เตรียมเวนคืนที่ดิน บางบาล-บางไทร พร้อมเจรจาจบจ่ายค่าที่ดิน-ค่ารื้อย้ายบ้านทันที

ปรับใหม่แนว เวนคืนที่ดิน โครงการระบายน้ำบางบาล-บางไทร อธิบดีกรมชลฯย้ำไม่ขยายพื้นที่เพิ่ม แต่เบี่ยงหลบ ลดขนาดคลอง 54 เมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ยินยอม เจรจาจบจ่ายค่าที่ดิน-ค่ารื้อย้ายบ้านทันที สั่งเร่งเดินหน้าก่อสร้างนำร่องบริเวณประตูน้ำบางบาล ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย ว่า แม้พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินราษฎรโครงการระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ความยาวประมาณ 22.5 กม. มูลค่าโครงการรวม 2.1 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

จากที่กรมชลฯเสนอขอปรับแก้ไขประเด็นพื้นที่และขอบเขตของการเวนคืน แต่เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้ สนองนโยบายรัฐบาลที่กำหนดเป็นโครงการสำคัญเร่งด่วน กรมชลฯได้เริ่มลงมือก่อสร้างในพื้นที่บางส่วนล่วงหน้าแล้ว โดยทำควบคู่กับการเจรจาและสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านที่อยู่ในแนวเวนคืน แต่จะพยายามลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

“ขณะนี้ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในขั้นตอนการขอแก้ไขของคณะกรรมการกฤษฎีกา การออก พ.ร.ฎ.เวนคืนเพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าของที่ดินสามารถขออุทธรณ์ให้ทางราชการจ่ายเงินเพิ่ม หากเห็นว่าจ่ายเงินชดเชยน้อยเกินไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการระดับจังหวัด และศาลจะพิจารณา” อธิบดีกรมชลฯกล่าวว่า โครงการนี้เริ่มตัดยอดน้ำหลากที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา ตรงดิ่งลงทางใต้ผ่าน อ.บางบาล ปลายคลองอยู่ที่ อ.บางไทร ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากท่วมตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ส่งผลกระทบแหล่งโบราณวัตถุหลายแห่ง โดย พ.ร.ฎ.เวนคืนโครงการนี้ไม่มีการขยายพื้นที่เวนคืนเพิ่ม มีแต่จะเบี่ยงหรือหดความกว้างการเวนคืน

 

เวนคืนที่ดิน 2.7 พันไร่ เจรจาจบ-จ่าย

แหล่งข่าวจากกรมชลประทานเปิดเผยว่า ในส่วนของการเวนคืน ตอนนี้กรมชลฯกำลังเร่งเจรจาทำความตกลงซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินตามแนวคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ตามที่ได้มีการสำรวจปักหลักเขตชลประทานไว้ประมาณ 2,710 ไร่ คิดเป็นที่ดิน 740 แปลง โดยยังไม่ได้ประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทุกคนเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการดำเนินโครงการ ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้จ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสม รวมทั้งค่ารื้อย้ายอาคารสิ่งปลูกสร้างให้กับเจ้าของที่ดิน 70-80 ราย คิดเป็นระยะทาง 2 กม.

ขณะเดียวกันได้มีชาวบ้านที่ถือครองที่ดิน 580 แปลง ได้ไปยื่นเรื่องให้กรมที่ดินเข้าไปรังวัดสอบเขต ตามขั้นตอนหลังจากรังวัดเสร็จเรียบร้อย กรมจะเข้าไปทำบัญชีว่าเจ้าของที่ดินรายนี้ ที่ดินอยู่ในจุดที่จะถูกนำไปทำโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จำนวนเท่าไหร่ เพื่อจัดเตรียมงบฯจ่ายค่าชดเชยให้ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากเจ้าของที่ดินรับราคาได้ก็จะจ่ายค่าซื้อที่ดิน รวมทั้งค่าชดเชยให้ทันที แต่หากการเจรจาไม่ได้ผลก็จะดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน โดยเจ้าของที่ดินสามารถยื่นอุทธรณ์เรื่องราคาได้

สำหรับที่ดินในแนวเวนคืนอยู่ใน ต.บ้านใหม่ ต.บ้านป้อม ต.ปากกราน อ.พระนครศรีอยุธยา ต.วัดยม ต.มหาพราหมณ์ ต.สะพานไทย ต.พระขาว อ.บางบาล และ ต.บ้านกลึง ต.กระแชง ต.ช้างน้อย ต.บ้านแป้ง ต.สนามชัย ต.บางไทร ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

