ถอดบทเรียน ‘ญี่ปุ่น’ การแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยอุโมงค์ยักษ์

กล่าวกันถึงเรื่องภัยธรรมชาติ คงไม่มีใครไม่นึกถึงญี่ปุ่น และหากกล่าวกันถึงเรื่องการรับมือภัยธรรมชาติก็คงต้องนึกถึงญี่ปุ่นกันอีกเช่นเคย เพราะประเทศนี้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยม สิ่งก่อสร้างหรือสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างที่วางตั้งอยู่ในเมืองล้วนมีการออกแบบให้ประชาชนชาวเมืองสามารถรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างดีเยี่ยม และความโดดเด่นในด้านการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเช่นนี้ ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จมากทีเดียว

การเผชิญภัยน้ำท่วมอย่างหนักหน่วงของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทิศทางของพายุเลยก็ว่าได้ โดยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคมจะเป็นฤดูที่มีพายุเข้าและพีคสุดเลยในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน โดยในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2018 ถึงเดือนตุลาคมในปีเดียวกันก็เจอไปแล้ว16 ลูก เราลองมาดูเหตุการณ์เผชิญไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นกันดูครับ

Another Hiroshima 

ในปี 1945 หลังจากญี่ปุ่นโดนระเบิดในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ 42 วันก็ต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นมาคุระซากิเพราะมีจุดเริ่มต้นที่เมืองมาคุระซากิในวันที่ 17 กันยายน โดยในตอนที่เมืองฮิโรชิม่าโดนระเบิดนั้นมีสะพานหลายเส้นที่อยู่รอดไม่พังทลายแต่ด้วยแรงของไต้ฝุ่นมาคุระซากิทำให้ทั้งเมืองต้องกลับมาเป็นอัมพาตกันอีกครั้ง จึงเรียกกันว่า Another Hiroshima โดยในครั้งนั้นมีผู้สูญหายและเสียชีวิตรวมกว่า 3,756 รายนับว่ามีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของไต้ฝุ่นที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญมาเลยทีเดียว(อันดับ 1 เกิดในปี 1934 ชื่อว่าไต้ฝุ่นมุโรโตะ)

ไต้ฝุ่นแคธลีน ในปี 1947

ในวันที่ 16 กันยายน 1947 ญี่ปุ่นเผชิญกับไต้ฝุ่นอีกหนึ่งลูกใหญ่ที่พังแนวดินกั้นน้ำของแม่น้ำโทเนะเสียหาย โดยแม่น้ำสายนี้เป็นส่วนหนึ่งของโตเกียว ดังนั้นจึงทำให้ย่านคันโตะและโตโฮกุในโตเกียวเสียหายอย่างหนัก ครั้งนั้นโตเกียวเผชิญน้ำท่วมอยู่ 5 วัน

ซูเปอร์ไต้ฝุ่นไอดา ในปี 1958

ในวันที่ 26 กันยายน 1958 ญี่ปุ่นได้เผชิญกับซูเปอร์ไต้ฝุ่นไอดาที่พัดหอบเอาทั้งฝนและลมขึ้นมาพัดจนสร้างความเสียหายไปทั้งโตเกียว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มมากกว่า 1,900 แห่ง ประชาชนกว่า 5 แสนคนไร้ที่อยู่อาศัยและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,200 ราย

เรียกว่าญี่ปุ่นได้เผชิญความเสียหายมากมายติดกันมาโดยตลอดจนได้ออกกฎหมายเพื่อรองรับและหาวิธีรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการสร้างอุโมงค์คัสสึคาเบะด้วย

อุโมงค์คัสสึคาเบะ

แนวคิดของการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำนี้เรียกว่าชัดเจนกันในปี 1992 และลงมือก่อสร้างกันในปี 1993 โดยครั้งนี้ญี่ปุ่นลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาทเพื่อบรรเทาและรับมือกับภัยน้ำท่วมที่อาจจะมาถึงในทุกเดือนกันยายนของทุกปี 

Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel

13 ปีต่อมา ในปี 2006 อุโมงค์คัสสึคาเบะก็ได้ทำการเปิดใช้งานเป็นครั้งแรกด้วยความยาวประมาณ 6.3 กิโลเมตร และมีแทงค์พักน้ำ 5 แทงค์ด้วยความสูงแต่ละแทงค์ที่ 70 เมตร คอยเชื่อมกันและประสานการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเอโดะด้วยเครื่องสูบน้ำกำลัง 13,000 แรงม้าสามารถสูบได้ 200 ตันต่อวินาทีเลยทีเดียว โดยการระบายน้ำจะทำการควบคุมผ่านเจ้าหน้าที่อีกทีเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบริเวณชายฝั่ง

การสร้างอุโมงค์คัสสึคาเบะนี้ไม่ได้ใช้วัสดุเฉพาะหรือพิเศษแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นได้ด้วยการออกแบบสร้างธรรมดาเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นประสิทธิภาพของอุโมงค์ยักษ์แห่งนี้ก็ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถพากรุงโตเกียวให้รอดพ้นจากอุทกภัยมาได้หลายปีเลยทีเดียวซึ่งเห็นผลชัดเจนที่สุดคงจะเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากีบิส เมื่อปี 2019 ที่ความเสียหายนั้นเรียกว่าน้อยกว่าซูเปอร์ไต้ฝุ่นไอดาเป็นอย่างมากเลยทีเดียว

คุณคิดว่าอุโมงค์คัสสึคาเบะเพียงอย่างเดียวจะรับมือกับน้ำท่วมที่มากับไต้ฝุ่นรุนแรงได้หรือ 

แน่นอนว่า ไม่ใช่

การรับมืออุทกภัยของญี่ปุ่นนั้นอาศัยการประสานกับการวางผังเมืองและเสริมจุดระบายน้ำรอบเมือง ทั้งยังมีการออกแบบป้องกันน้ำท่วมอาคาร เพราะหลังจากการเผชิญกับภัยพิบัติมากมาย ญี่ปุ่นได้ออกกฏหมายข้อบังคับเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้นเรื่อยๆ 

นอกจากอุโมงค์คัสสึคาเบะแล้ว ปัจจุบันญี่ปุ่นยังมีอุโมงค์คันดะที่คอยระบายน้ำจากแม่น้ำคันดะซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายในโตเกียวลงสู่อ่าวโตเกียว นอกจากโตเกียวแล้ว เมืองโอซากาก็สร้างอุโมงค์ระบายน้ำนี้ด้วยเช่นกัน

ที่มา: ญี่ปุ่นกับการจัดการภัยพิบัติ: ‘1945-1959’ ช่วงเวลาที่น้ำท่วมบ่อยที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

61 ปี พายุไต้ฝุ่นไอดา บทเรียนของญี่ปุ่น สู่มาตรการป้องกันน้ำท่วมที่เป็นผล

“อุโมงค์น้ำยักษ์” แห่งโตเกียว เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ผล สร้าง 13 ปี งบ 70,000 ล้าน

‘อุโมงค์แม่น้ำคันดะ’ หนึ่งในระบบจัดการน้ำ’กรุงโตเกียว’