รัฐอันงบเพิ่ม ชิมช้อปใช้ 2 แจกมากกว่าเดิม หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ชิมช้อปใช้

คลังอัด 4 ก๊อก 2 ลุ้นกระตุก ศก.ปลายปี หลังส่งออกทรุดหนัก ลุย ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 แจก 1,000 บาท แคชแบ็ก รับสิทธิ์ 3 ล้านราย ดีเดย์ 24 ตุลาคมนี้ ค้าปลีกชี้ข้อจำกัดใช้เงินใน 14 วัน ทำให้อานิสงส์ไปไม่ถึงท่องเที่ยว “เสี่ยบุณยสิทธิ์” หนุนรัฐอุ้มผู้มีรายได้น้อย วอนแบงก์ชาติดูแลค่าบาท

ชิมช้อปใช้  รัฐอันงบเพิ่ม  แจกมากกว่าเดิม

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศไทยยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศและปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่

  1. มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2”
  2. มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจาก 2% เหลือ 0.01%, ลดค่าจดทะเบียนการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ตั้งแต่มีประกาศมหาดไทยถึง 24 ธันวาคม 2563
  3. มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ช่วง 3 ปีแรก สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่22 ตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 วงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,000 ล้านบาท และ
  4. มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562ไปพลางก่อน (front load)

 

ลุย “ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2” ต่อ

รมว.คลังเปิดเผยว่า “ชิม ช้อป ใช้” เฟส 2 เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดย ครม.ได้อนุมัติงบฯเพิ่มเติม

สำหรับชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 จำนวน 2,000 ล้านบาท โดยงบประมาณจากชิม ช้อป ใช้ เฟสแรก 1.9 หมื่นล้านบาทยังใช้ไม่หมด จึงจะนำงบฯของเฟสแรกมาใช้รวมกับเฟส 2 ด้วย

“เฟสแรก ขณะนี้มีการใช้จ่ายถึง 9 พันล้านบาท ซึ่งส่งผลต่อการจับจ่ายของประชาชน และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ถึง 3% หรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่รัฐบาลก็ได้ทำกันอย่างเต็มที่แล้ว”

สำหรับรูปแบบชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 กำหนดกลุ่มเป้าหมาย 3 ล้านราย โดยให้วงเงิน 1,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 1 และเงินชดเชย 15% ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท จากเงินของประชาชนผ่านกระเป๋า 2 (เงินชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท) เช่นเดียวกับเฟสแรก และได้เพิ่มสิทธิเงินชดเชยเป็น 20% ของยอดใช้จ่ายส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท(เงินชดเชยไม่เกิน 4,000 บาท) ซึ่งสิทธินี้จะขยายให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ 10 ล้านคนแรกที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ด้วย

นายอุตตมกล่าวว่า การใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 2 สามารถเติมเงินได้ง่ายและสะดวกขึ้นด้วยการสแกน QR code ของทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลัก ผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคารต่าง ๆ และยังสามารถเติมเงินเข้า g-Wallet 2 ผ่านเครื่อง ATM ของ 5 ธนาคารใหญ่ด้วย และเฟส 2 ได้ปรับเวลาเริ่มลงทะเบียนใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 500,000 ราย รอบแรกเริ่มลงทะเบียนเวลา 06.00 น. และรอบที่ 2 เริ่มลงทะเบียนเวลา 18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียน ซึ่งจะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.เป็นต้นไป วันละไม่เกิน 1 ล้านคน โดยเฟส 2 นี้ ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 และร้านค้าสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 31 ธ.ค. 2562 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเงื่อนไขการใช้เงินในกระเป๋าที่ 1 ภายใน 14 วันเช่นเดิม

 

สมคิดชู “บิ๊กดาต้า” รัฐ-เอกชน

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างโรดโชว์ที่มณฑลกวางตุ้งว่า โครงการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ยังจำเป็นต้องแจกเงิน 1 พันบาท ให้กับผู้ลงทะเบียน เพราะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น และที่ผ่านมามองว่าประชาชนใช้จ่ายเงินคล่องมากขึ้น โครงการชิม ช้อป ใช้ เป็นวิธีการที่ได้ผล เพราะดึงดูดให้ประชาชนผู้ลงทะเบียนออกไปใช้จ่ายในต่างจังหวัดมากขึ้น และยังดึงดูดให้ร้านค้ารายย่อย รายใหญ่ รายใหม่นับแสนรายเข้ามาร่วมโครงการ รัฐบาลจึงต้องเร่งรัดพัฒนาระบบ big data เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับหลายหน่วยงานของรัฐ

สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายน แม้ติดลบ 1.3% ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีสำหรับประเทศไทย เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

 

เสี่ยสหพัฒน์จี้ ธปท.ดูแลค่าบาท

ด้านนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ที่ร่วมเดินทางไปกับคณะรัฐบาลไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่เหมือนกับที่หลายฝ่ายกังวล เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็ง และการชะลอตัวในลักษณะดังกล่าวเป็นมานานหลายปี สิ่งที่หลายฝ่ายกังวล คือ กำลังซื้อของรายย่อยที่ขาดหายไป จึงต้องเติมกำลังซื้อในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น ชิม ช้อป ใช้ เพื่อให้ภาคเกษตร ร้านค้ารายย่อย วิสาหกิจชุมชน มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น

