ตลาดอสังหาฯ ยิ้มรับผลงานไตรมาส 3 หลังลุยเปิดตัวโครงการใหม่ คาดฟื้นตัวเต็มที่ครึ่งหลังปี 64

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ตลาดอสังหาฯ ต้องเจอกับวิกฤตต่าง ๆ มากมายที่ทำให้ยอดขายและการโอนบ้านแนวราบรวมถึงคอนโดมิเนียมโครงการต่าง ๆ ล้วนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยในส่วนของยอดโอนบ้านปรับตัวลงมาอยู่ในจุดต่ำสุดในไตรสมาสที่ 2 หรือลดลงประมาณ 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจในประเทศไทยต้องหยุดชะงัก จากมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคของทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการงดการเดินทางข้ามประเทศ จังหวัด หรือการปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือสถานบันเทิง ตลอดจนการห้ามไม่ให้ออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00 – 04.00 น. ซึ่งส่งผลอย่างกว้างขวางต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวลงเพราะขาดสภาพคล่อง จนส่งผลให้มีจำนวนผู้ว่างงานมากขึ้นกว่าในปีที่ผ่าน ๆ มา และเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนตามมาในที่สุด ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแม้ผู้บริโภคจะยังคงมีความต้องการในการซื้อบ้านหรือคอนโดโครงการใหม่อยู่ แต่ก็ไม่มีกำลังที่เพียงพอต่อการซื้อนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของมาตรการ LTV หรือมาตรการกำกับควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศใช้มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ซื้อบ้านหรือคอนโดโครงการใหม่เพื่ออยู่อาศัยจริง แต่ก็ยังคงมีผลเสียอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการกู้บ้านหลังที่ 2 โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการซื้อโครงการคอนโดมิเนียมเพื่อทำกำไร ที่มองว่ามาตรการดังกล่าวมีความเข้มงวดเกินไปและไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทิศทางของตลาดอสังหา ฯ จึงปรับตัวดิ่งลงตามปัจจัยทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้

01_โครงการใหม่_resize

ผู้พัฒนาทั้งรายเล็ก-ใหญ่ ปรับแผนกลยุทธ์ทางการตลาดหวังว่าจะรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้พัฒนาทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต่างก็มีการปรับแผนกลยุทธ์ทางการตลาดกันอย่างทั่วหน้า เพื่อหวังว่าจะรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ให้ได้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวโครงการบ้านแนวราบโครงการใหม่ และชะลอการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการในการอยู่อาศัยในบ้านแนวราบมากขึ้นสืบเนื่องจากปัจจัยการ Work From Home 

อย่างไรก็ดีการเปิดตัวบ้านแนวราบโครงการใหม่ของผู้พัฒนาแต่ละรายในตลาดอสังหาฯ นั้น ก็เริ่มส่งสัญญาณบวกมากขึ้นในไตรมาสที่ 3 ซึ่งมียอดการโอนบ้านมากขึ้น แม้จะยังไม่ดีขึ้นเท่ากับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็จะเห็นได้ว่าผู้พัฒนาสามารถปรับตัวให้ตอบรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

ส่วนในช่วงส่งท้ายปลายปีแบบนี้ก็จะเห็นได้ว่าผู้พัฒนารายต่าง ๆ เริ่มที่จะทำการจัดโปรโมชั่น เพื่อสร้างยอดขายและตุน Backlog ไว้เพื่อรับรู้รายได้ในช่วงปีหน้ากันอย่างดุเดือด ซึ่งนอกจากการทำโปรโมชั่นแล้ว การเปิดตัวโครงการใหม่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้ผู้พัฒนาทุก ๆ เจ้าสามารถทำเป้าหมายการโอนบ้านในปีหน้าให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้มากขึ้น โดยทั้งยอดขายและยอดโอนทั้งหมดจากการเปิดตัวโครงการใหม่ ทั้งโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมทั้งหมดนี้ จะส่งสัญญาณบวกที่ชัดเจนต่อไปในปี 2564 นั่นเอง

สำหรับแนวโน้มตลาดอสังหา ฯ ในปี 2564 ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นนี้ แม้จะยังไม่เทียบเท่ากับปี 2562 แต่ก็จะดีขึ้นจากปี 2563 อย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะมาจากปัจจัยในเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งแม้ว่าจะมีการฟื้นตัวช้าแต่ก็ยังมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังในการซื้อคอนโดและบ้านแนวราบโครงการใหม่ ๆ มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็คาดว่าในส่วนของสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด -19 จะเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดี จากการผลิตวัคซีนสำหรับการป้องกันเชื้อไวรัสได้สำเร็จ รวมถึงการผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้มาก ซึ่งก็หมายถึงยอดขายจากกลุ่มชาวต่างชาติที่จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

โดยในส่วนของแนวทางหรือกลยุทธ์ที่คาดว่าผู้พัฒนาจะนำมาใช้ในปี 2564 นั่นก็คือ การเปิดตัวบ้านแนวราบโครงการใหม่ ซึ่งยังถือเป็นกลยุทธ์หลักที่ต้องปรับให้ตรงกับไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตแบบปกติวิถีใหม่ (New Normal) ของผู้บริโภค ขณะที่ในส่วนของการเปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ แม้ผู้พัฒนาหลาย ๆ เจ้าเลือกที่จะเลื่อนออกไป แต่ก็ยังไม่ได้หมายความว่าจะไม่สนใจในตลาดกลุ่มนี้เลย โดยผู้พัฒนายังคงเน้นการใช้กลยุทธ์การเลือกเปิดตัวโครงการอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงดีมานด์และกำลังการซื้อของผู้บริโภคควบคู่กันไป

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/907162
https://www.mitihoon.com/2020/10/14/202501/
https://www.reic.or.th/News/RealEstate/442462
https://marketeeronline.co/archives/174546