อดีตรองผู้ว่าหวั่นเสียค่าโง่1.1พันล้าน  ให้กับรถเมล์เอ็นจีวี

คุณ สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เบื้องลึกประมูล รถเมล์เอ็นจีวี โดยมุ่งเน้นเพื่อ ที่จะให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ใช้รถเมล์ที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึงภายในเวลาไม่นาน ผมทราบดีว่ารถเมล์ที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ใช้วิ่งรับส่งคนกรุงมีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทำให้รถมีสภาพเสื่อมโทรม

เบื้องลึกประมูล รถเมล์เอ็นจีวี ที่คนไทยต้องรู้

ขสมก.ได้พยายามจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 แต่มีปัญหาต่างๆ นานา จนถึงรัฐบาลนี้ ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น แม้ว่าต้องการซื้อล็อตแรกเพียง 489 คันเท่านั้น จากทั้งหมด 3,183 คัน ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ จนถึงบัดนี้มีการประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมด 8 ครั้งแล้ว ล้มเหลวไป 7 ครั้ง จนถึงครั้งที่ 8

ซึ่งผลจากการประมูลปรากฏว่าบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล ทำให้มีรถเมล์เอ็นจีวีใหม่มาวิ่งอยู่บนท้องถนนจำนวน 100 คัน ดังที่เห็นกันอยู่ทั่วไป แต่ยังไม่ครบ 489 คัน ตามที่ต้องการซื้อล็อตแรก แต่ก่อนจะถึงการประมูลครั้งที่ 8 มีการประมูลที่น่าสนใจอย่างมาก นั่นคือการประมูลครั้งที่ 4 ซึ่งบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะ แต่ถูกขสมก.บอกเลิกสัญญา

รถเมล์เอ็นจีวี

ขสมก. พยายามยกเลิก เบสท์ริน กรุ๊ป เป็นเหตุจนทำให้เกิดการฟ้องร้อง

เป็นที่รู้กันในวงการผู้ประกอบการรถโดยสารว่า ช.ทวี และเบสท์ริน เป็นคู่แข่งที่หวังจะคว้าชัยชนะจากการประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ของขสมก. มีการผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนถึงการประมูลครั้งที่ 4 เบสท์รินเป็นผู้ชนะ ด้วยการเสนอราคารถและค่าซ่อมบำรุงรักษาระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินรวมประมาณ 3,389.7 ล้านบาท จากราคากลางประมาณ 4,021.7 ล้านบาท หรือเบสท์รินเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 632 ล้านบาท

ต่อมาเบสท์รินนำรถเข้ามาจำนวน 489 คัน แต่ได้ส่งมอบให้ขสมก.จำนวน 292 คัน และขสมก.ได้มอบอำนาจให้เบสท์รินนำรถจำนวน 292 คัน ไปจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก โดยมีขสมก.เป็นเจ้าของ ทั้งนี้ก่อนจดทะเบียน ขสมก.ได้ติดตั้งระบบติดตามรถหรือจีพีเอสในรถทุกคันเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบกที่กำหนดให้ติดตั้งจีพีเอสก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนได้

แต่ต่อมาขสมก.ได้บอกเลิกสัญญากับเบสท์ริน โดยอ้างว่า (1) เบสท์รินส่งมอบรถช้ากว่ากำหนดในสัญญา และ (2) ไม่ได้เป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนและประกอบในประเทศมาเลเซียตามที่ระบุไว้ในสัญญา แต่เป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนทั้งหมด ทำให้เบสท์รินนำเรื่องนี้ไปฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง

ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้เบสท์รินเป็นเงินจำนวนประมาณ 1,160 ล้านบาท โดยศาลปกครองกลางมีเหตุผลดังนี้ (1) การที่ขสมก.อ้างว่าเบสท์รินส่งมอบรถช้ากว่ากำหนดนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะขสมก.ได้มีการขยายเวลาการส่งมอบแล้ว และการมอบอำนาจให้เบสท์รินนำรถไปจดทะเบียนโดยมีขสมก.เป็นเจ้าของนั้นถือว่าเป็นการรับรถโดยปริยาย และ (2) ในประกาศประกวดราคาของขสมก.ระบุชัดว่ารถที่จะส่งมอบให้ขสมก.ต้องเป็นรถที่ผลิตในต่างประเทศหรือประกอบในประเทศไทยก็ได้ ดังนั้น หากรถที่นำเข้ามาทั้งหมดเป็นรถที่ผลิตในประเทศจีนก็ไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การบอกเลิกสัญญา