“สิ่งสำคัญ ต้องการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อประคองเศรษฐกิจไทยให้เหมาะสม ยอมรับว่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลดีต่อการลงทุน นำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร เข้ามาขยายการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างหลักของประเทศ ในอีกมุมหนึ่ง การดูแลส่งออก ด้วยการให้เงินบาทอ่อนค่าสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ดูแลสินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้เกษตรกร ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแล”

นายบุณยสิทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท.ให้ความสำคัญกับการปรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยสอดคล้องกับแนวโน้มของเฟด ทำให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์จับทิศทางนโยบายการเงินของไทยได้ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ท้ายที่สุดส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรที่เป็นรายย่อย ขณะที่หลายประเทศทั้งพัฒนาแล้ว ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินช่วยดูแลเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงทั่วโลกประสบปัญหา จึงอยากให้ ธปท.พิจารณาปัจจัยดังกล่าว เพื่อดูแลเงินบาทอ่อนค่าลงดูแลภาคเกษตร

 

ท่องเที่ยวลุ้นอานิสงส์เฟส 2

นายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า สำหรับในภาคธุรกิจท่องเที่ยว มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 นี้น่าจะส่งแรงบวกให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการให้ส่วนลดที่เป็นแคชแบ็กเพิ่มเป็น 20% และได้ต่อเวลาโครงการครอบคลุมช่วงไฮซีซั่นท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังคาดหวังว่า นักท่องเที่ยวที่ได้รับสิทธิ์ทั้ง 13 ล้านคน (รวมทั้ง 2 เฟส) เกิดการเดินทางข้ามจังหวัดในระยะทางที่ไกลขึ้น และกระจายตัวไปในเมืองรองมากขึ้น ที่สำคัญ หากผู้ได้รับสิทธิ์นำไปใช้ร่วมกับแคมเปญร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย และแคมเปญเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน-31 ธันวาคม 2562 จะยิ่งได้รับความคุ้มค่า รวมถึงกล้าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในส่วนของการกระตุ้นการท่องเที่ยวของมาตรการชิม ช้อป ใช้ ระยะที่ 2 โครงการได้ประสานเครือโรงแรมขนาดใหญ่หลายเครือ อาทิ เซ็นทารา ดุสิตธานี เอราวัณ อนันตรา ฯลฯ เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม นอกจากนี้ กรุงไทยยังประสานงานกับ ททท. ร่วมจูงใจผู้ให้บริการทางด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยเฉพาะบริษัททัวร์และบริษัทรถเช่าให้เข้ามาร่วมร้านค้าโครงการมากเพิ่มขึ้นด้วย

 

ค้าปลีกเผย “ดีกว่าไม่มี”

นายวรวุฒิ อุ่นใจ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวว่า สำหรับมาตรการชิม ช็อป ใช้ เฟส 2 จะมีอิมแพ็กต์ที่ใกล้เคียงกับเฟส 1 หรือไม่ต่างจากเดิมมากนัก เนื่องจากเป็นโครงการระยะสั้นที่อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ แล้วหมุนรอบเดียวจบ ต่างจากโครงการระยะยาว เช่น การปรับโครงสร้างภาษี ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินในระบบหมุนเวียนได้หลายรอบกว่า อย่างไรก็ตาม การออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเช่นนี้ก็ต้องยอมรับว่า ดีกว่าไม่มี เพราะเศรษฐกิจก็จะคึกคักขึ้น ตามเม็ดเงินที่ใส่เข้าไป

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟสแรก จำกัดเวลาใช้เงินเพียง 14 วัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลว่าจะใช้เงินไม่ทัน จึงไม่ได้นำไปใช้กับการท่องเที่ยวซึ่งต้องวางแผน จึงแห่มาใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแทน ดังนั้น หากเฟส 2 ไม่ปรับระยะเวลาการใช้เงินให้นานขึ้น มองว่าการใช้เงินของผู้บริโภคก็จะนำไปใช้แบบเดิม และไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางการตลาดอื่น ๆ ตามมา

ขณะที่กระเป๋าที่ 2 ที่จะได้เงินคืน 15-20% นั้น น่าจะตอบโจทย์กลุ่มคนที่เป็นร้านค้ารายย่อยมากกว่า เช่น ต้องซื้อของเข้าร้านทีละ 3-5 หมื่น ก็ได้เงินคืนกลับมา 4.5-8.5 พันบาท

 

ที่มา prachachat.net

ลดค่าธรรมเนียมโอนรัฐสั่ง ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองบ้านเหลือ 0.01%

 

 

สินเชื่อบ้าน

รัฐอนุมัติ บ้านใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ให้กู้ดอกเบี้ยคงที่ 2.50% ต่อปี 3 ปีแรก เริ่ม 24 ต.ค.นี้

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก