กู้ร่วมซื้อบ้าน…กฎหมายว่าไง..?

การกู้ร่วม เป็นทางออกหนึ่งของผู้ที่ต้องการกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะ เพื่อนำไปซื้อบ้าน แต่มีฐานรายได้ไม่เพียงพอ หรือคุณสมบัติไม่ครบถ้วนในการกู้เงินกับสถาบันการเงิน จึงต้องหาคนอื่น อีกคน หรือหลายคนมากู้ร่วมกัน ทำให้สามารถกู้เงินในวงเงินที่ต้องการได้

           การกู้ร่วม ตามกฎหมาย ผู้กู้ร่วมทุกคนจะอยู่ในสถานะ “ลูกหนี้ร่วม” ผู้กู้ร่วมทุกคนจึงมีสิทธิในทรัพย์สินร่วมกัน หรือที่เรียกว่า “กรรมสิทธิ์รวม” หรือถ้าจะพูดให้ง่าย คือ มีสิทธิในความเป็นเจ้าของเท่าๆกัน หากเป็นการกู้ไปซื้อบ้าน ก็จะมีสิทธิในบ้านเท่าๆกัน ยกเว้นว่าจะตกลงให้กรรมสิทธิ์เป็นของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

           นอกจากกรรมสิทธิ์ที่มีร่วมกันแล้ว ผู้กู้ร่วมทุกคนจะมีภาระในหนี้เงินเท่าๆกัน หากผู้กู้ร่วมคนหนึ่งหนีหนี้ ผู้กู้ร่วมคนอื่นๆจะต้องรับภาระหนี้ที่เหลือ ตามหลักลูกหนี้ร่วมในมาตรา 291 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติไว้ ดังนี้

“ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนอง ซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียวก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง หรือแต่ โดยส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคน จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง”

           หมายความว่า ผู้กู้ร่วมจะต้องร่วมรับผิดชำระหนี้แก้เจ้าหนี้ จนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมดแก่เจ้าหนี้ และต้องร่วมกันรับผิด หรือรับผิดแทนกัน ดังตัวอย่างที่ได้กล่าวข้างต้น กรณีมีผู้กู้ร่วมคนหนึ่งไม่ยอมชำระหนี้ นอกจากนั้น เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้กู้คนหนึ่ง หรือทั้งหมดให้ร่วมกันชำระหนี้ได้ โดยจะให้ชำระทั้งหมด หรือบางส่วน แล้วส่วนที่เหลือไปเรียกเอากับผู้กู้คนอื่นก็ได้

           อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้กู้ร่วมคนใดคนหนึ่งชำระหนี้จนครบถ้วนแล้ว ผู้กู้คนนั้นสามารถไล่เบี้ยเรียกเงินเอาจากลูกหนี้ร่วมด้วยกันได้ ตามมาตรา 296 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดไว้ ดังนี้

“ในระหว่างลูกหนี้ร่วมกันทั้งหลายนั้น ท่านว่าต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆกัน เว้นแต่จะได้กำหนดเป็นอย่างอื่น ถ้าส่วนที่ลูกหนี้ร่วมกันคนใดคนหนึ่งจะพึงชำระนั้น เป็นอันจะเรียกเอาจากคนนั้นไม่ได้ไซร้ ยังขาดจำนวนอยู่เท่าไร ลูกหนี้คนอื่นๆซึ่งจำต้องออกส่วนด้วยนั้นก็ต้องรับใช้ แต่ถ้าลูกหนี้ร่วมกันคนใด เจ้าหนี้ได้ปลดให้หลุดพ้นจากหนี้อันร่วมกันนั้นแล้ว ส่วนที่ลูกหนี้คนนั้นจะพึงต้องชำระหนี้ก็ตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้ไป”

           ด้วยสถานะความเป็นลูกหนี้ร่วม ทำให้การกู้ร่วมมีความเสี่ยงมาก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น การเลือกคนที่จะมากู้ร่วมจึงควรเลือกคนที่สนิท และไว้วางใจได้ หรือเป็นคนในครอบครัว บางธนาคารจึงกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ร่วมจะต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเท่านั้น บางแห่ง ต้องเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน บิดามารดา สามีภริยา(ที่จดทะเบียนสมรส)เท่านั้น เพราะฉะนั้น ก่อนตัดสินใจกู้ร่วมจึงควรพิจารณาความเสี่ยงทั้งทางกฏหมาย ภาษี และทางการเงิน อย่างระมัดระวังนะค่ะ