เมื่อย้อนดูราคาที่เบสท์รินเสนอต่อขสมก.คือ 3,389.7 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าราคากลางของขสมก.ถึง 632 ล้านบาท เป็นค่าซื้อรถ 489 คัน และค่าบำรุงรักษารถระยะเวลา 10 ปี หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้เท่ากับ 6.93 ล้านบาท พบว่าถูกกว่าราคาที่ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอต่อขสมก.ในการประมูลครั้งที่ 8

กล่าวคือช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคา 4,260 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท เป็นราคารถจำนวน 489 คัน พร้อมค่าบำรุงรักษารถระยะเวลา 10 ปี เหมือนกัน หรือคิดเป็นราคาต่อคันได้เท่ากับ 8.71 ล้านบาท นั่นหมายความว่าราคาของเบสท์รินถูกกว่าราคาของช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ถึงคันละ 1.78 ล้านบาท ดังนั้น หากขสมก.ซื้อรถจากเบสท์รินทั้งหมด 489 คัน จะทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 870 ล้านบาท

แต่น่าแปลกมากที่ได้มีความพยายามบอกเลิกสัญญากับเบสท์ริน จนถูกศาลปกครองกลางสั่งให้ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายให้เบสท์รินถึงประมาณ 1,160 ล้านบาท ดังกล่าวแล้วข้างต้น ในขณะที่กรณีของช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ซึ่งเสนอราคาแพงกว่าถึงคันละ 1.78 ล้านบาท รวม 489 คัน เป็นเงินที่แพงกว่าถึง 870 ล้านบาท และที่สำคัญ ราคาของช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์สูงกว่าราคากลางของขสมก.ถึง 240 ล้านบาท

แต่กลับมีความพยายามเร่งรัดให้มีการทำสัญญา ทั้งๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีมติของคณะกรรมการขสมก.อนุมัติให้ขสมก.ทำสัญญากับช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ จนถูกศาลปกครองกลางสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการขสมก.ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น นั่นหมายความว่าไม่มีมติของคณะกรรมการขสมก.ที่อนุมัติให้ขสมก.ทำสัญญาซื้อรถเมล์กับช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เกิดขึ้นในการประชุมดังกล่าว สำหรับรายละเอียดของประเด็นนี้ผมจะนำเสนอในบทความต่อไป

เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผมขอเสนอให้ขสมก.รับรถของเบสท์รินจำนวน 292 คัน ซึ่งขสมก.ได้มอบอำนาจให้เบสท์รินไปจดทะเบียนโดยมีขสมก.เป็นเจ้าของแล้ว จะทำให้ขสมก.ไม่ต้องเสียค่าโง่ 1,160 ล้านบาท และจะทำให้คนกรุงมีรถใหม่ใช้ได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขให้เบสท์รินชำระภาษีให้ถูกต้องตามที่ถูกกล่าวหาว่าเบสท์รินสำแดงแหล่งกำเนิดของรถอันเป็นเท็จ

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังที่อยากให้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ใช้รถเมล์ที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึงในอนาคตอันใกล้ และที่สำคัญ จะต้องเป็นรถที่ได้มาจากการประมูลที่โปร่งใส ในราคาที่เป็นธรรม และประหยัดงบประมาณของประเทศ

เพราะเหตุใด ขสมก. ทำไมจึงมีความพยายามเขี่ยเบสท์รินให้ตกไป

หลังจากการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 4 ซึ่งเบสท์รินชนะการประมูล ขสมก.ได้เปิดประมูลใหม่ แต่ล้มเหลวอีก 3 ครั้ง จนมาถึงครั้งที่ 8 ปรากฏว่า ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ชนะการประมูล โดยได้ส่งมอบรถให้ ขสมก.แล้ว 100 คัน

ทั้งนี้ ขสมก.กำหนดราคากลางไว้ที่ 4,020 ล้านบาท แต่ราคาที่ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอคือ 4,260 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคากลาง 240 ล้านบาท ต่อมามีบริษัทที่เสียผลประโยชน์จากการประมูลได้ฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการ ขสมก.ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ที่มีมติอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ นั่นหมายความว่าไม่มีมติดังกล่าวเกิดขึ้น การทำสัญญาระหว่าง ขสมก.กับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในที่สุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการ ขสมก. เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากศาลได้ไต่สวนพบว่าในการประชุมคณะกรรมการ ขสมก.เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ซึ่งมีกรรมการเข้าร่วมประชุม 9 คน จากทั้งหมด 10 คน ไม่มีการลงมติอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญาซื้อรถเมล์และซ่อมบำรุงรักษากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์แต่อย่างใด

อีกทั้ง ในการประชุมคณะกรรมการ ขสมก.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีกรรมการเข้าร่วมประชุม 6 คน ปรากฏว่ามีกรรมการเพียง 2 คนเท่านั้นที่รับรองบันทึกการประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 ที่มีมติอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญากับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ แต่มีกรรมการ 3 คน ไม่ยอมรับรองบันทึกการประชุม ส่วนกรรมการอีก 1 คน งดออกเสียง นอกจากนี้ ขสมก.ไม่สามารถแสดงหลักฐานการตรวจรับรถจาก ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ จำนวน 100 คัน ที่วิ่งให้บริการอยู่ในเวลานี้ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่ากรรมการตรวจรับรถบางคนไม่ยอมลงนามในเอกสารการรับรถ เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมติอนุมัติให้ ขสมก.ทำสัญญากับช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์รองรับนั่นเอง

อะไรทำให้การประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีต้องล่าช้ามาจนถึงบัดนี้เป็นเวลาถึง 13 ปี ทำไมจึงมีความพยายามเขี่ยเบสท์รินให้ตกไป ทั้งๆ ที่ เบสท์รินเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 632 ล้านบาท และเบสท์รินเสนอราคาต่ำกว่า ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ถึง 870 ล้านบาท ทำไมจึงมีความพยายามให้ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้งๆ ที่เสนอราคาสูงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท อะไรทำให้ ขสมก.ต้องการซื้อรถเมล์เอ็นจีวีที่มีราคาแพงกว่า ประเด็นเหล่านี้น่าติดตามอย่างยิ่ง

น่าสนใจมากว่าใครเป็นคนที่แฝงตัวทำงานนี้ แต่จะเป็นใครก็ตามหาได้ไม่ยากถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอยากจะหา เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 ที่จะเรียกประธานกรรม กรรมการ ผู้อำนวยการ ขสมก. พนักงานหรือลูกจ้างมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวและมีการร้องเรียนว่าการประมูลครั้งที่ 8 เป็นการประมูลที่ไม่โปร่งใส แต่ รมว.คมนาคมได้ใช้อำนาจนี้แล้วหรือไม่ หากยังไม่ได้ใช้ ถามว่าทำไมจึงปล่อยให้เป็นข้อกังขาของสาธารณชน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สายที่ รมว.คมนาคมจะตั้งกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ประจักษ์ในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู ดังนี้

  1. ทำไมจึงมีการเชิญชวนให้บริษัทเข้าร่วมประมูลโดยกำหนดให้ยื่นเอกสารภายในระยะเวลาสั้นๆ หากบริษัทใดไม่รู้ข้อมูลล่วงหน้ามาก่อนก็ไม่สามารถเตรียมเอกสารได้ทัน กล่าวคือ ขสมก.ได้มีหนังสือเชิญชวนบริษัทรอบแรก 7 บริษัท เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ทำให้มีเวลาเตรียมเอกสารจำนวนมากทั้งเอกสารด้านคุณสมบัติของบริษัท เอกสารด้านเทคนิคและด้านราคาเพียง 10 วันทำการเท่านั้น อนึ่ง ในการเชิญรอบแรกนั้นปรากฏว่ามี ช.ทวีรวมอยู่ด้วย
  1. เหตุใด ขสมก.จึงเชิญชวนบริษัทเพิ่มเติมรอบที่ 2 อีกจำนวน 4 บริษัท เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 เหมือนเดิม ทำให้มีเวลาเตรียมเอกสารจำนวนมากเพียง 3 วันทำการเท่านั้น
    ซึ่งไม่สามารถเตรียมเอกสารจำนวนมากได้ทันแน่หากไม่จับมือร่วมทำงานกับบริษัทที่ได้รับเชิญรอบแรก อนึ่ง ในการเชิญรอบที่ 2 นั้นปรากฏว่ามีสแกนอินเตอร์รวมอยู่ด้วย เมื่อดูระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 พบว่าระเบียบนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการมีหนังสือเชิญชวนบริษัทไม่น้อยกว่า 3 รายเท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใด ขสมก.จึงต้องมีหนังสือเชิญชวนบริษัทเพิ่มเติมรอบที่ 2 อีก 4 ราย ทั้งๆ ที่การเชิญชวนรอบแรกมีจำนวนบริษัท 7 ราย ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวแล้ว
  1. อะไรทำให้ ช.ทวีซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับเชิญในรอบแรกและเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการให้บริการรถโดยสารต้องยอมจับมือกับสแกนอินเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับเชิญในรอบที่ 2 ตั้งเป็นกลุ่มร่วมทำงานยื่นข้อเสนอให้ ขสมก.คัดเลือก ที่น่าแปลกมากก็คือมี 2 บริษัทนี้เท่านั้นที่เสนอตัวเข้าร่วมประมูลจากจำนวนบริษัทที่ได้รับเชิญทั้งหมด 11 บริษัท แต่บริษัททั้งสองนี้ไม่ได้แข่งขันกันเพราะได้จับมือกันตั้งเป็นกลุ่มร่วมทำงาน เสมือนเป็นบริษัทเดียว หาก 2 บริษัทนี้ไม่จับมือกันตั้งเป็นกลุ่มร่วมทำงาน แต่แข่งขันกันก็เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ช.ทวีจะเป็นผู้ชนะ เพราะมีความพร้อมและประสบการณ์มากกว่า
    และที่สำคัญ เคยร่วมประมูลโครงการนี้มาก่อนแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงน่าสนใจมากว่าทำไม ช.ทวีจึงยอมให้สแกนอินเตอร์เข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นการแบ่งกำไรให้สแกนอินเตอร์ จากการที่สแกนอินเตอร์สามารถเข้าร่วมกลุ่มกับ ช.ทวีได้จึงน่าจะเป็นคำตอบได้ว่าเหตุใดจึงมีการเชิญสแกนอินเตอร์ในรอบที่ 2 ให้เข้าร่วมประมูลด้วย ส่วนบริษัทอื่นที่ได้รับเชิญไม่เข้าร่วมประมูลด้วย ทราบมาว่าเป็นเพราะไม่สามารถเตรียมเอกสารจำนวนมากได้ทันเวลา
  1. ทำไมกรรมการ ขสมก.บางคนจึงมีความพยายามที่จะให้ ขสมก.ทำสัญญาซื้อรถและซ่อมบำรุงกับ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์ ทั้งๆ ที่กลุ่มนี้เสนอราคาสูงกว่าราคากลางถึง 240 ล้านบาท และที่สำคัญ หากย้อนดูการประมูลที่ ช.ทวีเคยชนะโดยไม่ได้ร่วมกลุ่มกับสแกนอินเตอร์ พบว่า ช.ทวีเคยเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางโดยเสนอราคา 3,800 ล้านบาท มาครั้งนี้คือการประมูลครั้งที่ 8 ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์เสนอราคาเพิ่มขึ้นเป็น 4,260 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าที่เคยเสนอไว้เดิมถึง 460 ล้านบาท เหตุใดจึงต้องเสนอราคาเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ราคากลางไม่ได้เพิ่มขึ้น มีความจำเป็นอะไรที่ ช.ทวีต้องร่วมกลุ่มกับสแกนอินเตอร์ และต้องเสนอราคาแพงขึ้น เพราะหาก ช.ทวีไม่ร่วมกลุ่มกับสแกนอินเตอร์โดยยื่นข้อเสนอเพียงบริษัทเดียวไม่มีสแกนอินเตอร์มาพ่วงด้วยในราคาเดิมคือ 3,800 ล้านบาท ก็มีกำไรอยู่แล้ว

 

สำหรับรถของ ช.ทวีร่วมกับสแกนอินเตอร์จำนวน 100 คัน ที่วิ่งให้บริการอยู่ในเวลานี้นั้น ผมขอเสนอให้ ขสมก.ยื่นหลักฐานการตรวจรับรถต่อศาลปกครองกลางหากมีการรับรถแล้วจริง ซึ่งอาจจะทำให้ศาลพิจารณายกเว้นการทุเลาตามมติของคณะกรรมการ ขสมก.ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 เฉพาะกรณีนี้ก็ได้ นั่นหมายความการรับรถจำนวน 100 คัน เป็นการรับรถที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย พี่น้องประชาชนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็สามารถใช้รถเมล์ใหม่ได้อย่างสบายใจ

เมื่อไหร่หนอคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะได้ใช้รถเมล์ใหม่กันอย่างทั่วถึงเสียที หากการประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีทำกันอย่างตรงไปตรงมา ป่านนี้คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลคงไม่ต้องทนใช้รถเมล์เก่าที่มีสภาพเสื่อมโทรมมาจนถึงวันนี้ ไม่น่าเชื่อว่าในยุคที่มีนายกรัฐมนตรีที่มีความมุ่งมั่นในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีคนกล้าทำเรื่องที่น่าละอายเช่นนี้ได้

โดยสรุป หากมีการสอบสวนประเด็นดังกล่าวข้างต้นกันอย่างจริงจัง รับรองว่าจะสามารถหาตัวคนที่แฝงตัวทำงานนี้หรือ “ไอ้โม่ง” ได้แน่ และหาได้ไม่ยากด้วย ปัญหาอยู่ที่ว่าอยากจะหาหรือไม่เท่านั้น

รถเมล์เอ็นจีวี

 

ที่มา FB ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

 

หากท่านใดสนใจข้อมูลข่าวสารและบทความอื่นๆเพิ่มได้ที่…คลิ๊ก