แต่ต้องรอผลเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.ให้สุดทางก่อน” นายวรวุฒิกล่าวย้ำรายงานข่าวแจ้งว่า ข้อเสนอที่คณะอนุกรรมการเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.มี 34 ข้อ เจรจาแล้ว 7 ข้อ มีบางประเด็นพอจะเป็นไปได้ เช่น ให้ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบโครงการตามสัดส่วนการถือหุ้น หากโครงการมีปัญหาสร้างไม่เสร็จ, ยังไม่ขอเริ่มงานก่อสร้างหากยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) การส่งมอบพื้นที่, เพิ่มกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย, ขอเช่าช่วงที่ดินมักกะสัน-ศรีราชา ให้ บจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น บริษัทลูกพัฒนา,ขอรัฐขยายเพดานเงินกู้ให้กับรายใหญ่ เป็นต้น  ข้อเสนออื่น ๆ ที่ไม่รับพิจารณา เช่น ขยายเวลาก่อสร้างอีก 6 เดือนจากเดิม 5 ปี, จ่ายค่าปรับแบบตายตัว, ให้รัฐรับประกันผลตอบแทนโครงการหากไม่ถึง 6.75%, ให้เจรจาบริษัทเป็นรายแรกขยายอายุสัมปทานหลังครบ 50 ปี อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปีขอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก,เลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชาจนกว่าจะมีผลตอบแทนหรือได้รับส่งมอบพื้นที่ครบ, ขอจ่ายค่าสิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ปีที่ 6 เป็นต้นไป, ห้ามรัฐอนุมัติโครงการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโครงการที่ทำให้เกิดการแข่งขัน, ปรับรูปแบบเป็นทางระดับดิน

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่ข้อเสนอสร้างส่วนต่อขยายไประยอง ย้ายจุดที่ตั้งสถานีและสร้างสเปอร์ไลน์เชื่อม ยังไม่ถึงเวลาที่จะนำมาพิจารณาในขณะนี้ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่สามารถขออนุญาตจากการรถไฟฯได้ตามปกติ

 

สะพัดกลุ่ม ซี.พี.ทิ้งทุ่น

“การที่ ซี.พี.มีเงื่อนไขมาก เป็นเพราะราคาที่เสนอประมูลนั้นต่ำเกินจริง ทำให้เดินหน้ายาก เพราะโครงการมีความเสี่ยงสูง ใช้เงินลงทุน 2 แสนล้าน ซึ่งแบงก์คงไม่ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้ง่ายๆ ตอนนี้เริ่มมีหลายกระแส เช่น ซี.พี.จะล้มประมูลเพื่อให้เปิดประมูลใหม่ อีกกระแสก็บอกว่า ทางเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ตั้งใจในโครงการนี้มาก จะขอสู้เพื่อศักดิ์ศรี” รายงานข่าวกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้โครงการต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หากเจรจา ซี.พี.ไม่สำเร็จ จะเชิญกลุ่มบีเอสอาร์มาเจรจาต่อไป แต่ต้องลดวงเงินที่ให้รัฐอุดหนุนจากที่เสนอไว้ 169,934 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ากรอบ ครม.อนุมัติ

 

เปิดข้อเสนอบีทีเอส

“แม้กลุ่มบีเอสอาร์เสนอราคาแบบไม่มีเงื่อนไข แต่รัฐต้องควักเพิ่มกว่า 5 หมื่นล้าน ก็ต้องดูว่าเอกชนจะมีเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อแลกกับการลดเงินอุดหนุนจากรัฐ” แหล่งข่าวกล่าวและว่าส่วนซองที่ 4 ของกลุ่มบีเอสอาร์ เสนอลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูและเหลือง สร้างส่วนต่อขยายจากอู่ตะเภา-ระยอง ออกไป 40 กม. นอกจากนี้ ยื่นขอใช้สถานีพญาไทเป็นสถานีจอดรถไฟความเร็วสูงด้วย เพื่อให้ผู้โดยสารต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสได้สะดวก

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการบอร์ดอีอีซี กล่าวว่า คณะกรรมการคงไม่สามารถพิจารณาข้อเสนอของกลุ่ม ซี.พี. ที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์และมติคณะรัฐมนตรีได้ เช่น ขยายอายุสัมปทานขอรัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก เป็นต้น

“แต่ก็ต้องหารือกับ ซี.พี.อีกครั้ง ยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย รัฐยังเปิดให้เจรจากันจนกว่าจะได้ตามข้อตกลง เช่น เรื่องผลตอบแทนให้กับภาครัฐจนน่าพอใจ ตามระเบียบแล้ว หากรายแรกไม่สามารถตกลงกันได้ตามเงื่อนไข รัฐสามารถเจรจากับรายที่ 2 ได้ แต่ต้องเจรจากับรายที่ 1 จนจบก่อน ปลายเดือนนี้จะได้ข้อสรุปเรื่องผู้ชนะการประมูลครั้งนี้”

 

ต้องการแรงงาน 1 ล้านคน

บอร์ดยังเห็นชอบแผนพัฒนาบุคลากรโดยกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจากผลสำรวจพบว่า ใน EEC ขาดทั้งแรงงานและบุคลากรถึง 50,000 คน แผน 12 ปี (2562-2573) อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) 300,000 ล้านบาท/ปี ต้องการแรงงานและบุคลากร 1 ล้านคน อาทิ อุตสาหกรรมดิจิทัล, หุ่นยนต์, การแพทย์และบริการสุขภาพ, การบินและชิ้นส่วน, โลจิสติกส์, ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์, เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, ท่องเที่ยว และการแปรรูปอาหาร

 

ซี.พี.ยืนยันสู้ประมูล

แหล่งข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่ม ซี.พี.มีความตั้งใจจริงที่จะดำเนินโครงการไฮสปีดเทรน เพราะเป็นโครงการสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก จึงพร้อมจะสู้เต็มที่ เพื่อให้ได้โครงการนี้ แต่เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ จึงต้องหารือกับพันธมิตรต่างประเทศหลายราย ทำให้การเจรจาเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ กับภาครัฐต้องใช้เวลาเจรจาต่อรองพอสมควร แต่เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปตามกรอบเวลาที่รัฐกำหนดไว้ในเดือน ก.พ.นี้

“เราเชื่อว่าโครงการนี้ถ้าเกิดได้จะดีกับประเทศ อย่างที่ทราบกันว่าเป็นโครงการใหญ่มากที่ต้องใช้ทั้งเงินลงทุน, ความชำนาญและประสบการณ์เราจึงต้องอาศัยพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ ซึ่งพันธมิตรก็ต้องพิจารณาเรื่องผลตอบแทนในการลงทุนด้วย ทำให้การตัดสินใจอาจช้า เพราะต้องคุยกับพาร์ตเนอร์”

 

ที่มา prachachat.net

 

ธอส

ธอส. จัดให้ ประมูลบ้าน คอนโดมือสอง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  ในราคาเริ่มต้นที่ 60,000 บาท ผ่อนดาวน์ 0%

คอนโด

เทกระจาด คอนโด เคลียร์สต๊อก-หนีเกณฑ์ LTV

 

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก