เบื้องลึก “ม.44” เขย่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บี้ “ช.การช่าง”

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,สถานีรถไฟฟ้า,รถไฟฟ้ามหานคร
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,สถานีรถไฟฟ้า,รถไฟฟ้ามหานคร
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,สถานีรถไฟฟ้า,รถไฟฟ้ามหานคร
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,สถานีรถไฟฟ้า,รถไฟฟ้ามหานคร

ในที่สุด “รัฐบาล คสช.” ต้องงัด ม.44 แก้ปัญหาการเดินรถ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย “บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค” หลังชักเย่อกันไปมาอยู่นาน

แม้ปัจจุบัน “สคร.-สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ” กำลังวิเคราะห์ข้อสรุปของ “คณะกรรมการมาตรา 35” ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เสนอเจรจาผู้เดินรถรายเดิม “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” ธุรกิจเครือ ช.การช่าง เพื่อเสนอคณะกรรมการ PPP อนุมัติ แต่ยังไม่ทันใจรัฐบาลทหาร

ปิดจุดด้อยรถไฟฟ้า 1 สถานี

ในเมื่อปัญหาการเดินรถเชื่อม 1 สถานี “เตาปูน-บางซื่อ” กำลังหลอนความรู้สึกของคนใช้รถไฟฟ้าที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐ เมื่อฝ่ายบริหารและข้าราชการบ่ายเบี่ยงจะใช้วิธีเจรจาเจ้าเดิมมาปลดล็อก หลังถูกจับตาจากหลายฝ่าย อาจจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิม

จึงไม่แปลก “รัฐบาล คสช.” ต้องใช้ “ม.44” มาปรับสปีดรถไฟฟ้า 1 สถานีที่เป็นฟันหลอของรถไฟฟ้า 2 สายให้วิ่งฉลุยโดยเร็ว แม้ขบวนรถจะไม่มาตามนัดวันเปิดสายสีม่วง “บางใหญ่-เตาปูน” วันที่ 6 ส.ค.นี้ทันที แต่ตั้งเป้าปลายปีนี้น่าจะวิ่งฉิว จากเดิม “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ประเมินไว้จะใช้เวลากว่า 1 ปีหรือต้นปี 2560

เพราะไส้ใน “ม.44” ระบุเวลาแต่ละขั้นตอนต้องแล้วเสร็จในกี่วัน ที่สำคัญยังคุ้มครองผู้ที่เซ็นชื่ออนุมัติไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย เป็นการปิดจุดอ่อนและยุติทุกอย่างจบเร็ว

รัฐเพิ่มอำนาจต่อรอง

อีกหนึ่งผลพลอยได้จาก”ม.44″ยาวิเศษของ คสช. นั่นคือการเขย่าสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงินทั้งสายเดิม 20 กม. 18 สถานี จะหมดอายุปี 2572 และต่อขยายใหม่ 27 กม. 21 สถานี ให้เป็นสัมปทานเดียวกัน ภายใต้เวลาและเงื่อนไขใหม่ที่เปิดทางเจรจา BEM เดินรถ 30 ปี ด้วยเม็ดเงินลงทุน 22,895 ล้านบาท ให้หมดอายุพร้อมกัน

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,สถานีรถไฟฟ้า,รถไฟฟ้ามหานคร01
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,สถานีรถไฟฟ้า,รถไฟฟ้ามหานคร01

ล่าสุด “บอร์ด รฟม.” กำลังพิจารณาหลักเกณฑ์เจรจา มี 3 ทางเลือก 1.หมดพร้อมสีน้ำเงินเดิมปี 2572 2.หมดพร้อมส่วนต่อขยายใหม่ปี 2592 และ 3.หมดในปี 2582 เพื่อไปสู่เป้าหมายให้การเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Oper-tion) เป็นวงกลมตลอดเส้นทาง 47 กม.โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องลงจากขบวนรถ จ่ายค่าโดยสารราคาถูกลง ที่สำคัญเปิดได้เร็วขึ้น 1 ปี จากเดิมปี 2562

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากเจรจา BEM รับสัมปทานเดินรถสายสีน้ำงินทั้งโครงข่าย ทำให้รัฐมีอำนาจเจรจาได้มากขึ้น ทั้งการแบ่งปันผลประโยชน์ ค่าโดยสาร ภาระค่าใช้จ่าย และผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับอย่างเป็นธรรมระหว่าง 2 โครงการที่ชัดเจน เช่น การแก้ไขค่าแรกเข้าที่จะต้องแก้สัญญาที่รัฐจะต้องเจรจา BEM เพราะมีผลต่อส่วนแบ่งรายได้ที่ รฟม.จะได้รับ

ล้างขาดทุนรถไฟฟ้าใต้ดิน

อีกทั้งจะทำให้ BEM ล้างขาดทุนสะสมกว่า 1 หมื่นล้านบาทของรถไฟฟ้าใต้ดิน เนื่องจากผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินตลอดเส้นทาง บริษัทที่ปรึกษาประเมินว่าเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 8 แสนเที่ยวคนต่อวัน หลังการเดินรถเป็นวงกลมจะทำให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้น อีกทั้งยังมีผู้โดยสารจากสายสีม่วงอีกกว่า 1.2 แสนเที่ยวคนต่อวันเข้ามาเติมสู่ระบบที่สถานีเตาปูนอีก ผลโดยอัตโนมัติเมื่อผู้โดยสารมากขึ้น จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นทั้งจากค่าโดยสารและการพัฒนาพื้นที่จากสถานีทั้ง 39 สถานี

“มีแนวโน้มที่เอกชนอาจจะเจรจาให้รัฐชดเชยรายได้ให้ เช่น ค่าแรกเข้าใช้สัมปทานเดิม 14 บาท อยู่ที่การเจรจา จะทำให้ยังไงให้วิน-วินด้วยกันทั้งรัฐและเอกชน” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ทั้งนี้แนวคิดการรวมสัมปทานสายสีน้ำเงิน อยู่ในแผนของ รฟม.จะเจรจากับ BEM หลังเปิดใช้สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 กำหนดจะเจรจาเอกชนจบก่อนหมดสัญญา 5 ปี เท่ากับในปี 2567 ทุกอย่างต้องจบ แต่เมื่อรัฐใช้ ม.44 ทำให้การเจรจาเร็วขึ้นก่อนกำหนด

ทุกอย่างจบใน 105 วัน

ด้าน “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เจ้ากระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ม.44 ทำให้การเดินรถสายสีน้ำเงินมีความชัดเจนและจบใน 105 วัน และไม่ได้เป็นการเริ่มต้นโครงการใหม่ ทางคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ต้องไปพิจารณาหลักเกณฑ์จะเจรจาเอกชน 30 วัน ส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาใน 15 วันหากไม่ทันสามารถขยายเวลาได้

“การทำสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงินเดิมและส่วนใหม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 และคณะกรรมการมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 กระทรวงตอบอะไรไม่ได้”

ถึง “อาคม” จะออกตัวว่า ไม่เข้าไปก้าวก่าย แต่ก่อนหน้านี้สมัยนั่งเป็นเลขาฯสภาพัฒน์ ยืนกรานมาตลอดให้เปิดประมูล ส่วนปัญหา 1 สถานีให้รวมกับสีน้ำเงินเดิม ส่วนสีน้ำเงินต่อขยายเริ่มนับหนึ่งที่เตาปูน

ยังต้องจับตาหลัง “รัฐบาล คสช.” หงายไพ่โดยใช้ ม.44 เป็นตัวเดินเกม จะจบเร็วอย่างหวังหรือยิ่งฉุดให้ช้าลง

เชื่อม 1 สถานี ใน 60 นาที

ในช่วงระหว่างรอ “คมนาคม” แก้ผ้าเอาหน้ารอดกับปัญหา 1 สถานีเพื่อรับเปิดสายสีม่วงวันที่ 6 ส.ค.ให้ประชาชนใช้ฟรีระบบขนส่งเสริม ทั้งรถเมล์ปรับอากาศวิ่งรับส่ง “สถานีเตาปูน-บางซื่อ” และรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ วิ่งจาก “สถานีบางซ่อน-บางซื่อ”

ถึงจะมีฟีดเดอร์มาเชื่อมให้ฟรี แต่ผู้ที่ใช้บริการต้องบริหารเวลาเปลี่ยนระบบให้ได้ใน 60 นาที เพื่อรับส่วนลดค่าแรกเข้า หากไม่ทันต้องจ่ายเพิ่ม 14 บาท

จากเดดล็อกของเวลา กลายเป็นจุดสุ่มเสี่ยงของคนใช้บริการ เมื่อสภาพพื้นที่และการจราจรอาจจะไม่เอื้ออำนวย หลังทดลองนั่งรถเมล์ที่ “รฟม.” จัดไว้ จาก “เตาปูน-บางซื่อ” ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ซึ่งยังไม่รวมเดินลงจากสถานีรถไฟฟ้าและรอคิวขึ้นรถเมล์

แต่ที่น่าจะฉิวเฉียดคือ ผู้นั่งรถใต้ดินมาลงบางซื่อจะไปต่อสายสีม่วง เพราะการจราจรเป็นแบบวันเวย์ในช่วงเร่งด่วน หากนั่งรถเมล์ต้องอ้อมผ่านแยกเทอดดำริ สะพานแดง ประชาชื่นเพื่อเข้าสู่สถานีเตาปูน ระยะทาง 5 กม. ใช้เวลา 20 นาที หากเป็นเวลาปกติ จะใช้เวลา 7 นาที เพราะสามารถใช้สะพานข้ามแยกตรงเอสซีจีได้

ส่วน “รถไฟดีเซลราง” อาจจะเสียเวลาเพราะต้องเดินลงจากสถานีบางซ่อนของสายสีม่วงไปยังสถานีบางซ่อนของรถไฟ อยู่ห่างไป100 เมตร ซึ่งใช้เวลา 10 นาที ยังไม่รวมเดินไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

นั่งวินมอเตอร์ไซค์แค่ 5 นาที

“อาคม” ย้ำว่า มอบกรมการขนส่งทางบกจัดเจ้าหน้าที่ดูการจราจรบริเวณสถานีเตาปูนไม่ให้ติดขัด และให้ รฟม. ติดป้ายบอกทางตั้งแต่ประตูรถไฟฟ้าเพื่อให้คนใช้ระบบฟีดเดอร์ มีรถเมล์ 15 คันบริการทุกวัน 06.00-24.00 น. และรถไฟ 56 ขบวน ตั้งแต่ 06.50-09.30 น. และ 16.30-20.30 น. ในวันจันทร์-เสาร์

“เวลาเร่งด่วนอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ อีกทั้งเวลาจำกัด 60 นาทีให้เข้าระบบ อาจทำให้คนใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพราะใช้เวลาแค่ 5 นาที แต่ต้องเสีย 20 บาท”

เข้าทำนองไม่อยากเสียเงินก็ต้องทำใจ อยากให้เร็วทันใจ ก็ต้องควักกระเป๋า แลกกับเวลาที่ไม่คอยท่า

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปจาก prachachat.net

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากซื้อ ขายบ้าน คอนโด หรือ ทาวน์เฮ้าส์ มือ1 มือ 2 สามารถเข้าดูได้เลยที่ https://www.dotproperty.co.th/