กองทุนอสังหา: ทางเลือกสำหรับการเริ่มต้นลงทุน (ตอนที่ 1)

ถ้าหากจะกล่าวกันถึง ‘การลงทุน’ ในยุคนี้สมัยนี้แล้วนั้น มันก็ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่ใช่เรื่องที่ถูกจำกัดแต่ในวงของคหบดีหรือเศรษฐีผู้มีอันจะกิน แต่มันเป็นแก่นหลักของการคิดเพื่อต่อยอดสินทรัพย์และรายได้ให้งอกเงย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองที่การทำงานเพียงหนึ่งอย่างอาจจะไม่เพียงพอ ทำให้การลงทุนรูปแบบต่างๆ ได้รับความสนใจจากผู้คนในทุกระดับอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่า ‘อสังหาริมทรัพย์’ เองก็มาแรงในรอบปีที่ผ่านมา

Credits: worldpropertyjournal.com

อย่างไรก็ตาม ลงว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงในระยะยาว เงินทุนที่ต้องใช้ก็นับกันเป็นหลักล้าน ที่แม้ว่าจะมีกระบวนการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพื่อการเริ่มต้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถกระทำกันได้ง่ายๆ เมื่อใดก็ได้ที่ใจอยาก อันเป็นที่มาของ ‘กองทุนอสังหาริมทรัพย์’ ที่เพิ่มเข้ามาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้เริ่มต้น

//กองทุนอสังหาริมทรัพย์คืออะไร?

ลองนึกภาพตามว่า นาย A ต้องการเงินทุนเพื่อไปเปิดกิจการร้านขายของ แต่มีเงินไม่เพียงพอ จึงมาขอระดมทุน (Crowdfunding) จากญาติสนิทมิตรสหาย โดยให้คำสัญญาว่า จะเจียดแบ่งรายได้ให้กับทุกคนที่ร่วมทุน ขอแค่เพียงอย่างเดียวคือ นาย A ยังคงมีอำนาจบริหารและตัดสินใจทิศทางของร้านได้ทุกประการ ทุกคนเห็นดีเห็นงาม ร่วมลงขันให้นาย A ไปเปิดร้าน และรอรับเงินส่วนแบ่งปันผลในช่วงสิ้นแต่ละไตรมาส

Credits: fin24.com

ทีนี้ ลองเปลี่ยนจากนาย A มาเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และร้านขายของเป็นห้างเมกะสโตร์ คุณก็จะได้ ‘กองทุนอสังหาริมทรัพย์’ (รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันไปตามประเภท แต่โดยเนื้อหาสาระหลักแล้ว ไม่ต่างกัน)…

นั่นเพราะการสร้างหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วไป พูดกันถึงเงินหลักร้อยล้านเป็นขั้นต่ำ และการระดมทุน ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดภาระของผู้เริ่มต้นโครงการ และสามารถกำหนดทิศทางการบริหารงานได้ตามที่เห็นสมควร ผู้ร่วมลงทุนก็จะได้ส่วนแบ่งที่สมน้ำสมเนื้อ โดยที่ไม่ต้องกระโจนลงปากเหวเสียเอง

//เหตุใดกองทุนอสังหาริมทรัพย์จึง ‘น่าเล่น’

Credits: ujuh.co.za

ถ้าให้แจกแจงความน่าสนใจของกองทุนอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้เริ่มต้นการลงทุนแล้วนั้น จะพบว่ามีข้อดีหลายประการ คือ

-ใช้เงินลงทุนน้อย เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่นๆ (รวมถึงการลงทุนซื้ออสังหาฯ ด้วยตนเอง)

            -ไม่ต้องยุ่งยากกับขั้นตอนการบริหารงานอสังหาฯ เพราะมีคนคอยดำเนินการให้เสร็จสรรพ

            -กระจายความเสี่ยง เพราะผู้พัฒนาอสังหาฯ ย่อมไม่ลงทุนแค่เพียงที่ใดที่หนึ่งเพียงอย่างเดียว

            -สภาพคล่องที่สูง หากไม่พึงพอใจผลประกอบการ ก็สามารถปล่อยขายออกไปได้ทันที

            -ผลตอบแทนที่คุ้มค่า แม้ไม่พุ่งเท่าหุ้นตอนช่วงตลาดกระทิงดุ แต่มั่นใจว่าจะไม่แกว่งจนต้องหัวใจวายเฉียบพลัน

เหล่านี้ ฟังดูเป็นเงื่อนไขแบบ ‘กินเปล่า’ ที่ปลอดภัยและน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แต่ทุกการลงทุน ‘มีความเสี่ยง’ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ซึ่งเราจะมาสาธยายในแง่มุมดังกล่าวในโอกาสถัดไป