การพัฒนาเมืองอัจฉริยะอาจล้มเหลวหากให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่าผู้คน

เมืองอัจฉริยะ

แนวคิด เมืองอัจฉริยะ (smart city) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ หากมุ่งเน้นเฉพาะกับการพึ่งพาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยไม่มีการให้ความสำคัญมากพอกับความต้องการและประสบการณ์ของผู้คน ตามรายงานการวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล

ความสำเร็จของ เมืองอัจฉริยะ จะเกิดขึ้นได้หากให้ความสำคัญกับ ผู้คน, เทคโนโลยี และ อสังหาริมทรัพย์

รายงานฉบับดังกล่าวจากเจแอลแอล วิเคราะห์ว่า ในขณะที่ภาครัฐฯ มุ่งเน้นการหาเทคโนโลยีเข้ามาใช้สร้างเมืองอัจฉริยะ ภาคอสังหาริมทรัพย์มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นสถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนถึงสถานที่กินที่เที่ยว ดังนั้น จึงมีศักยภาพที่จะช่วยปิดช่องว่างในการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้

ในการจัดทำรายงานฉบับนี้ เจแอลแอลได้รวบรวมความคิดเห็นเชิงลึกจากผู้ทรงคุณวุฒิ 30 ราย จากภาคเทคโนโลยี ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาครัฐบาล ซึ่งล้วนสะท้อนถึงท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการขยายจำนวนของเมืองอัจฉริยะในเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก โดยรายงานฉบับนี้ยังได้เน้นถึงความสำคัญของการยึดความต้องการของผู้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้วยการส่งเสริมความเท่าเทียม ประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และความโปร่งใส

เจรามี เคลลีย์ ผู้อำนวยการดูแลฝ่ายวิจัยทั่วโลกของเจแอลแอล กล่าวว่า “เมืองหลายเมืองทั่วโลกมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ อินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things: IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อเข้ามาจัดการปัญหาที่เกิดจากการเติบโตของเมือง เช่น การจราจร การกำจัดของเสีย และการดูแลรักษาความปลอดภัย  ซึ่งทั้งหมดนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะในเรื่องความเป็นอยู่และการทำงาน รวมไปจนถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากอาคารสิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก”

ความพยายามในการผลักดันโครงการสมาร์ทซิตี้

ไทยที่ตั้งเป้าจะมีเมืองอัจฉริยะ 60 เมืองใน 30 จังหวัดในระหว่างปี 2563-2564 และเพิ่มขึ้นเป็น 100 เมืองทั่วประเทศภายในปี 2565 ส่วนจีนมีแผนที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะรวมมากกว่า 500 เมือง ในขณะที่อินเดียตั้งเป้าที่จะพัฒนา 100 เมืองนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาไปจนถึงปี 2565 ส่วนสิงคโปร์มีความคืบหน้าไปมากเกี่ยวกับการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประเทศอัจฉริยะที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2557 และการประกาศจัดตั้งกองทุนอาเซียน-ออสเตรเลียนในปี 2561 เพื่อให้การสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในหมู่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ดี ทั่วโลกมีการประกาศแนวคิดริเริ่มเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะรวมกว่า 1,000 โครงการ แต่พบว่ามีเพียง 15 โครงการเท่านั้นที่มีการประกาศกลยุทธ์ที่ครอบคลุมกว้างขวางรวมถึงการกำหนดเป้าหมายโดยละเอียด และในจำนวนนี้ มีเพียง 8 โครงการเท่านั้นที่มีความพร้อมในการดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างชัดเจน

รายงานของเจแอลแอลได้วิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ประเทศต่างๆ ประสบความล่าช้าในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และพบว่า ระบบราชการเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ ทั้งนี้ จากการที่เมืองหลายเมืองเป็นเมืองขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน การจะดำเนินนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จได้ ภาครัฐฯ จะต้องเปิดรับการทดลองสิ่งใหม่ๆ ยินดีลงทุนในเรื่องของเวลาและทรัพยากร พร้อมเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก

“ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ ควรเริ่มด้วยการลดการมุ่งเน้นเฉพาะการแสวงหาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการคำนึงถึงวิธีที่จะใช้เทคโนโลยีนั้นช่วยให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้อย่างไร เราเชื่อว่า อสังหาริมทรัพย์จะสามารถทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้คนกับสาธารณูปโภคเทคโนโลยีดิจิตอลต่างๆ ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในการสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมของสังคมเมือง” นายเคลลีย์กล่าว

โดยทั่วไป อสังหาริมทรัพย์มักถูกมองว่าเป็นภาคธุรกิจที่มีความเคลื่อนไหวในด้านเทคโนโลยีช้ากว่าธุรกิจอื่นๆ แต่ในขณะนี้ กำลังมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า พร็อพเทค เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากมาย ซึ่งพร็อพเทคเหล่านี้มีส่วนเสริมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากสามารถช่วยให้การใช้ชีวิตของผู้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้น ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดรวมไปจนถึงการช่วยเพิ่มความโปร่งใส และความสามารถในการตัดสินใจใดๆที่เกี่ยวข้อง โดยรายงานของเจแอลแอลได้ระบุถึงบทบาทของพร็อพเทคในหลากหลายแง่มุม ตัวอย่างเช่น การเข้ามามีบทบาทนับตั้งแต่ขั้นตอนของการเริ่มก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงการบริหารจัดการหลังสร้างเสร็จ การช่วยเจ้าของเพิ่มมูลค่าให้กับอสังหาริมทรัพย์ และการช่วยให้ผู้เช่าใช้พื้นที่อสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางสาวเมแกน วอลเตอร์ส ผู้อำนวยดูแลฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า “รายงานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่ออนาคตของเมืองอัจฉริยะ พร้อมกับมีคำตอบให้กับคำถามที่มาจากผู้พัฒนาโครงการหรือนักลงทุนจำนวนมาก ว่าจะสามารถมั่นใจได้อย่างไรว่า โครงการอสังหาริมทรัพย์ของตนในวันนี้ จะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ซึ่งเราเชื่อว่า โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ที่สร้างขึ้นจากการหลอมรวมเทคโนโลยีเข้ากับประสบการณ์มนุษย์ จะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เอื้อให้มีการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้เช่าใช้พื้นที่ ในขณะเดียวกันจะสามารถช่วยให้เจ้าของหรือนักลงทุนสามารถลดต้นทุนการดำเนินการและได้รับผลตอบแทนดีขึ้น”

ขอขอบคุณ JLL ที่ได้แบ่งปันข้อมูลดีๆในครั้งนี้

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก