เปิดราคาประเมิน “อสังหาฯ” หลังเปิด อาเซียน


วัน เวลา เนี่ย ผ่านไปเร็วซะเหลือเกินนะคะ ยิ่งเข้าใกล้อาเซียนขึ้นทุกที เราก็ยิ่งเห็นต่างชาติเข้ามา

มากขึ้น…

มากขึ้น…

และมากขึ้น

เมื่อเข้ามามากขึ้นแบบนี้ ก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างเลยใช่มั้ยล่ะคะ ทางด้านวงการอสังหาฯเองก็เช่นกัน ตอนนี้หลายคน น่าจะคงอยากรู้ว่า หลังเปิดอาเซียนแล้ว ราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน วันนี้เรารวบรวมข้อมูลดีๆ มาแชร์กันค่ะ

จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์จากหลายสำนัก ระบุว่า กรมธนารักษ์ได้วางแผนจัดทำการประเมินราคาที่ดินรอบใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการให้มีราคาที่เหมาะสมและให้ใกล้เคียงกับราคาของตลาด และที่สำคัญเพื่อปรับให้เข้ากับการเข้ามาของ AEC ในปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้ด้วย

 

“ราคาประเมินที่ดินใหม่นี้จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในด้านการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่เกิดจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องและได้ราคาที่เป็นธรรม เช่น การนำไปค้ำประกัน การลงทุน ธุรกรรมต่างๆ และเพื่อการเวนคืนที่ดิน รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายด้านภาษีเพราะรัฐจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับราคาประเมินที่ดินใหม่นี้อีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาทหลังจากมีการประกาศใช้ในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ยังช่วยในการกระจายถือครองทรัพย์สิน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกด้วย” — นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์

 


สำหรับการประเมินราคาที่ดินดังกล่าวนั้น ได้ยึดหลักการวิเคราะห์จากหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยใช้วิธีการเปรียบเทียบกับราคาซื้อขายที่ดินในตลาด รวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการประเมินราคาที่ดิน ซึ่งได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ, การใช้ประโยชน์ ทำเลที่ตั้ง, การคมนาคม, ระบบสาธารณูปโภค และคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้ราคาที่ดินในกรุงเทพฯราคาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก 17.13% โดยในย่านที่แพงที่สุดนั้นได้แก่ สีลม โดยราคาประเมินพุ่งสูงถึง 850,000 บาทต่อตารางวา

 

“ปีนี้เราประเมินว่าจะมียอดจดทะเบียนนิติกรรมประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท และเมื่อมีการปรับราคาประเมินใหม่ก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 8 หมื่นล้านบาทในปีหน้า ซึ่งหลังจากนี้กรมธนารักษ์มีแผนจะขยายพื้นที่การประเมินราคาที่ดินรายแปลงทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 8 ปี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและสามารถตรวจสอบราคาประเมินได้โดยสะดวก ผ่านทางระบบฐานข้อมูลทะเบียนทรัพย์สิน ซึ่งการลงพื้นที่สำรวจและประเมินราคาที่ดินให้ถูกต้องนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558” นายนริศ กล่าว

 

ข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์และ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความคึกคักเป็นอย่างมาก ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงภูมิภาค เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ นโยบายอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ, การแข่งขันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจะเป็นจุดขายมากที่สุดเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็คือ อสังหาฯในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาครัฐมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งนั่นเป็นการช่วยเปิดพื้นที่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในหลายจังหวัดได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและหัวเมืองจังหวัดชายทะเล เช่น ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน), ชลบุรี และระยอง นั้นเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามอง นอกจากจะรองรับความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของคนในประเทศแล้ว ยังเน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังชาวต่างชาติที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย อีกทั้งรองรับกระแสการลงทุนเพื่ออยู่อาศัยใน AEC อีกด้วย

ถึงแม้ว่า ตัวเลขราคาประเมินแบบจริงจังนั้น จะยังไม่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่ จากข่าวล่าสุดนั้นกรมธนารักษ์แจ้งว่าอยู่ระหว่างการปรับปรุงราคาประเมินที่ดินกรุงเทพฯก่อน ในรอบบัญชีปีพ.ศ.2559-2562 ซึ่งคาดว่าราคาจะปรับขึ้นไม่เกิน 20% และจะเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ กทม. ให้เป็นผู้กำหนดราคาไม่เกินเดือนกรกฎาคม จากนั้นส่งให้คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ให้ความเห็นชอบภายในเดือนสิงหาคม- กันยายนนี้ ซึ่งจะสามารถประกาศใช้ได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2559 ทั้งนี้ที่ดินแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสจีการปรับขึ้นสูงสุด โดยเฉพาะย่านหมอชิต-แบริ่ง และตากสิน ซึ่งจะเพิ่มมากกว่า 115%

ที่มา : reic, scbme, thaicontractor