ได้แล้ว !! รถไฟฟ้าสายใหม่ “บางหว้า-ตลิ่งชัน”

หลังจากที่เลือกเฟ้นมาหลายเส้นทาง ในที่สุด กทม. ก็สรุปเลือกเส้นทาง “บางหว้า-ตลิ่งชัน” เป็นเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่ ซึ่งแนวเส้นทางทั้งหมด 7.5 กิโลเมตร

จุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีลม ตากสิน-เพชรเกษม ที่บริเวณสถานีบางหว้า จากนั้นวิ่งไปตามแนวถนนราชพฤกษ์ โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนน 3-3.5 เมตร เพื่อก่อสร้างโครงสร้าง จากนั้นจะผ่านทางแยกตัดถนนบางแวก (ซอยจรัญฯ 13) ผ่านทางแยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 แล้วยกข้ามทางแยกถนนบรมราชชนนีทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกที่กำลังสร้างในแนวรถไฟสายใต้มาสิ้นสุดบริเวณทางลาดลงของสะพานข้ามรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) มี 6 สถานี ได้แก่

1. สถานีบางแวก
2. สถานีกระโจมทอง
3. สถานีบางพรม

4. สถานีอินทราวาส
5. สถานีบรมราชชนนี
6. สถานีตลิ่งชัน

คาดหวังว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาการจราจรฝั่งธนบุรีและเปิดพื้นที่การพัฒนาใหม่ ๆ ในเขตภาษีเจริญและเขตตลิ่งชันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สาย ซึ่งได้แก่

1. สายสีเขียว ช่วงถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินถึงบางหว้า
2. สายสีน้ำเงิน ช่วงท่าพระถึงบางแค
3. สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อถึงตลิ่งชัน
4. สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชันถึงดินแดง

สำหรับค่าก่อสร้างเฉลี่ยนั้น กิโลเมตรละ 1,500 ล้านบาท รวมทั้งโครงการ 7.5 กิโลเมตร คาดว่าใช้เงินลงทุน 11,250 ล้านบาท จะไม่มีเวนคืนที่ดินเพราะสร้างบนเกาะกลางถนนเดิม ผลการศึกษาจะจบในเดือนกันยายนนี้ โดยวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งหลังจากนี้ กทม.จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ ขณะเดียวกัน กทม.จะพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งมีบริษัทที่ปรึกษาเสนอมา 2 แนวทาง ได้แก่

1. กทม.ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา จัดหาระบบรถไฟฟ้า คัดเลือกผู้รับจ้างทำหน้าที่บริหารจัดการการเดินรถ จัดเก็บรายได้ค่าโดยสารให้ หรือ มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รัฐวิสาหกิจของ กทม.เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดย กทม.ลงทุนบางส่วนและให้กรุงเทพธนาคมจัดหาเงินลงทุนและเป็นผู้ลงทุนในบางส่วน รวมทั้งเป็นผู้บริหารการเดินรถ

2. กทม.ร่วมลงทุนกับเอกชน รูปแบบอาจเป็นในลักษณะการกำหนดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ตามแนวทางการศึกษาของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งกำหนดให้ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับโครงการใหม่นี้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 และเปิดใช้บริการในปี 2564 ซึ่งคาดหวังว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 143,000 คน/เที่ยว/วัน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