จ่าย “หนี้บ้าน” ครบก่อนกำหนด…ทำไมต้องเจอเบี้ยปรับ…?

จะอะไรกันนักหนา….เวลาจะซื้อบ้าน ก็ต้องมานั่งปวดหัวกับ “การยื่นกู้”แล้ว ทีนี้พอมีเงินเก็บแล้วอยากจ่ายให้หมดก่อนกำหนด ก็ดั๊น…ต้องมาเจอเบี้ยปรับอีก สงสัยมั้ยล่ะคะว่า…เป็นเพราะอะไรกัน…!!

ถ้าหากเป็นการชำระหมดภายใน 2-3 ปีแรกที่นับจากวันทำสัญญากู้ ก็มักจะต้องถูกปรับไปตามระเบียบ ซึ่งธนาคารแต่ละที่คิดค่าปรับในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่หากพูดถึงการคิดค่าปรับของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปนั้น จะคิดกันประมาณ ร้อยละ 2 ของวงเงินกู้

ตัวอย่างเช่น
กู้เงินมา 700,000 บาท ระยะเวลาที่อยากจ่ายหนี้ให้ครบคือภายใน 3 ปี ก็จะถูกเก็บเบี้ยปรับประมาณ 14,000 บาท

แต่สำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์แล้ว มีรายละเอียดการคิดอัตราเบี้ยปรับในกรณีชำระหนี้เสร็จก่อนกำหนด ดังนี้ค่ะ

ถ้าผู้กู้ที่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว และมีระยะเวลากู้มากกว่า 3 ปี หากขอชำระหนี้ปิดบัญชี หรือขอไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด จะคิดค่าเบี้ยปรับ ดังนี้

1. ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ทำสัญญากู้เงิน ร้อยละ 3 ของเงินกู้ตามสัญญา
2. ภายในระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่ทำสัญญากู้เงิน ร้อยละ 2.5 ของเงินกู้ตามสัญญา
3. ภายในระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ทำสัญญากู้เงิน ร้อยละ 2 ของเงินกู้ตามสัญญา

แล้วมันเพราะอะไรกันหล่ะ…ที่ต้องมาปรับเงินเราเพิ่ม…!!!

สาเหตุที่ธนาคารพาณิชย์ต้องคิดค่าปรับกับผู้กู้ในกรณีที่ชำระหนี้ครบก่อนกำหนดนั้น ก็เพราะว่าในการดำเนินการเพื่อประกอบการกู้ของธนาคาร มีค่าใช้จ่ายต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องของการออกเอกสาร, วิเคราะห์สินเชื่อ การจัดทำนิติกรรมหรือค่าบริหารงานอื่นๆต่างๆอีก ดังนั้น หากข้อตกลงคือ 10-25 ปี แล้วผู้กู้เปลี่ยนใจขอยื่นชำระให้หมดภายในระยะเวลาเพียง 1-3 ปี ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์เองไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายต่างๆที่เสียไปนั่นเองล่ะค่ะ

ดังนั้น คำแนะนำก็คือ ผู้กู้เองควรจะประมาณการณ์สถานะทางการเงินของเราและดูเงื่อนไขของสถาบันทางการเงินให้ดีเสียก่อน และผ่อนจ่ายตามกำหนดอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หากใครประเมินแล้วว่า เบี้ยปรับที่ต้องเสีย มันคุ้มค่ามากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนชำระเป็นเวลานาน ก็สุดแล้วแต่การตัดสินใจและการประเมินสถานะการเงินของแต่ละคนค่ะ

ที่มา : ธนาคารอาคารสงเคราะห์