ส่อง เมกะโปรเจกต์ 2 ล้านล้านบาท ตลอดปี 2561 จากรัฐบาล คสช

ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาล คสช ได้อนุมัติ โครงการขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านล้านบาท  โดยทางคมนาคมกระทรวงเศรษฐกิจ จัดเม็ดเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เรียกว่าเป็นปีที่เร่งสปีดผลงานกันอย่างเต็มสูบ โดยไปดูกันว่า ปี 2561ที่ผ่านมานี้มีโครงการอะไรน่าสนใจบ้าง

โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2

คสช

มาดูโปรเจ็กต์ร้อนแรงแห่งปีของคมนาคม ที่เรียกเสียงวิจารณ์จากสังคมมากที่สุดตลอดปี ต้องยกให้กับ โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (เทอร์มินอล 2) มูลค่าก่อสร้าง 35,000 ล้านบาท ของ บมจ.การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) กระแสวิจารณ์ถูกจุดพลุหลัง “ทอท.” ประกาศผลให้กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก-อีเอ็มเอส-เอ็มเอชพีเอ็ม-เอ็มเอสเอ-เออาร์เจ หรือกลุ่ม “ดวงฤทธิ์ บุนนาค” เป็นผู้ชนะฟาวล์การออกแบบ หลังผู้ได้คะแนนสูงสุดไม่ได้แนบ “ต้นฉบับใบเสนอราคาที่ได้รับจากทาง ทอท.” ตามที่ระบุ

ขณะที่แบบของ “กลุ่มดวงฤทธิ์” ที่ใช้โครงสร้างไม้เป็นหลัก หลังปรากฏสู่สายตาสาธารณชน มีเสียงดังกระหึ่มถึงการดีไซน์ที่ไปละม้ายคล้ายกับโมเดลศาลเจ้าแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นและจีน อีกทั้งยังถูกถล่มปมที่ใช้ไม้จะทำให้เกิดการติดไฟได้ง่าย และบานปลายนำไปสู่การวิพากษ์การเสกเทอร์มินอลของ ทอท. ทำให้แผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิผิดเพี้ยน

แม้ ทอท.ยืนกรานแต่เสียงทักท้วงยังไม่คลี่คลาย ทำให้ ทอท.ขอความเห็นจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ล่าสุด บอร์ด ทอท.ระบุ ICAO ยืนยันการดำเนินเป็นไปตามแผนแม่บท จึงมีมติให้ ทอท.เดินหน้าโครงการนี้ต่อ เพื่อความรอบคอบให้หารือคณะกรรมการ Airport Consultative Committee (ACC) มีสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินเป็นกรรมการให้ความเห็นและพิจารณาความเหมาะสมของขนาดอาคารให้สอดคล้องรับกับดีมานด์ต่อไป

เร่งด่วนปี 2561 ทั้งบก ราง น้ำ อากาศ จัดเซตไว้ 44 โครงการ

คสช

เจ้ากระทรวง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” นับว่าเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีรัฐบาล คสช.ที่ขาเก้าอี้เสริมเหล็ก นั่งมานานร่วม 4 ปี นับจากก้าวแรกเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการวันที่ 30 ส.ค. 2557 และได้ขยับขึ้นเบอร์หนึ่งเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2558 แทน “บิ๊กจิน-พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” ใน 3 ปี “อาคม” มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงถึง 3 คน ล่าสุด “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” อดีตซีอีโอ ปตท. ที่คุมทางน้ำ อากาศ ทางด่วนและระบบราง ตลอดปีที่ผ่านมา “อาคม” เดินสายลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก จดใต้

ไม่เว้นแม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์ เอกซเรย์งานทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่การปลูกต้นไม้ใบหญ้า จนมีฉายาประจำตัว “รัฐมนตรีที่ขยันที่สุดในปฐพี” ขณะที่งานโครงการขนาดใหญ่ในแผนเร่งด่วนปี 2561 ทั้งบก ราง น้ำ อากาศ จัดเซตไว้ 44 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 2 ล้านบาท ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย ต้องยกยอดมาผลักดันกันต่อในปี 2562

ปิดดีลยักษ์ 2 แสน ล.ส่งท้ายปี

คสช

ปิดท้ายกับโปรเจ็กต์ยักษ์ที่ลุ้นกันตั้งแต่เปิดตัวโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท ที่แปลงร่างมาจากรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง มีการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นแม่งาน โดยรัฐบาล คสช.หวังจะใช้รถไฟความเร็วสูงสายนี้จุดพลุแจ้งเกิดอีอีซี และนับว่าเป็นโครงการที่เนื้อหอมไม่น้อย

มีเอกชนไทยและต่างประเทศมาซื้อซองประมูลมากถึง 31 ราย ช่วงฟอร์มทีมยื่นประมูล เรียกว่า ฝุ่นตลบพอสมควร เพราะมีหลายข่าว หลายกระแสจับคู่จับกลุ่มกันอลหม่าน จนมาหยุดสุดท้ายที่ 2 กลุ่มทุนยักษ์ “กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร” และ “กลุ่มบีเอสอาร์” มีบีทีเอสเป็นหัวหอก ตบเท้ายื่นซองประมูลในวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา

ส่วน “กลุ่ม ปตท.” ที่มาแผ่วปลาย ถอย 1 ก้าวไปตั้งหลักขอเวลาศึกษาเทคนิคและรูปแบบธุรกิจ รอร่วมทุนกับผู้ชนะภายหลังผลพิจารณาขับเคี่ยวมาถึงซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคาที่มีเงื่อนไขผู้เสนอให้รัฐสนับสนุนน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 119,425 ล้านบาท

โดยผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นตัวตั้ง คือ กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร ประกอบด้วย

  • บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ถือหุ้น 70%
  • บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 5%
  • บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น (CRCC) 10%
  • บมจ.ช.การช่าง กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 15%

ขอเงินสนับสนุนจากรัฐคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 117,227 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเพดาน ครม. 2,198 ล้านบาทและต่ำกว่ากลุ่มบีทีเอส 52,707 ล้านบาท ที่เสนอขอให้รัฐสนับสนุน 169,934 ล้านบาท หากคิดเป็นจำนวนเงินรวมดอกเบี้ย 10 ปี ราคากลุ่ม ซี.พี.อยู่ที่ 149,652 ล้านบาท ต่ำกว่ากลุ่มบีทีเอสที่เสนอ 238,330 ล้านบาท อยู่ที่ 88,678 ล้านบาท เพื่อให้การเซ็นสัญญาเป็นไปตามแผนวันที่ 31 ม.ค. 2562 ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.คณะกรรมการคัดเลือกจะเจรจากลุ่ม ซี.พี.ในรายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงข้อเสนอพิเศษในซองที่ 4 ให้ข้อสรุปสุดท้ายที่ “วินวิน” กันทั้งคู่เป็นการพิจารณารวดเร็วสมกับชื่อโครงการไฮสปีดเทรน ส่วนราคาจะถูกจริงอย่างที่ปรากฏคงต้องดูกันต่อไปยาว ๆ เพราะเป็นโครงการใหญ่ที่ไม่หมูอย่างที่คิด !

 

ที่ดินทำกิน

รัฐให้ของขวัญรับปีใหม่ จัดสรร ที่ดินทำกิน ให้ประชาชน  รวมกว่า 4 แสน 7 หมื่น 3 พันไร่

 

ทางด่วน

รัฐขยายสัมปทาน ทางด่วน เพิ่ม 37 ปี แลกยุติข้อพิพาทลงทุน 4 หมื่นล้าน

 

 

ที่มา  prachachat.net

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก