ร้างมานาน กทม.เวนคืนบิ๊กลอต40โครงการ ทุ่ม2หมื่นล้านตัดถนนใหม่ทั่วกรุงแก้รถติด-รับรถไฟฟ้า10สาย

กทม.ทุ่ม 2 หมื่นล้าน เวนคืนตัดถนนใหม่ 40 สายทั่วกรุง แก้รถติด เน้นขยายถนนเดิม รับรถไฟฟ้าและวิกฤตจราจร 10 ปี คาดคนเดินทางทะลุ 25 ล้านเที่ยวคน/วัน

นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน กทม.มีแผนจะเวนคืนที่ดินและก่อสร้างโครงการใหม่ จำนวน 40 โครงการ มีทั้งถนน ขยายคลองและบึงรับน้ำ คาดว่าจะใช้เงินเวนคืนและก่อสร้างกว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ โครงการระยะแรก 10 โครงการ เริ่มดำเนินการไปแล้วปี 2557-2558 ใช้เงินเวนคืน 7,605 ล้านบาท เน้นบริเวณเป็นจุดตัดทางแยก คอขวด เพื่อลดปัญหาจราจร เช่น ขยายถนนพุทธมณฑลสาย 1 สร้างเป็นจุดตัดทางแยก ถนนเชื่อมถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณซอยร้านเจ้เล้ง

ปีนี้เร่งยิก 15 โครงการ 7 พันล้าน

โครงการ ระยะที่ 2 จำนวน 15 โครงการ วงเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 4,760 ล้านบาท และก่อสร้างประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.ขยายซอยเพชรเกษม 16 บรรจบซอยจรัญสนิทวงศ์ จากเดิมเป็นซอยที่ไม่บรรจบกัน จะก่อสร้างเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 32 เมตร วงเงิน 30 ล้านบาท 2.ก่อสร้างถนนเชื่อมถนนสุวินทวงศ์กับถนนเลียบวารี ก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 8 ช่องจราจร ระยะทาง 6.6 กม. วงเงิน 80 ล้านบาท

3.ขยายถนนคุ้มเกล้า จากเดิม 2 ช่องจราจร ขยายให้เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 12.6 กม. วงเงิน 800 ล้านบาท 4.ก่อสร้างถนนเชื่อมถนนศรีนครินทร์กับถนนเจ้าคุณทหาร ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นถนน 6-8 ช่องจราจร จะมีเวนคืนเพิ่ม 5 ช่วง เนื่องจากต้องใช้เขตทางกว้าง 60 เมตร จะใช้เงินเวนคืน 1,916 ล้านบาท

5.ขยาย ถนนเชื่อมถนนพหลโยธินกับถนนรัตนโกสินทร์สมโภช เพิ่มเติม 4 จุดบริเวณผ่านคลอง เป็นทางแคบและคดเคี้ยว เพื่อขยายแนวคลอง วงเงิน 1,053 ล้านบาท 6.ก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนนิมิตใหม่กับถนนคลองเก้า เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 8 ช่องจราจร ระยะทาง 9.3 กม. วงเงิน 300 ล้านบาท 7.ก่อสร้างทางกลับรถยนต์ใต้สะพานข้ามคลองแสนแสบ (สะพานยกระดับถนนสุวินทวงศ์) ใน 2 บริเวณ คือ จุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนสุวินทวงศ์ (แยกการไฟฟ้ามีนบุรี) และจุดตัดถนนนิมิตใหม่กับถนนสุวินทวงศ์ (แยกไปรษณีย์มีนบุรี) ขนาด 2 ช่องจราจร วงเงิน 50 ล้านบาท

8.ก่อสร้างถนนเชื่อมถนนนนทรีช่วงปลาย กับถนนยานนาวา เป็นถนน 2 ช่องจราจร ความยาว 200 เมตร วงเงิน 60 ล้านบาท 9.ก่อสร้างและปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้า ถนนจตุโชติ-ถนนเพิ่มสิน ก่อสร้างถนนสายใหม่ไปบรรจบกับถนนเพิ่มสิน ขนาด 4 ช่องจราจร ความยาว 850 เมตร วงเงิน 236 ล้านบาท

10.ก่อสร้างถนนเชื่อมถนนสายไหมกับถนนเพิ่ม สิน ขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 2.39 กม. วงเงิน 101 ล้านบาท 11.ขยายถนนสายพุทธมณฑลช่วงถนนอุทยาน และสร้างสะพานคู่ขนานระดับเดียวกับสะพานข้ามคลองทวีวัฒนา ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 800 เมตร วงเงิน 230 ล้านบาท

12.ปรับปรุงถนนเอกชัย ซอย 101 ขยายจากเขตทางเดิมเป็นขนาด 4 ช่องจราจร ความยาว 470 เมตร วงเงิน 70 ล้านบาท 13.ปรับปรุงถนนพระราม 2 ซอย 82

จากเดิมเป็นถนนลาดยางและหินคลุก เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1.8 กม. วงเงิน 78 ล้านบาท

เวนคืนพื้นที่ 1.5 หมื่น ตร.กม.

14.ขยาย คลองและก่อสร้างเขื่อนแนวคลองพระยาราชมนตรี ช่วงคลองหนองใหญ่ถึงคลองภาษีเจริญ ขยายคลองจากเดิม 6-8 เมตร เป็น 20 เมตร และสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก วงเงิน 191 ล้านบาท และ 15.ขยายคลองและก่อสร้างเขื่อนแนวคลองลุงหน่าง ช่วงทางรถไฟสายแม่กลอง-มหาชัย ถึงคลองบางบอน ขยายคลองจากเดิมกว้าง 2-6 เมตร เป็น 15 เมตร และสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กยาว 1.7 กม. วงเงิน 65 ล้านบาท

“15 โครงการนี้ มีพื้นที่เวนคืนรวม 15,590 ตร.กม. ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่เริ่มเข้าสำรวจพื้นที่เพื่อชี้แจงกับประชาชน จะเริ่มเวนคืนปีนี้ 10-11 โครงการ”

นายศักดิ์ชัยกล่าวอีกว่า ส่วนโครงการระยะที่ 3 จำนวน 15 โครงการ ใช้เงินประมาณ 6,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท และก่อสร้างประมาณ 2,000 ล้านบาท อาทิ 1.โครงการเชื่อมถนนพหลโยธิน กับถนนเพิ่มสิน และซอยพหลโยธิน 54/1

2.เชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช กับซอยพหลโยธิน 54/1 แยก 4 3.เชื่อมระหว่างซอยรามอินทรา 39 และถนนสุขาภิบาล 5

4.จัดทำบึงรับน้ำบริเวณคลองลำหม้อแตก

5.จัดทำบึงรับน้ำบริเวณคลองพระยาสุเรนทร์ 6.จัดทำบึงรับน้ำบริเวณคลองคูบอน

7.จัดทำบึงรับน้ำบริเวณคลองบางชัน 8.จัดทำบึงรับน้ำบริเวณคลองสามวา 1 9.จัดทำบึงรับน้ำบริเวณคลองสามวา 2

10.ทำ ถนนเชื่อมระหว่างถนนจอมทองกับซอยวัจนะ 11.เชื่อมระหว่างซอยรามคำแหง 53 กับซอยลาดพร้าว 106 และ 110 12.เชื่อมระหว่างซอยรามคำแหง 24 กับซอยรามคำแหง 12 13.เชื่อมระหว่าง

ถนนเพชรเกษม ถนนหนองใหญ่ ถนนกัลปพฤกษ์ 14.ทำถนนเทียมร่วมมิตร และ 15.เชื่อมระหว่างถนนจตุโชติกับถนนพระยาสุเรนทร์

“ทุกโครงการขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างปรองดองผู้ที่จะถูกเวนคืนที่ดินและรับฟังความคิดเห็นประชาชน ในพื้นที่ เพื่อออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน หากโครงการไหนมีการเวนคืนที่ดินคืบหน้ากว่า 50% จะตั้งคำของบประมาณมาก่อสร้างต่อไป” นายศักดิ์ชัยกล่าว

เร่งสร้างความเข้าใจชาวบ้าน

นาย จุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.อยู่ระหว่างจัดทำโครงการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเชิงรุกในการจัด กรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับความจำเป็นของการตัดถนน เพื่อเพิ่มโครงข่ายในการเดินทางให้มีความเชื่อมโยงและเพียงพอต่อการสัญจร เน้นใช้วิธีการพูดคุยแบบปรองดอง ขณะนี้แม้ทางรัฐบาลได้มีการจัดทำแผนแม่บทในการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จำนวน 10 สายในอนาคต แต่ถนนที่จะก่อสร้างจะเป็นโครงข่ายมาเสริมการเดินทางของประชาชนให้สะดวกขึ้น และรองรับเมืองที่จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

“อีก 10 ปีข้างหน้า จะมีการใช้เส้นทางการสัญจรประมาณ 25 ล้านเที่ยวคน/วัน การก่อสร้างหรือขยายการจราจร จึงมีความจำเป็นมาก เพื่อสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ คาดว่าจะรองรับได้อีก 15 ล้านเที่ยวคน/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 10 ล้านเที่ยวคน/วัน ซึ่งกรุงเทพฯมีพื้นที่ถนนคิดเป็นร้อยละ 4 ของพื้นที่ทั้งหมด ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากเทียบกับเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก”

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก  prachachat.net

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/