เพราะอะไรมหาดไทยใหม่ ถึงเป็นทุกข์ของคนฝั่งธนฯ

กระทรวงมหาดไทยใหม่

คนฝั่งธนฯ กับการมาถึงของ กระทรวงมหาดไทยใหม่ หน่วยงานราชการระดับกระทรวงที่มีความสำคัญของประเทศที่จะมาแทรกกลางพื้นทีอาจจะทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนในย่านนี้คงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่รวมถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคต

กระทรวงมหาดไทยใหม่ อาจเป็นทุกข์ของคนฝั่งธนฯ โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

 

หลังจากหาสถานที่มานาน ในที่สุดกระทรวงมหาดไทยได้ที่ดินของ กรมธนารักษ์ ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน เนื้อที่ 18 ไร่เศษ เป็นสถานที่ก่อสร้างกระทรวงใหม่จากก่อนหน้านี้เคยหมายตาที่ดินของกรมชลประทาน ปากเกร็ด นนทบุรี เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ แต่ถูกปฏิเสธกลับมา การก่อสร้างกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ รองรับการย้ายส่วนราชการออกจากพื้นที่เดิมบริเวณริมคลองหลอด ติดวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ส่วนพื้นที่กระทรวงเดิมจะปรับปรุงพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว ใครก็ตามที่มีโอกาสได้เห็นพิมพ์เขียวที่กระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้น รับประกันได้ว่าต้องตื่นตาตื่นใจกับภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้า เพราะประกอบด้วยตึกสูง จำนวน 6 อาคาร เกาะเป็นกลุ่ม มีทางเชื่อมต่อกัน ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่เปิดโล่งริมน้ำ รวมพื้นที่ใช้สอยโดยรวม ประมาณ 226,000 ตร.ม.

ผู้เกี่ยวข้องกับการออกแบบ อธิบายถึงสาเหตุต้องสร้างเป็นกลุ่มอาคารสูงเรียงรายว่า เนื่องจากข้อจำกัดของที่ดินเป็นแปลงเล็กเพียง 18 ไร่ จำเป็นต้องออกแบบอาคารต่าง ๆ เพื่อใช้พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดประกอบด้วย อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานรัฐมนตรี ความสูง 15 ชั้น พื้นที่ 23,000 ตร.ม.

1.กรมการปกครอง สูง 21 ชั้น พื้นที่ 29,000 ตร.ม.

2.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สูง 17 ชั้น พื้นที่ 22,000 ตร.ม.

3.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สูง 17 ชั้น พื้นที่ 22,500 ตร.ม.

4.กรมการพัฒนาชุมชน สูง 15 ชั้น พื้นที่ 19,700 ตร.ม.

5.กรมที่ดิน สูง 21 ชั้น พื้นที่ 32,700 ตร.ม.

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ที่จอดรถใต้ดิน ห้องประชุม และโรงอาหาร ลานริมน้ำ รวมทั้งท่าเรือ รองรับการเดินทางทางน้ำ โดยภาพรวม ๆ น่าจะคล้าย ๆ กระทรวงพาณิชย์ ที่ย้ายจากท่าเตียนไปอยู่สนามบินน้ำ ตั้งแต่เมื่อกว่าสิบปีก่อน

หากไม่มีอุบัติเหตุอะไร การก่อสร้างคงเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากที่ดินก็เป็นของกรมธนารักษ์ ซึ่งไม่ได้มีความเห็นแย้งใด ๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ยังได้อนุมัติงบฯผูกพันข้ามปี รวม 6,651 ล้านบาท ไว้เป็นที่เรียบร้อย แน่นอนว่าการโยกย้ายกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานราชการออกจากเกาะรัตนโกสินทร์ มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่โยกย้ายไปตามสถานที่ต่าง ๆ รายรอบ กรุงเทพฯ โดยเฉพาะศูนย์ราชการใหม่ แจ้งวัฒนะ

กระทรวงมหาดไทยใหม่การย้ายกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้คงอยู่ที่ความเหมาะสมในการเลือกทำเลที่ตั้งมากกว่า

ในอดีตเจริญนครเป็นย่านโกดังการค้าเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีโกดังสินค้าของบริษัทใหญ่ ๆ เรียงรายเต็มไปหมด แต่ปัจจุบันกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัย บวกกับชุมชนห้องแถว รวม ๆ แล้วคนย่านนี้อยู่กันแบบเงียบสงบมานานสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสะพานสาทร ซึ่งปกติการจราจรทั้งเช้าและเย็นหนักหนาสาหัส เมื่อมีคนหมุนเวียนสู่กระทรวงนี้เป็นจำนวนมาก น่าจะเห็นภาพตามมาไม่ยากการมีหน่วยงานราชการระดับกระทรวงที่มีความสำคัญของประเทศมาแทรกเป็นยาดำอยู่ หมายถึงชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนในย่านนี้คงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่รวมถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม-ขนส่ง ไฟฟ้า ประปา น้ำเสีย ขยะ และอีกจิปาถะที่ต้องคิดให้เบ็ดเสร็จ

จริง ๆ เรื่องนี้แค่เริ่มต้นคิดก็ผิดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมหาดไทยเองเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของกรมโยธาธิการและผังเมือง ย่อมเข้าใจและรู้ซึ้งถึงหลักการพัฒนาเมืองได้อย่างแจ่มแจ้งดียิ่งกว่าหน่วยงานไหน ๆ แต่กลายเป็นหน่วยงานที่สร้างปัญหาเสียเอง รวมถึงคำถามที่ว่ากำลังจะย้ายไปอยู่ใกล้ ๆ บ้านเขา ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปแบบนี้ ได้ถามคนแถวนั้นหรือยัง

ที่มา พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์ ,prachachat.net