ยุคที่ไม่มีไฟฟ้าจะสร้างบ้านรับมือกับความหนาวอย่างไร ไปดูกัน

ความเปลี่ยนแปลงของอากาศมีมาตั้งแต่กำเนิดโลก ผู้คนในแต่ละที่ต่างก็ต้องพบเจอกับสภาพอากาศที่ต่างกันไปตามพื้นที่ซึ่งบางครั้งก็ไม่ใช่สภาพอากาศที่อ่อนโยนกับมนุษย์สักเท่าใดนัก ในอดีตจึงมีการคิดสร้างที่พักอาศัยที่สามารถป้องกันสภาพอากาศเหล่านั้นเพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย 

วันนี้ดอทจึงจะพาทุกคนไปดูโครงสร้างที่คนสมัยก่อนออกแบบขึ้นเพื่อป้องกันความหนาวเข้าบ้าน จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน

รูปทรงของหลังคา

ด้วยการเคลื่อนตัวของความร้อนที่มักจะลอยขึ้นสู่ที่สูง จึงมักจะไม่สร้างบ้านที่เพดานสูงมากนักแต่รูปทรงของหลังคาต้องสูงลาดเพื่อให้หิมะลื่นตกลงมาได้ง่าย เพราะในช่วงที่หิมะตกลงมาทับถมหลังคาบ้านจนเป็นชั้นหนาจะต้องมีการกวาดหิมะออกซึ่งหากหลังคาลาดชันไม่มากพอจะทำให้ระบายหิมะออกได้ยาก และหากโครงสร้างบ้านไม่แข็งแรงพอจะรับน้ำหนักของหิมะได้ก้อาจจะถล่มลงมาได้

ด้วย 2 ปัจจัยนี้เราจึงได้เห็นบ้านทางฝั่งตะวันตกหลายหลังมีการสร้างห้องใต้หลังคาเอาไว้ เพื่อป้องกันอากาศภายนอกทะลุเข้ามาสู่ภายในบ้านนั่นเอง ดังนั้นเราจึงได้เห็นว่าบ้านในพื้นที่หนาวเย็นมักไม่สร้างแบบเพดานสูงมากนักแต่รูปทรงหลังคาจะเป็นทรงสูงขึ้นไป

ผนังที่หนาขึ้นหรือสร้างผนัง 2 ชั้น

ผนังบ้านมีหน้าที่หลักคือการป้องกันอันตรายจากภายนอกเข้ามาสู่ภายใน แต่สิ่งหนึ่งที่ผนังป้องกันได้ไม่ทั้งหมดคืออากาศที่สามารถทะลุผ่านเข้ามาด้านในได้ หากคุณลองเอาตัวไปแตะผนังในช่วงที่แดดส่องจะรู้สึกได้ถึงผนังที่ร้อน เช่นกันกับฤดูหนาวที่ผนังจะเย็นขึ้น หากใครเลือกนอนใกล้ผนังก้จะได้สัมผัสอากาศด้านนอกก่อนใครแน่นอน

ดังนั้นในพื้นที่ที่อากาศหนาวเย็นจึงมีการสร้างผนังที่หนามากขึ้นหรือไม่ก็สร้างเป็นผนังสองชั้นเพื่อกั้นอากาศด้านนอกอันหนาวเย็นไม่ให้เข้ามาด้านในได้มากนัก เพราะความหนาวของบางพื้นที่เกินกว่าผนังปกติจะรับมือได้นั่นเอง 

ยกพื้นขึ้นจากดิน

ลักษณะหนึ่งของดินคือการดูดซับเอาความร้อนเย็นจากพื้นเอาไว้ทำให้พื้นบ้านที่ติดกับดินจะได้รับความเย็นจากพื้นได้โดยตรง บ้านในพื้นที่หนาวจึงมักมีการสร้างห้องใต้ดินเพื่อยกส่วนพักอาศัยหลักให้ขึ้นจากพื้น ซึ่งจะช่วยรักษาอุณหภูมิของบ้านให้คงที่ได้ง่ายขึ้นทั้งยังป้องกันความเย็นจากพื้นได้ไม่ต่างจากการสร้างผนัง 2 ชั้นนั่นเอง

ข้อดีอีกหนึ่งอย่างของการยกพื้นคือการได้พื้นที่ว่างในการเก็บของซึ่งทำให้สามารถแต่งและจัดการบ้านได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีสภาพอากาศที่แตกต่างกันมากทำให้ของใช้ต้องมีมากตามไปด้วยเพื่อปรับเปลี่ยนใช้งานตามความเหมาะสม

เปิดรับแสงแดดเต็มที่

บ้านในพื้นที่หนาวส่วนใหญ่มักมีการสร้างช่องรับแสงเอาไว้หรือสร้างหลังคาให้มีชายคาสั้นเพื่อเปิดบ้านให้รับแสงแดดอย่างเต็มที่โดยเฉพาะในฤดูหนาวเพื่อให้บ้านอบอุ่นมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นการรับแสงแดดนี้จะรับผ่านผนังหรือหน้าต่างมากกว่าเปิดรับตรงๆ เพื่อป้องกันอากาศที่หนาวเหน็บด้านนอก ช่องแสงนี้จึงต้องสามารถควบคุมเปิดปิดได้ด้วย

การสร้างที่พักอาศัยนั่นมีวิวัฒนาการใหม่เกิดขึ้นทุกยุคสมัยเลยทีเดียวเพื่อส่งต่อมายังปัจจุบันจึงได้มีการปรับเปลี่ยนมากมายผสานกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังได้เห็นโครงสร้างรูปแบบเดิมที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเพราะว่ารูปแบบที่สืบทอดมานั้นสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยอื่นๆ เช่นพลังงานไฟฟ้า

แต่ถึงอย่างนั้นการสร้างที่พักอาศัยสำหรับพื้นที่อากาศหนาวเย็นก็มีความต้องการมากกว่าพื้นที่เขตอยู่มากทั้งโครงสร้างที่แข็งแรงเพื่อรับน้ำหนักของหิมะ ผนังที่หนากว่าเพื่อกั้นอากาศด้านนอกและยังต้องยกพื้นเพื่อไม่ให้รับความเย็นจากดินโดยตรงทำให้มีต้นทุนในการสร้างสูงกว่าบ้านในสภาพอากาศเขตร้อนมากนัก