คนแปดริ้วเตรียมตัว-ผังเมืองอีอีซีคลอดพ.ย.นี้แล้ว

แปดริ้ว

รัฐเดินหน้าอีอีซียุทธศาสตร์ชาติ จัดผังเมือง แปดริ้ว แบ่งโซนต่างๆ ให้ชัดเจน คาดร่างแรกเสร็จในเดือนพฤศจิกายน ก่อนเปิดรับฟังความเห็นและปรับปรุงแก้ไขคาดใช้เวลา 1 ปี

แปดริ้ว

วันที่ 27 กันยายน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างการสัมมนาเรื่อง “EEC คนไทยได้อะไร@ฉะเชิงเทรา” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่าในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นไปตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านพลังประชาชน ซึ่งจะเน้นใน 4 ด้าน ได้แก่

  1. การยกระดับเทคโนโลยี
  2. การพัฒนาคน โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้เพียงพอ ซึ่งจะพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนให้มีทักษะกับแต่ละอุตสาหกรรม และสามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรอัตโนมัติ และ หุ่นยนต์ได้
  3. สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม เพราะอุตสาหกรรมในปัจจุบันไม่ได้เน้นเรื่องการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ หากส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลาดก็จะไม่ยอมรับ
  4. สังคมจะเพิ่มในเรื่องรัฐสวัสดิการต่างๆ สิ่งใดที่มีความจำเป็นก็จะต้องมี

“รัฐบาลจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาและสังคมให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับปรุงกระบวนการศึกษา การเรียนรู้ ให้ถูกทาง ร่วมกับสถาบันการศึกษาในชุมชน ซึ่งสถาบันการศึกษาจะต้องก้าวออกมาเจอกับภาคเอกชน คนไทยจะต้องสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เองได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจของการดำเนินงานของรัฐบาล”

นายอุตตม ระบ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า อีอีซีจะเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) ซึ่งจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่ จ.ระนอง เพื่อให้เป็นประตูทางออกสินค้าของอีอีซี ไปสู่ทะเลฝั่งตะวันตกไปสู่อินเดียและยุโรปต่อไป ซึ่งจะทำให้อีอีซีเชื่อมโยงไทยไปสู่เวทีโลก ทั้งทะเลฝั่งตะวันออก และตะวันตก จากนั้นจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้แต่ละภาคมีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับความ เข้มแข็งของพื้นที่

แปดริ้ว

“การพัฒนาพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา รัฐบาลจะไม่เร่งรีบ จะหารือในรายละเอียดกับประชาชนในจังหวัดเพื่อออกแบบผังเมืองให้ตรงตามความต้องการ ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับสำนักงานอีอีซี และคณะกรรมการจัดสรรพื้นที่ โดยจะทำควบคู่กับการออกแบบผังเมือง ส่วนข้อร้องเรียนของชาวบ้าน ต.โยธะกา ที่ไม่ต้องการเป็นพื้นที่เมืองใหม่ ได้แจ้งไปยังเลขาธิการอีอีซี แล้ว เพื่อไปประสานงานข้อเรียกร้องต่างๆ กับภาครัฐ” นายอุตตม กล่าว

ด้านนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า  การจัดทำผังเมืองอีอีซี อยู่ระหว่างการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คาดว่าจะได้ร่างฉบับแรกภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะได้เห็นการแบ่งโซนพัฒนาไปในทิศทางใดบ้าง พื้นที่ใดจะสร้างเป็นเมืองใหม่ พื้นที่ใดเป็นเขตอุตสาหกรรม จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปปรับปรุงผังเมือง ก่อนที่จะลงไปจัดทำผังเมืองระดับอำเภอให้ชัดเจนภายใน 1 ปีและประกาศเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ก่อนเดือนพฤศจิกายน 2562

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวอีกว่า สำหรับ จ.ฉะเชิงเทรา มีจุดเด่นในเรื่องความสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีการทำเกษตรชั้นดี มีผลไม้ที่มีชื่อเสียง เป็นแหล่งปลูกข้าว และการประมง  จึงเหมาะที่จะสร้างเมืองน่าอยู่ สนับสนุนพื้นที่อุตสาหกรรมใน จ.ระยอง และชลบุรี ให้อีอีซี และรองรับคนจากกรุงเทพฯ ที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับในทุกด้าน

โดยพื้นที่ที่เหมาะสมจะอยู่บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงในรัศมีโดยรอบ 4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1 หมื่นไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ 10% จะเป็นพื้นที่จัดหาประโยชน์ของรัฐบาล เพื่อนำเงินมาพัฒนาอีอีซี ซึ่งมองว่าพื้นที่ตรงนี้มีศักยภาพ หากรัฐบาลไม่เข้าไปทำอะไรผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับภาคเอกชนที่จะเข้ามาจับจองพื้นที่

“พื้นที่สร้างเมืองใหม่และพื้นที่อุตสาหกรรม ประชาชนโดยรอบจะต้องเห็นด้วย การขยายเขตของเมืองเก่าและเมืองใหม่ และโซนต่างๆ จะต้องไม่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้ จ.ฉะเชิงเทรา ยังคงความเป็นเมืองน่าอยู่ และพื้นที่การเกษตรที่สำคัญต่อไป”

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก