ธนาคารแห่งประเทศไทย มีความกังวลเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทยเจาะคุณภาพสินเชื่อแบงก์ หลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กังวลปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยหละหลวมพบ 3 แบงก์เอ็นพีแอลขยับสูงนำ โดยกรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ด้านประธานสมาคมแบงก์เผยถก ธปท. หากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทไหนน่าห่วงจะพิจารณาเข้มขึ้นทำหุ้นแบงก์ตกใจปรับลงยกแผง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บล.เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์เรื่องการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์หลังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แสดงความกังวลต่อการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีการปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวมและล่าสุด ธปท.เตรียมเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือเรื่องมาตรการดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น ฝ่ายวิจัยเอเซียพลัสได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของแบงก์พาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย พบว่า ในช่วงปี 2555 จนถึงครึ่งแรกของปี 2561 เติบโตราว 9.4% โดยเป็นการเติบโตของ 10 แบงก์ที่ฝ่ายวิจัยฯศึกษาอยู่ราว 7.6%

ธนาคารแห่งประเทศไทย

และเมื่อเจาะลึกเข้าไปดูคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยของกลุ่มแบงก์ 10 แห่ง ที่ศึกษาในช่วงปี 2555 จนถึงครึ่งแรกปี 2561 พบว่า สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)บวกกับสินเชื่อ SM หรือ special mention loan ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ค้างชำระตั้งแต่ 30-90วัน และหมายถึงสินเชื่อที่มีโอกาสไหลตกชั้นไปเป็นเอ็นพีแอลเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 14.4%

โดยแบงก์ที่มีเอ็นพีแอลจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยบวกสินเชื่อ SM เร่งตัวขึ้นจนสูงกว่ากลุ่มมี 3แบงก์ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย(KTB)เพิ่มจาก 2.94% เป็น 7.01% สูงกว่ากลุ่มที่เพิ่มจาก 3.87%เป็น 5.41% รองลงมาคือ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)เพิ่มจาก 2.62% เป็น 6.75% และธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)เพิ่มจาก 3.89% เป็น 5.20% โดย SCB นั้น แม้จะเห็นเอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยเร่งตัวขึ้น แต่ไม่น่ากังวลนักเนื่องจากเอ็นพีแอลที่ 5.20% ยังต่ำกว่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 5.41%

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า เป็นเรื่องดีที่ทางภาครัฐให้ความสำคัญ เพราะหากมีการปล่อยสินเชื่อที่หย่อนมาตรฐานไม่มีการตรวจสอบประวัติลูกค้าให้รอบคอบก็จะมีผลระยะยาวในการผ่อนชำระหนี้ของลูกค้า”ทางออกที่ดี คือ ธปท. ควรเรียกหน่วยงานเกี่ยวข้องมาหาข้อสรุปโดยเร็ว โดยเฉพาะแบงก์พาณิชย์ทั้งความเสี่ยงจากการปล่อยบ้านหลังที่ 2 และ 3 เพื่อหวังเก็งกำไร และการให้วงเงินอนุมัติที่สูงเป็นต้น”

ส่วนความกังวลว่า กลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังสูงและซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาระดับบนจะเป็นเอ็นพีแอลนั้น ส่วนตัวมองว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีกำลังซื้อที่สูงไม่น่าเป็นห่วง ส่วนการซื้อคอนโดมิเนียม เพื่อการเก็งกำไรนั้น ปัจจุบันมีการดึงลูกค้าต่างชาติเข้ามาซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีน ซึ่งธนาคารเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่ออยู่แล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า การที่ ธปท.มีความกังวลเรื่องการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยถือเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องโดยการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นธนาคารระมัดระวังอยู่แล้วการปล่อยกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือ หลังที่3จะถูกพิจารณาเป็นพิเศษพร้อมมีการกำหนดสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์หรือแอลทีวีลดลงต่อเนื่องเช่นบ้านหลังแรกเคยปล่อยสินเชื่อ 80-90% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์พอเป็นบ้านหลังที่ 2 แอลทีวีเหลือ 70% หรือ ผู้ซื้อต้องมีเงินดาวน์มากขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารพาณิชย์จะมีการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยว่า ธนาคารแต่ละแห่งดูแลและระมัดระวังพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว ทั้งความเป็นไปได้ของโครงการว่าจะขายหมดได้หรือไม่ รวมทั้งการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ได้หารือร่วมกับ ธปท.พิจารณาว่าสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทใดที่น่าเป็นห่วง ก็จะเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณา ส่วนนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัยเอเซียพลัส กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ปรับลงแรงจากความกังวลเรื่องการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลัง ธปท.แสดงความกังวล ว่า อาจมีการปล่อยกู้ที่หละหลวม

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก