ลด ปล่อยกู้ บ้าน ราคาไม่เกิน 2 ล้านแบงก์ลุย ตลาดบน เสี่ยงต่ำ

ปล่อยกู้

ธปท.ห่วง”เอ็นพีแอล”  ที่อยู่อาศัย ยังเพิ่มต่อเนื่อง “แบงก์พาณิชย์”เบนเป้าลุย สินเชื่อบ้าน “กลุ่มบน”ราคา4 ล้านขึ้น  ลด ปล่อยกู้ กลุ่มล่างต่ำกว่า 2 ล้าน เหตุความเสี่ยงสูง

ขณะ ธอส.เน้นกลยุทธ์ดอกเบี้ยต่ำ ชิงผู้นำตลาดบ้านกลุ่มล่าง “กรุงศรี” เชื่อตลาดบนเริ่มแข่งเดือด ชี้กำไรน้อยแต่ความเสี่ยงต่ำ  ขณะ “ธนชาต” เน้นราคา 2 ล้านขึ้น ด้าน”ทีเอ็มบี”ลั่นพร้อมหั่นราคาสู้  “แบงก์ชาติ” ยอมรับสินเชื่อต่ำ 2 ล้านเริ่มแผ่ว ห่วงเอ็นพีแอล ที่อยู่อาศัยยังสูง

การแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อบ้านของธนาคารพาณิชย์ยังคงดุเดือดต่อเนื่องจาก ปีที่ผ่านมา ทั้งการใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการจัดโปรแกรมผ่อนชำระต่อเดือนน้อยใน ช่วงปีแรกๆ  ขณะที่หลายธนาคารมีนโยบายมุ่งจับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการซื้อบ้านในราคา ตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป ทำให้แนวโน้มการแข่งขันใน กลุ่มนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ “แอลเอชแบงก์” ประกาศนโยบายนี้ก่อน โดยจะลดการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้า กู้ซื้อบ้านราคาที่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท เพราะข้อมูลสถิติของธนาคารเป็น กลุ่มที่มี “ความเสี่ยง” โดยเฉพาะลูกค้าที่ซื้อบ้านในราคา 2-3 ล้านบาท จากภาระหนี้ที่มีสูง ทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้นตามไปด้วย

แม้จะมีคำยื่นขอกู้เข้ามามาก แต่ก็ไม่ผ่านการอนุมัติอยู่ดี ขณะที่ การผิดนัดชำระในรอบ 1 ปี ขยับขึ้นมา เป็น 1% แม้ว่าลูกค้าระดับกลาง หรือกู้ซื้อบ้านราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป กำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น)จะบาง แต่ความเสี่ยงต่ำกว่า การที่ธนาคารมีต้นทุน การเงินอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สามารถแข่งขันได้

ธนาคารรัฐเน้นแข่งดอกเบี้ยต่ำ

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัย ยังรุนแรงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เราพยายามคาดหวังให้การแข่งขัน ลดลงบ้าง แต่ยังไม่เห็นสัญญาณว่า จะลดลง เท่าที่ติดตามในวงการทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ยังคงให้เป้าสินเชื่อปีนี้โตสูงกว่าปีก่อนพอสมควร ยังใช้กลยุทธ์ดอกเบี้ยในการแข่งขัน และ นำตลาดอยู่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องพยายามรักษาฐานลูกค้าตัวเองไว้

“ปีนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงเหนื่อย ยังมีแรงกดดันเรื่องการแข่งขัน แต่ก็เป็นการเหนื่อยในแง่ที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ พอสมควร อย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรก น่าจะ เห็นอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ ต่อเนื่องจากปีก่อน เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ย อยู่ที่ 3% บวกลบ แล้วแต่กลุ่มของลูกค้า เรามองว่าการปรับดอกเบี้ยอาจจะเริ่มทยอยปรับได้ในช่วงครึ่งปีหลัง”

 

แบงก์หันเจาะตลาดบ้าน 4 ล้านขึ้น

สำหรับกลุ่มที่คาดว่าจะแข่งขันกันมาก ทุกคนกำลังมองไปยังกลุ่มที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 3-4 ล้านบาทขึ้นไป บางธนาคาร เลิกทำต่ำกว่า 4 ล้านบาท ทำให้กลุ่มราคา 4 ล้านบาทขึ้นไปน่าจะแข่งกันรุนแรง ซึ่งเป็นการขีดเส้นใหม่ จากเดิมพูดกันที่ บ้านต่ำ 3 ล้านบาทลงมา และสูงกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันใช้ระดับ 4 ล้านขึ้นไป

“มีอย่างน้อย 2 แบงก์แล้วที่ประกาศว่า จะไม่มุ่งเน้นบ้านราคาต่ำกว่า 4 ล้านบาท เพราะบ้านราคาต่ำกว่า 4 ล้านบาทมีความเสี่ยง ทำให้บ้านราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป สู้กันสุดตัว และแข่งขันกันรุนแรง มากขึ้น”

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกแบงก์ที่ปล่อยบ้านต่ำกว่าราคา 4 ล้านบาทแล้วมีความเสี่ยง เพราะแต่ละแบงก์กรองลูกค้าไม่เหมือนกัน และแม้ว่าจะเป็นบ้านราคาต่ำกว่า 4 ล้านบาทเหมือนกัน แต่ตลาดเป้าหมายไม่เหมือนกัน ของที่ลูกค้าซื้อก็ไม่เหมือนกัน บางคนจับ แบรนด์เนม บางคนจับแบรนด์ที่รองลงมา ดังนั้นแบงก์ขนาดกลางและเล็กที่อาจจะจับแบรนด์ใหญ่ยาก เลยไปจับแบรนด์รองก็อาจจะมีความเสี่ยง เลยหันมาหา 4 ล้านขึ้นไป เพราะราคานี้แบรนด์รองน้อย

‘กรุงศรี’ลุยตลาดบนลดเสี่ยง

ในส่วนของกรุงศรีก็เหมือนกับ ธนาคารอื่น ที่ต้องการจับกลุ่มลูกค้าระดับแบรนด์บน เพราะความเสี่ยงต่ำ คุณภาพดีกว่า และมีความยืดหยุ่นในการค้าขายต่อเนื่องมากกว่า ธนาคารคงพยายามรักษากลุ่มนี้ไว้ ขณะที่กลุ่มที่ต่ำกว่า 4 ล้านบาทลงไป เราไม่ได้ทิ้ง เพราะเราเป็นแบงก์ใหญ่จะเลือกที่รักมักที่ชังไม่ได้ ก็คงพยายามดูแลลูกค้าให้ทั่วถึง แต่อัตราดอกเบี้ยก็ต้องชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงกว่า เป็นแรงกดดันที่ทุกคนต้องเจอ

สถานการณ์เอ็นพีแอลสินเชื่อบ้าน น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เริ่มทรงตัว และปีนี้น่าจะปรับลดลงได้ ด้วยอัตราการเติบโตของสินเชื่อ ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อ สินเชื่อลดลงด้วย นอกจากนี้เอ็นพีแอล ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ปรับขึ้นทั้งระบบ แต่เป็นของบางสถาบันการเงิน ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจแย่ ในส่วนของกรุงศรีเราบริหารได้ดี ในช่วง 3 ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ปรับเพิ่ม ยังเป็นไปตามเป้าหมาย

‘ธนชาต’เน้นราคา 2 ล้านขึ้น

นายสุพจน์ สุขขะเสริมสุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเคหะ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า การแข่งขันสินเชื่อบ้านในปีนี้ยังแข่งกันแรงอยู่ ทางแบงก์รัฐ ยังใช้ดอกเบี้ยนำตลาด ธนาคารพาณิชย์ ก็ยังสู้เช่นเดียวกัน ซึ่งแนวโน้มการเติบโต ก็ปรับดีขึ้น ปีนี้ตลาดสินเชื่อบ้านน่าจะ มีการเติบโต 4-5% ในช่วง 2 เดือนแรกของ ปีนี้ สินเชื่อใหม่ก็ยังได้ตามเป้าหมายที่ ธนาคารตั้งไว้ น่าจะไปได้ดี โดยปีนี้ตั้งเป้าการเติบโต 20% ส่วนหนึ่งจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา โดยมีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.02 แสนล้านบาท

กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทุกธนาคารก็น่าจะมุ่งไปที่บ้านราคาตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป เพราะ ความเสี่ยงต่ำ ทำให้ควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ดี แต่สำหรับรายเล็กเราก็ยังทำปกติ ไม่ได้เปลี่ยนนโยบายว่าจะ ไม่ทำบ้านราคาที่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท แต่เราจะเน้นการให้บริการสำหรับกลุ่มราคา 2 ล้านบาทขึ้นไปมากหน่อย

“เราไปทุกกลุ่ม แต่แบงก์พาณิชย์ โดยทั่วไปจะไม่ค่อยทำบ้านราคา 2 ล้านบาทแล้ว เพราะกำไรไม่ค่อยมี จึงหันไปจับกลุ่ม บ้านที่ราคาสูงขึ้นไปอีกหน่อย ส่วนเอ็นพีแอล ธนาคารก็บริหารจัดการ ดูแลลูกค้ารายเก่า ให้ความช่วยเหลือ มีทีมบริการหนี้ช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อทำให้คุณภาพหนี้ดีขึ้น”

‘ทีเอ็มบี’ พร้อมหั่นดบ.แข่ง

นายรูว์ ไฮซแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า ประเมินการแข่งขันของสินเชื่อบ้านปีนี้ยังมีอยู่ และเป็นการแข่งขันด้วยอัตราดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารก็พร้อมที่จะลงไปแข่งขัน อย่างไรก็ตามธนาคารไม่ได้มองเรื่องราคาบ้านเป็นหลัก ว่าจะมุ่งเน้นทำกลุ่มระดับราคาเท่าใด แต่จะมองเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า เป็นหลัก ดูที่สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ เป็นต้น

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การเติบโตของสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเริ่มลดลง ต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีก่อนหน้า โดยในปี 2560 ขยายตัวเพียง 5.5% เทียบกับปี 2559 และ 2558 ที่เติบโต 6.9% และ 9.3% ตามลำดับ

 

ธปท.ชี้สินเชื่อบ้านต่ำ 2 ล้านแผ่ว

สินเชื่อกลุ่มที่เริ่มแผ่วลง คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยในกลุ่มระดับต่ำกว่า 2 ล้านบาทลงมา ส่วนกลุ่มที่ขยายตัวดีสุดเป็นกลุ่มระดับ 2-5 ล้านบาท ถัดไป คือ กลุ่มบ้านระดับ 5-10 ล้านบาท

นางสาวดารณี กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าว เก็บจาก ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบไม่รวมธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ(เอสเอฟไอ) จากข้อมูลที่มีสะท้อนว่า ธนาคารพาณิชย์ เริ่มกลับมาจับลูกค้าในกลุ่มเดิมของ ตัวเองมากขึ้น

“เดิมแบงก์จะเน้นกลุ่มลูกค้าใน ระดับกลางขึ้นไป ไม่ค่อยลงมาเล่นใน ตลาดล่าง เพราะเป็นตลาดของแบงก์รัฐ แต่มีช่วงนึงที่แบงก์ลงมาจับตลาดใน กลุ่มนี้ แล้วคุณภาพสินเชื่ออาจไม่ดีนัก ทำให้เขาเริ่มกลับมาสู่ตลาดเดิมของตัวเองมากขึ้น”

ห่วงสถานการณ์เอ็นพีแอลบ้าน

สำหรับคุณภาพสินเชื่อของกลุ่ม ที่อยู่อาศัยนั้น ยอมรับว่า ยังต้องติดตามดูใกล้ชิด เพราะถือเป็นกลุ่มที่น่าห่วงสุดเนื่องจากพบว่าช่วงที่ผ่านมา หนี้ไม่ก่อ ให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อ กลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก ล่าสุดของปี 2560 อยู่ที่ 3.23% เทียบกับปี 2559 อยู่ที่ 2.93%

ส่วนเอ็นพีแอลบ้านในกลุ่มไหนที่ เพิ่มขึ้นมากสุดนั้น เธอกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ตอบยากเพราะ ธปท. ไม่มีข้อมูลแยกตามกลุ่ม แต่ที่ผ่านมาได้พยายามสอบถามทางธนาคารพาณิชย์ว่า เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มไหน ซึ่งพบว่า ส่วนหนึ่งมาจาก รุ่นอายุที่เคยปล่อยสินเชื่อไปในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ โดยเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์แข่งขันกันปล่อยสินเชื่อในลักษณะ “teaser rate” คือ อัตราการผ่อนช่วงแรกต่ำ และปรับขึ้นในช่วง 3-5 ปีไปแล้ว ซึ่งพอหมดช่วงที่ผ่อนต่ำ ก็ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มเริ่มผ่อนต่อไม่ไหว

นอกจากนี้อีกส่วนยังเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางย่อม (เอสเอ็มอี) บางรายกู้ซื้อบ้านเพื่อมาทำสำนักงานออฟฟิศ เมื่อกิจการเอสเอ็มอี ไม่ดีจึงส่งผลกระทบต่อเอ็นพีแอลใน สินเชื่อบ้านด้วย แต่ในกลุ่มนี้เริ่มมีทิศทาง ที่ดีขึ้น จากธุรกิจเอสเอ็มอีที่ส่วนใหญ่ เริ่มฟื้นตัว

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ลงประกาศฟรี !!! ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย คลิ๊ก …

ขายคอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน กับ Dot Property ขายง่าย ขายไว หรือต้องการซื้อ-เช่า !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่