ภูมิศาสตร์เรื่องบ้าน สร้างบ้านริมแม่น้ำต้องคำนึงถึงเรื่องใดบ้าง

การพักผ่อนริมแม่น้ำนั้นนอกจากจะได้วิวผ่อนคลายแสนสวยและบรรยากาศดีๆ แล้วยังมีอากาศที่เย็นสบายให้เราพักผ่อนอย่งเต็มที่อีกด้วย ช่างเป็นที่พักอาศัยที่น่าสนใจมากเหลือเกิน เพียงแต่การสร้างที่พักอาศัยริมน้ำนั้นมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอยู่มากทีเดียวเพื่อให้ที่พักอาศัยนั้นปลอดภัย คงทนและแข็งแรงต่อการพักอาศัยอย่างแท้จริง

วันนี้ดอทจะพาทุกคนมาดูความแตกต่างของการสร้างบ้านริมน้ำ ว่าจะมีความแตกต่างหลักๆ เป็นอะไรบ้างที่เราควรรู้ก่อนจะสร้างบ้านริมน้ำขึ้นมา ไปดูกัน

โครงสร้างบ้านทนต่อความชื้น

บ้านริมน้ำโดยส่วนมากแล้วมักมีโครงสร้างส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำและโครงสร้างส่วนใหญ่ที่ต้องสัมผัสกับความชื้นตลอดวัน โดยส่วนใหญ่จึงใช้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กโดยต้องระวังเรื่องของเหล็กที่ใช้ต้องมีการเคลือบกันสนิมที่ได้คุณภาพ ส่วนเรื่องของปูนนั้นหากพื้นที่ที่สร้างไม่ได้เป็นน้ำกร่อยที่มีน้ำทะเลผสม เราสามารถใช้ปูนธรรมดาได้เลย แต่หากเป็นพื้นที่น้ำกร่อยจะต้องใช้ปูนเฉพาะที่เรียกว่า มารีน ซีเมนต์ ซึ่งทนต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเลได้มากกว่า

ยกใต้ถุนขึ้นสูงกว่าระดับน้ำ

ใครที่ต้องการสร้างบ้านริมน้ำคงไม่อยากให้บ้านที่เพิ่มสร้างต้องเผชิญกับน้ำท่วมบ้านเพราะน้ำขึ้นสูงอย่างแน่นอน โดยการสร้างบ้านที่ริมแม่น้ำอย่างนี้จะมีการใช้สูตรเพื่อคำนวณความสูงของบ้านว่าควรยกใต้ถุนขึ้นสูงเท่าใดตัวบ้านจึงจะปลอดภัย วิธีการคำนวณก็คือ ความลึกของระดับน้ำบวกกับความลึกของระดับน้ำเดิมคูณ 1.25 จะได้เป็นความยาวเสาเข็มที่จะทำแนวรั้วและค่าที่ได้ต้องไม่เกิน 10 เมตร

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่าบ้านริมน้ำส่วนใหญ่จะอยู่เหนือระดับน้ำขึ้นมาเล็กน้อยนั้นก็เพื่อรองรับช่วงเวลาที่เกิดลมพายุทำให้น้ำขึ้นสูงหรือมีคลื่นเกิดขึ้นด้วยนั่นเอง

รูปแบบเสาเข็ม

รูปแบบเสาเข็มของบ้านริมน้ำจะมีความพิเศษอยู่บ้างเพราะจะใช้เสาเข็มรูปตัวไอกันเสียส่วนใหญ่ ด้วยสาเหตุหลักคือเรื่องของการใช้งาน 

การใช้งานเสาเข็มรูปตัวไอนั้นไม่จำเป็นต้องขุดหรือเจาะดินออกก่อนก็สามารถตกเสาเข็มลงไปได้เลยเพียงกดด้วยแรงของเครื่องจักรเท่านั้น และยังมีร่องตรงกลางสามารถใส่แผ่นพื้นสำเร็จรูปได้ ปรับเปลี่ยนเป็นรั่วเพื่อป้องกันการพังทลายของดินได้ด้วย นอกจากนี้เสาเข็มรูปตัวไอยังรองรับน้ำหนักได้มากด้วยรูปทรงทำให้พื้นที่สัมผัสระหว่างดินกับเสาเข็มมีมากกว่าช่วยให้มีแรงเสียดทานสูง แม้จะเป็นดินเหนียวหรือดินตะกอนก็ตามและยังมีน้ำหนักเบาอีกด้วย

ทิศทางของแหล่งน้ำและแสงสะท้อน

สิ่งหนึ่งที่บ้านริมน้ำแตกต่างออกไปจากบ้านบนพื้นดินหรือบ้านในเมืองเลยก็คือที่วิวริมน้ำจะมีปัญหาเรื่องของแสงสะท้อนจากน้ำที่เจิดจ้าบอดตาอย่างมากหากไม่ระวังสร้างบ้านใกล้น้ำเกินไปแทนที่จะได้ที่พักผ่อนคลายสบายอารมณ์อาจทำให้กลายเป็นบ้านที่ร้อนอบอ้าวได้และยังต้องแสบตาอีกด้วย โดยวิธีป้องกันหากเกิดแสงสะท้อนน้ำก็คือเราสามารถหาอะไรมาบดบังก่อนเช่นการสร้างระแนงไม้ หรือการปลูกต้นไม้ก็ช่วยลดแสงสะท้อนและความร้อนได้บ้าง

นอกจากเรื่องของแสงสะท้อนน้ำแล้วยังควรใส่ใจในเรื่องของทิศทางที่จะพัดพาเอาลมเย็นเข้าบ้านด้วย ซึ่งหากตั้งหันน้ำไปยังทิศทางที่เหมาะสมจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของแสงสะท้อนได้บางส่วนและยังช่วยให้บ้านเย็นสบายโดยทิศที่แนะนำคือทิศใต้

ตรวจสอบดินและการกัดเซาะริมตลิ่ง

ปัญหาเรื่องดินและการกัดเซาะดินริมตลิ่งเป็นเรื่องสำคัญมากอย่างหนึ่งเพราะเป็นฐานของการสร้างที่พักอาศัย ซึ่งโดยส่วนากแล้วดินริมตลิ่งมักจะอ่อนตัว ไม่จับตัวเกาะกันมากนักพอโดนน้ำเซาะมากเข้าก็สามารถพังทลายได้ง่าย โดยเราต้องทำการตรวจสอบสภาพดินเท่านั้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการสร้างบ้านหรืออาคารริมน้ำมักจะต้องนำแนวรั้วป้องกันตลิ่งไว้ก่อนเพื่อป้องกันการพังทลายของดินนั่นเอง

ศึกษากฎหมายและข้อกำหนดให้แน่ชัด

ในการสร้างบ้านริมน้ำยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการศึกษาข้อกฎหมายและทำการสำรวจแนวเขตที่ดินให้ดีก่อนการตัดสินใจสร้าง เพราะหากมีความผิดพลาดอาจถูกร้องเรียนโดยกรมเจ้าท่าให้หยุดการก่อสร้างได้ เพราะการสร้างบ้านริมน้ำมีข้อที่ต้องคำนึงมากมายโดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการพักอาศัย ทั้งยังมีเรื่องของระยะถอยร่นอาคารที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ในเรื่องการก่อสร้างอาคารพื้นที่ติดแหล่งน้ำสาธารณะ

เห็นได้ชัดว่าการสร้างบ้านริมน้ำหรือบ้านในสภาพแวดล้อมพิเศษนั้นมีความยุ่งยากอยู่ไม่น้อยกว่าจะออกมาเป็นที่พักอาศัยที่ให้ความปลอดภัยแก่ผู้คนได้ แม้ว่าที่ดอทได้นำเสนอมานั้นจะเป็นเพียงหลักการเบื้องต้นของการสร้างบ้านริมแม่น้ำเท่านั้น แต่ก็หวังว่าจะสามารถช่วยให้ทุกคนได้มีความเข้าใจกับการสร้างบ้านริมน้ำได้มากขึ้นนะครับ