กู้ร่วมซื้อบ้านคืออะไร ช่วยให้กู้ผ่านง่ายจริงไหม ก่อนตัดสินใจกู้ร่วมต้องรู้อะไรบ้าง?

การเป็นเจ้าของบ้านในฝัน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่และไกลตัว เพราะการกู้ซื้อบ้านด้วยตัวคนเดียวดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทางธนาคารจำเป็นต้องดูคุณสมบัติของผู้กู้ว่าตรงกับเกณฑ์ที่ทางธนาคารกำหนดหรือไม่ เช่น ฐานเงินเดือนมีความสามารถพอที่จะผ่อนไหวแค่ไหน มีหนี้สินคงค้างหรือไม่ ฯลฯ 

แต่ในปัจจุบันนี้มีวิธีที่ช่วยทำให้คุณและครอบครัวสามารถเป็นเจ้าของบ้านหลังงามได้ง่ายมากขึ้นด้วยวิธีการ ‘กู้ร่วมซื้อบ้าน’ ว่าแต่ การกู้ร่วมซื้อบ้านคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และมีข้อดี-ข้อเสียอะไรที่ต้องรู้บ้าง วันนี้ Dot Property สรุปมาให้คุณเข้าใจง่ายๆ ในบทความเดียวแล้วครับ

133880149_m

กู้ร่วมซื้อบ้านคืออะไร?

การกู้ร่วมซื้อบ้าน คือ การร่วมเซ็นสัญญายื่นกู้ทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน ซึ่งการกู้ร่วมนี้ผู้ที่ทำการกู้ร่วมกันจะต้องเป็น…

  1. คนที่มีนามสกุลเดียวกัน เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ลูก
  2. พี่น้องท้องเดียวกันแต่คนละนามสกุล แต่ต้องแสดงทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรที่ระบุว่ามีพ่อแม่คนเดียวกัน
  3. สามี-ภรรยาที่แต่งงานกันทั้งแบบที่จดทะเบียนหรือไม่ได้จดทะเบียน แต่ต้องแสดงหลักฐานการเป็นสามี-ภรรยากัน เช่น รูปแต่งงาน หนังสือรับรองบุตร การ์ดแต่งงาน เป็นต้น
  4. คนที่เป็นแฟนกัน เช่น ชาย-หญิง ที่ยังไม่ได้แต่งงาน, กลุ่ม LGBTQ+ (เงื่อนไขเป็นไปตามที่แต่ละธนาคารกำหนด)

ซึ่งการกู้ร่วมนี้ถือเป็นการแสดงให้ทางธนาคารเห็นว่า ผู้ร่วมรับภาระหนี้มีความสามารถทางการเงินเพียงพอ ที่จะผ่อนชำระเงินต้น และดอกเบี้ยคืนได้ตามสัญญานั่นเอง

การกู้ร่วมไม่ใช่การค้ำประกัน

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การกู้ร่วมคือการค้ำประกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมีความแตกต่างกัน คือ 

การค้ำประกัน – บุคคลที่ทำการค้ำประกันนั้นจะต้องเป็นผู้ชำระหนี้แทน หากผู้ขอกู้ผิดสัญญาตามที่ธนาคารระบุไว้ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันหรือไม่ก็ได้

การกู้ร่วม – เป็นการกู้ซื้อร่วมกัน ดังนั้นผู้ที่กู้ร่วมจะต้องทำการผ่อนชำระร่วมด้วย หรือในบางกรณีอาจกู้ร่วมแต่เพียงในนามเท่านั้น เพื่อให้คุณสมบัติของผู้ที่กู้ซื้อบ้านตรงตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดไว้ โดยผู้กู้ร่วมจะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

คุณสมบัติของผู้กู้ร่วม

พื้นฐานคุณสมบัติของผู้กู้ร่วมที่ธนาคารส่วนใหญ่กำหนดไว้ จะมีดังต่อไปนี้

  • มีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่าระดับที่กำหนด ส่วนใหญ่ต้องไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ไม่ว่าจะเป็นผู้กู้หลักหรือผู้กู้ร่วม
  • ไม่ควรภาระหนี้มากเกินไป และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้
  • มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป
  • กรณีทำงานประจำต้องมีอายุงานไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  • กรณีประกอบธุรกิจส่วนตัวต้องดำเนินกิจการมาไม่น้อยกว่า 1 ปี
  • ต้องมีสัมพันธ์ระหว่างกันดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และต้องมีหลักฐานยืนยันตามที่ทางธนาคารกำหนด

128696978_m (1)

ข้อดีของการกู้ร่วม

  1. ขออนุมัติสินเชื่อกู้ซื้อบ้านได้ง่ายมากขึ้น จึงเหมาะกับคนที่ต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดที่มีสุขภาพการเงินที่ดี การกู้ร่วมก็จะช่วยทำให้มีความน่าเชื่อถือและอนุมัติผ่านได้ง่ายมากขึ้นด้วย
  2. ได้วงเงินที่สูงขึ้น หากมีผู้กู้ร่วม ฐานเงินเดือนของผู้กู้ร่วมก็จะถูกนำมาพิจารณาเพิ่ม จึงมีโอกาสได้วงเงินที่สูงขึ้นด้วย
  3. ไม่ต้องแบกภาระหนี้คนเดียว เพราะการกู้ร่วมเท่ากับว่ามีคนช่วยผ่อนชำระหนี้ หากวันหนึ่งเกิดขาดสภาพคล่องขึ้นมาก็ยังมีผู้ที่กู้ร่วมช่วยกันผ่อนชำระหนี้บ้านต่อได้

ข้อควรระวังของการกู้ร่วม

แม้วิธีการนี้จะมีข้อดี แต่ก็มีสิ่งที่ควรต้องทำความเข้าใจก่อนด้วยเช่นกัน เพราะมีโอกาสเกิดผลเสียตามมาภายหลังได้ โดยสิ่งที่ต้องระวัง และพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจกู้ร่วมซื้อบ้านนั้น มีดังต่อไปนี้

  1. อาจเกิดการผิดใจกันระหว่างสัญญาได้ เช่น เกิดการเลิกรากันระหว่างคู่รัก จนทำให้ไม่อยากรับผิดชอบร่วมกันต่อ หรืออาจมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดมีปัญหาทางการเงิน ทำให้ภาระทั้งหมดตกเป็นของอีกฝ่ายได้ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น ก็อาจทำให้แบกภาระชำระหนี้ต่อไม่ไหว จนจำเป็นต้องถอนการกู้ร่วม หรือถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จำเป็นต้องขายบ้านทิ้งในที่สุด
  2. เมื่อกู้ร่วมแล้วอาจทำให้การกู้ครั้งต่อไปยากขึ้น ในกรณีการกู้ร่วมแบบคนในครอบครัว  พี่น้อง เมื่อกู้ร่วมผ่าน ทั้ง 2 คนจะถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน ได้ใช้สถานะทางการเงินของตนเองเพื่อบ้านหลังที่กู้ร่วมกันไปแล้ว ซึ่งหากในเวลาต่อมา เมื่อต้องแต่งงานและมีความต้องการกู้ซื้อบ้านของตัวเองแยกออกไป สถานะทางการเงินในการกู้บ้านหลังใหม่นั้น ก็จะลดต่ำลง เพราะยังมีหนี้ติดค้างอยู่ที่บ้านหลังแรกที่ทำการกู้ร่วมกัน ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจกู้ร่วม จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ต้องมั่นใจว่าไม่มีแผนการกู้ซื้อทรัพย์อื่นๆ หรือบ้านหลังอื่นๆ อีก
  3. สิทธิ์การลดหย่อนภาษีจะถูกหารเฉลี่ย ประโยชน์ข้อหนึ่งจากการซื้อบ้านที่เราทุกคนทราบกันดีก็คือ ดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยนั้นสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่เมื่อเป็นกรณีการกู้ร่วมซื้อบ้านดอกเบี้ยที่จะนำไปหักลดหย่อนภาษีจะต้องถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วมด้วย
  4. ส่งผลต่อการขายหรือโอนได้ เนื่องจากเป็นการกู้ร่วมกัน หากต้องการขายหรือโอน จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ร่วมกู้ด้วย ซึ่งด้วยเงื่อนไขนี้ จึงทำให้หากผู้กู้ร่วมเกิดผิดใจกัน หรือผู้กู้คนใดคนหนึ่งต้องการขายบ้าน เพราะรู้สึกว่าผ่อนเองอยู่ฝ่ายเดียว ผ่อนต่อไม่ไหวแล้ว ก็จะไม่สามารถทำได้ หากผู้ร่วมกู้อีกฝ่ายไม่ให้ความยินยอม

จะเห็นว่า การกู้ร่วมซื้อบ้านก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้สามารถซื้อบ้านได้ในวงเงินที่สูงขึ้น มีคนช่วยผ่อนชำระทำให้ไม่หนักจนเกินไป อีกทั้งขออนุมัติสินเชื่อได้ง่าย แต่ก็ยังมีข้อควรระวังอีกมากมายหลายข้อที่ต้องทำการศึกษาและนำมาประกอบการพิจารณาว่า ควรจะทำเรื่องกู้ร่วมดีหรือไม่ 

โดยเฉพาะกลุ่มคู่รักที่อาจมีสิทธิ์มีปัญหาเลิกรากันไป ต่อไปจะต้องทำอย่างไร หรือถ้าจะกู้ร่วมกันนั้นควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ Dot Property เคยนำเสนอไว้แล้วในบทความ