ทำความรู้จักกับระบบบำบัดน้ำเสียจากบ้านของเรา

เคยสงสัยกันไหมว่าน้ำเสียจากในบ้านจะถูกส่งไปที่ไหนต่อ…

ภายในบ้านทุกหลังจะมีส่วนหนึ่งที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนั่นคือ ระบบบำบัดน้ำเสียภายในบ้านซึ่งจะรับน้ำเสียที่เราใช้แล้วมาบำบัด ผ่านกระบวนการที่ทำให้น้ำสะอาดมากขึ้นเพื่อส่งกลับไปยังธรรมชาติ โดยวิธีการบำบัดนำ้เสียซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นน้ำจากห้องน้ำหรือห้องครัวเป็นหลักนี้จะถูกส่งออกไปสู่บ่อบำบัดที่ติดตั้งอยู่นอกบ้านใต้พื้นดิน เรามาดูกันดีกว่าว่าระบบบำบัดน้ำนั้นมีอะไรบ้าง

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบเก่า: บ่อเกรอะ บ่อซึม

ระบบบำบัดน้ำเสียแบบเก่าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและยังเป็นต้นแบบของการสร้างถังบำบัดสำเร็จรูปแบบใหม่นั้นจะเรียกกันว่า ระบบบ่อเกรอะบ่อซึม โดยจะมีลักษณะเป็นคอนกรีตสองถัง และแบ่งการทำงานเป็นบ่อเกรอะ 1 ถังและบ่อซึม 1 ถัง โดยจะทำงานดังนี้

Article15-2022บ่อเกรอะ

บ่อเกรอะคือด่านแรกที่จะรับสิ่งปฏิกูลจากภายในบ้านออกมา และมีหน้าที่เก็บสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นให้ย่อยสลายและตกตะกอนตามธรรมชาติ เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งปฏิกูลจะเริ่มตกตะกอนแยกชั้นระหว่างน้ำกับตะกอน น้ำที่อยู่ด้านบนก็จะถูกส่งออกไปหาบ่อซึมโดยมีท่อเชื่อมต่อกันไว้

บ่อซึม

บ่อซึมจะมีลักษณะเป็นรูอยู่รอบบ่อ เมื่อน้ำจากบ่อเกรอะไหลมาสู่บ่อซึมแล้วก็จะเริ่มซึมออกไปตามรูกระจายกลับสู่ธรรมชาติอย่างช้าๆ โดยความเร็วของการซึมนี้จะขึ้นอยู่กับสภาพของดินโดยรอบด้วย

ข้อดี-ข้อเสีย

ระบบบ่อเกรอะบ่อซึมจะมีข้อเสียหลักอยู่ที่ระบบการทำงานนั้นมีตัวแปรค่อนข้างเยอะ โดยเริ่มแรกหากติดตั้งบ่อเกรอะในพื้นที่ที่ชื้นเกินไปจะทำให้การทำงานของบ่อซึมกระจายน้ำออกได้ช้าลง ทำให้น้ำจากบ่อเกรอะไหลส่งมาไม่ได้ เมื่อบ่อเกรอะเต็มจะเป็นที่มาของปัญหาส้วมตัน ทำให้เราต้องเรียกรถดูดส้วมเข้ามา

อีกปัญหาหนึ่งก็คือการติดตั้งบ่อเกรอะบ่อซึมไม่ควรทำในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่ต้องใช้อุปโภคบริโภค เพราะแม้ว่าจะกลับสู่ธรรมชาติได้แต่น้ำจากบ่อซึมก็ไม่ใช่น้ำสะอาดอยู่ดี

ระบบบำบัดน้ำเสียที่นิยมในปัจจุบัน: ถังบำบัดสำเร็จรูป

ด้วยปัญหาการใช้งานของระบบบ่อเกรอะบ่อซึมทำให้มีการพัฒนาขึ้นมาเป็นถังบำบัดสำเร็จรูปซึ่งจะมีเพียง 1 ถังเท่านั้นโดยในตัวถังได้รวมเอาบ่อเกรอะและบ่อซึมไว้ด้านในเรียบร้อยแล้ว ทำให้ไม่เปลืองพื้นที่ติดตั้ง เรามาทำความรู้จักกับถังบำบัดสำเร็จรูปกันเถอะ

การทำงานของถังบำบัดสำเร็จรูป

ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปหรือ ถังแซท(Sats) นี้ จะบำบัดน้ำโดยใช้จุลินทรีย์ช่วยกำจัดตะกอนที่อยู่ในส่วนของบ่อเกรอะ โดยจะมีการทำงานคล้ายกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึมแต่น้ำที่ได้จากการบำบัดจะสามารถทิ้งลงท่อระบายน้ำสาธารณะได้ นอกจากนี้ยังไม่มีกากตะกอนของเสียสิ่งปฏิกูลเหลืออยู่ก้นถังด้วย โดยในปัจจุบันจะมีถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปให้เลือกสองแบบคือ

  • ถังบำบัดน้ำเสียแบบเติมอากาศ
  • ถังบำบัดน้ำเสียแบบไม่เติมอากาศ

วิธีการคำนวณเลือกถังบำบัดสำเร็จรูป

แน่นอนว่าการใช้ถังบำบัดน้ำเสียจะต้องเลือกขนาดที่เหมาะสมสามารถรองรับการใช้น้ำสำหรับทุกคนในบ้านได้ โดยจะมีสูตรการคำนวณดังนี้

ขนาดถังบำบัดน้ำเสีย(ลิตร) = จำนวนผู้อยู่อาศัย x 0.8(ปริมาณน้ำเสีย) x ปริมาณการใช้น้ำต่อคนต่อวัน(ลิตร) x 1.5(เวลาที่ใช้บำบัดน้ำ)

ตัวอย่างเช่น มีจำนวนผู้อยู่อาศัย 3 คน แต่ละคนใช้น้ำวันละ 200 ลิตร จะต้องใช้ถังบำบัดสำเร็จรูปขนาด (3×0.8x200x1.5) = 720 ลิตร

ข้อดี-ข้อเสียของถังบำบัดสำเร็จรูป

ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปเป็นถังที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนามาแล้วจึงสามารถบำบัดน้ำออกมาได้สะอาดกว่าโดยไม่เหลือตะกอนตกค้างอยู่ด้านใน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาในด้านการใช้งาน เพียงแต่ปัญหาจะไม่ใช่ถังเต็มอย่างบ่อเกรอะบ่อซึม แต่หากเกิดปัญหากดชักโครกไม่ลงส่วนใหญ่จะเป็นเพราะระบบท่อน้ำเสียมีสิ่งอุดตัน และหากมีกลิ่นเหม็นจากถังบำบัดก็สามารถคาดเดาได้ว่าเป็นเพราะจุลินทรีย์ในถังบำบัดไม่เพียงพอนั่นเอง สามารถเติมจุลินทรีย์เข้าไปเพิ่มได้แต่ไม่ควรใช้น้ำยาล้างห้อมน้ำหรือน้ำยาที่มีกรดหรือด่างแรงๆ ลงในชักโครกเพราะจะทำให้จุลินทรีย์ถูกทำลายได้