ลด-เบี่ยงแนวคลองลดผลกระทบ

ตอนนี้โครงการมีความคืบหน้า เพราะตรงไหนเจรจาจ่ายค่าชดเชยสำเร็จ จะนำเงินงบประมาณที่ ครม.อนุมัติตั้งแต่เมื่อ 19 กันยายน 2560 มาจ่าย และจะให้ผู้รับเหมาเข้าดำเนินการขุดดินไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2562 นี้ กรมชลฯได้รับงบฯก่อสร้างในส่วนของประตูระบายน้ำบางบาล

ขณะนี้ได้ลงพื้นที่ก่อสร้างแล้วเช่นเดียวกันเดิมโครงการนี้จะเวนคืนที่ดินมีความกว้าง 245 เมตร แต่หลังทำประชาพิจารณ์รับฟังข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ได้ปรับลดแนวเขตก่อสร้างขนาดความกว้างเหลือ 200 เมตรในพื้นที่ทั่วไป และกว้าง 110 เมตรในพื้นที่ชุมชน เพื่อลดผลกระทบ สำหรับการออกแบบจะกำหนดความกว้างคลองจากผิวน้ำด้านบน 150 เมตร ส่วนที่เหลือข้างละ 25 เมตรทั้ง 2 ฝั่งคลอง จะทำเป็นถนนขนาด 2 เลนสามารถวิ่งสวนทางไป-กลับได้

 

8 โปรเจ็กต์จ่อคิวสร้าง

แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งมีทั้งหมด 9 แผนงาน 1.การปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันออกตอนล่าง 2.คลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก 2.1 ปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก 2.2 ขุดคลองป่าสัก-อ่าวไทย 3.ทางระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 4.ปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก 5.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายแม่น้ำเจ้าพระยา 6.การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 7.คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 8.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน และ 9.พื้นที่รับน้ำนอง

สำหรับแผนก่อสร้างระบบระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร 2.อาคารบังคับน้ำ 3.สถานีสูบน้ำแบบ 2 ทาง พร้อมอาคารประกอบ 4.สะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายน้ำหลาก 5.งานป้องกันตลิ่งบริเวณปลายคลองน้ำหลาก 7.คันกั้นน้ำโดยรอบพื้นที่โครงการและอาคารประกอบ 8.งานอาคารชลประทานอื่น ๆ

 

ผู้ว่าฯแจงติดเวนคืน 10 กว่าราย

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้การเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ก้าวหน้าไปมากแล้ว เหลือติดปัญหาอยู่ 10 กว่าราย ซึ่งได้ให้ทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลว่า ปัญหาที่เป็นข้อกังวลของประชาชนคืออะไร บางเรื่องต้องเข้าไปสร้างความเข้าใจ

“โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร เส้นนี้ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ซึ่งกรมชลประทานและรัฐบาลเห็นความสำคัญ ถ้าคลองนี้ไม่เกิด การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดทำได้ยากมาก อยุธยามีปัญหาน้ำท่วมตลอด เพราะมีจุดคอคอดช่วงแคบบริเวณวัดพนัญเชิง ระบบการไหลของน้ำทำได้ลำบาก แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะน้ำต้องมีที่ระบาย และเมื่อขุดคลองได้แล้วเสร็จ ประชาชนจะได้รับประโยชน์เรื่องการชลประทานเพิ่มขึ้น มีการสร้างเขื่อนกักเก็บ วันนี้ถ้าไม่สามารถโฟลว์น้ำได้ ปัญหาส่วนอื่น ๆ จะตามมา”

 

บางบาลขอค่าเวนคืนเพิ่ม

ด้าน นายอมร ขมิ้นสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามชัย อ.บางไทร กล่าวว่า เดิมโครงการนี้จะเวนคืนมีความกว้าง 245 เมตร แต่ได้ลดขนาดความกว้างของการเวนคืนเหลือเพียง 200 เมตร เป็นความกว้างของคลอง 80 เมตร มีถนนขนาบคลองนี้ทั้ง 2 ฝั่ง ในส่วนประชาชน ต.สนามชัย ยินยอมให้ทางการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหมดแล้ว ส่วนพื้นที่ที่จะเวนคืนบริเวณ ต.ช้างน้อย ต.กระแชง อ.บางไทร ทางการได้เบี่ยงโครงการหลบบ้านประชาชนพอสมควร ใน อ.บางบาลยังมีประชาชนที่ยังไม่ยินยอมให้ทางการเวนคืนบางส่วนเพราะต้องหาเงินไปสร้างบ้านใหม่

ที่มา prachachat.net

นนทบุรีนนทบุรี ว่าที่ กรุงเทพฯ 2 พร้อมพัฒนา สร้าง รถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์ พาที่ดินราคาขึ้นสูง

 

เวนคืนที่ดิน

รัฐพร้อม เวนคืนที่ดิน กทม.  450 ไร่กว่า 1.4 พันหลัง เพื่อ สร้างถนน6 เลน แก้รถติด

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก