ถอดบทเรียน ‘จีน’ การแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการเปลี่ยนเมืองเป็นฟองน้ำ

ปัญหาเรื่องน้ำในฤดูฝนของแต่ละพื้นที่ต่างก็หนักหน่วงอยู่ไม่แพ้กัน หลายประเทศเร่งแก้ปัญหาการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจบ้านเมืองน้อยที่สุด แต่ในหลากหลายการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ณ ปัจจุบันนี้มีวิธีการหนึ่งที่นับว่าน่าสนใจทีเดียว นั่นคือประเทศจีน

วิกฤตน้ำท่วมในจีน

อย่างแรกเรามาลองทำความเข้าใจกันดูก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมประเทศจีนถึงต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและมันร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน

  • ปี 2021 : นับเป็นสถานการณ์น้ำท่วมหนักในรอบ 1,000 ปี หลายมณฑลในภาคกลางและภาคตะวันออกเสียหายอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน ที่หลายคนอาจได้เห็นกันคือน้ำท่วมรถไฟใต้ดินจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 12 คน
  • ปี 2020 : มณฑลหูหนาน ภาคกลางมณฑลอานฮุย ภาคตะวันออกและมณฑลเจียงซีเกิดน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้คนติดอยู่ในอาคารบ้านเรือน
  • ปี 2016 : เกิดน้ำท่วมและดินถล่มจากฝนตกอย่างหนักที่ภาคเหนือและภาคกลางของจีน ทำให้ 10 มณฑลของจีนเสียหาย ผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 160 รายและสูญหายอีก 125 คน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่จีนจะต้องประสบกับปัญหาน้ำในฤดูฝน สาเหตุของการเผชิญกับฝนตกอย่างหนักจนไม่สามารถจัดการน้ำได้ทันนี้สามารถกล่าวได้ว่าเป็นเพราะโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศสุดขั้ว แม้ว่าจะไม่มีการรับรองที่แน่นอนว่าเกิดจากสาเหตุนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงเลี่ยงไม่ได้ว่าโลกจะได้บันทึกพายุที่รุนแรงมากขึ้นในทุกๆ ปี หากไม่มีการแก้ไขที่ยั่งยืน

รับมือวิกฤตด้วย เมืองฟองน้ำ

หากไม่กล่าวกันถึงเรื่องน้ำท่วม แผ่นดินที่กว้างใหญ่อย่างจีนยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องสภาพอากาศและทรัพยากรอีกมากมาย ดังนั้นในการแก้ปัญหานี้พวกเขาจึงมุ่งเน้นไปที่การมองภาพรวม ไม่ได้มองว่าน้ำคือศัตรูที่ต้องจัดการ แต่มองว่ามนุษย์ควรอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้

ศาสตราจารย์ Kongjian Yu นักออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบพื้นที่ชุ่มน้ำคือผู้ริเริ่มคิดเรื่องการผูกมิตรและอยู่ร่วมกับน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการออกแบบเมืองฟองน้ำ หรือ Sponge city

เมืองฟองน้ำเป็นการออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง สวนสาธารณะ เรียกว่าสิ่งแวดล้อมทุกอย่างให้สามารถดูดซึมน้ำ กักเก็บน้ำและใช้ประโยชน์จากน้ำได้ หรือในอีกมุมหนึ่งก็คือการพากลไกธรรมชาติกลับเข้ามาในเมืองใหญ่มากขึ้น จากนั้นก็สร้างท่อและบ่อพักน้ำใต้ดินเพื่อการระบายน้ำส่วนเกินไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติที่ใหญ่กว่าเสริมเข้ามาแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน

รูปภาพจาก https://www.chapmantaylor.com/insights/what-are-sponge-cities-and-why-are-they-the-future-of-urban-design
รูปภาพจาก https://www.chapmantaylor.com/insights/what-are-sponge-cities-and-why-are-they-the-future-of-urban-design

เมื่อพื้นที่เมืองใหญ่สามารถรองรับและระบายน้ำได้ดีมากขึ้น ปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังก็จะหมดไปและยังเป็นการสร้างชุมชนที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยมากขึ้นเข้ามาเพราะการสร้างเมืองฟองน้ำนั้นคือการให้ความสำคัญกับธรรมชาติสีเขียวมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวนสาธารณะเพื่อรองรับน้ำฝนหรือการสร้างกำแพงสีเขียว อาคารสีเขียว เพื่อให้พืชเข้ามาช่วยดูดซึมน้ำและคอยรักษาความชุ่มชื้นเอาไว้อีกแรง

รูปภาพจาก https://www.chapmantaylor.com/insights/what-are-sponge-cities-and-why-are-they-the-future-of-urban-design
รูปภาพจาก https://www.chapmantaylor.com/insights/what-are-sponge-cities-and-why-are-they-the-future-of-urban-design

โดยการพัฒนาเมืองครั้งนี้ทางภาครัฐและภาคเอกชนของจีนได้ร่วมกันใช้เงินลงทุนมหาศาลเปลี่ยนเมืองใหญ่กว่า 30 แห่งให้กลายเป็นเมืองฟองน้ำ เพราะการสร้างเมืองฟองน้ำนอกจากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้แล้วยังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ด้วย จีนจึงวางแผนเอาไว้ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าจะมี 600 เมืองใหญ่ที่จะเริ่มดำเนินการตามแนวคิดนี้

ผลการใช้งานเมืองฟองน้ำ

แม้ว่าแนวคิดของการเปลี่ยนเมืองคอนกรีตที่ไม่ซับน้ำให้กลายเป็นเมืองฟองน้ำจะฟังดูดีในระยะยาวแต่ทุกวันนี้หลายเมืองในประเทศจีนยังคงต้องเผชิญกับภัยพิบัติน้ำท่วมและดินถล่มจากฝนที่ตกหนักมากขึ้นทุกปี จึงทำให้อดมีคำถามขึ้นมาไม่ได้ว่าเมืองฟองน้ำนี้จะสามารถแก้ปัญหาให้กับจีนได้อย่างที่คิดกันหรือไม่

แต่ถึงอย่างนั้นแล้วก็ยังปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแนวคิดเมืองฟองน้ำนี้สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำของจีนได้อย่างครอบคลุมที่สุดแล้ว บางทีเรื่องนี้เราอาจจะต้องคอยดูกันไปในระยะยาว เพราะหากเราสังเกตดูเวลามีข่าวเกี่ยวกับน้ำท่วม เราจะไม่ได้ยินชื่อของเมืองใหญ่เช่น เซี่ยงไฮ้ที่เปลี่ยนเมืองเป็นเมืองฟองน้ำไปแล้วกันเลย