เปิดช่อง CP แก้สัญญา เมกะดีลไฮสปีด EEC ปิดจุดเสี่ยง 50 ปี

EEC

ดูเหมือน “ซี.พี.” ยอมปลดล็อก แต่ลึกๆแล้ว ในวงเจรจายังคงต่อรองให้คณะกรรมการทำบันทึกแนบผลการเจรจาให้บอร์ด EEC รับทราบถึงสิ่งที่เอกชนต้องการ

 

เปิดช่อง “ซี.พี.” แก้สัญญาได้

เมื่อเร็วๆนี้ ผลเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุน ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ มี “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธานเสนอจะทำรายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมดให้บอร์ดอีอีซีรับทราบ แต่ไม่ได้นำมาบรรจุเป็นเงื่อนไขในสัญญา “ถึงจะไม่บรรจุเป็นลายลักษณ์อักษรในสัญญา แต่รายละเอียด 179 หน้า ที่ใช้เวลา 2 สัปดาห์ร่างกันแบบหามรุ่งหามค่ำนั้น ก็เปิดช่องให้ ซี.พี. สามารถแก้สัญญาได้ระหว่างทาง ตามที่ขอ เช่น กรณีแบงก์ต่างชาติไม่ปล่อยกู้ให้กับโครงการ จะขอแก้ให้รัฐจ่ายเงินชดเชยก่อน การลดสัดส่วนถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาบริหารโครงการที่รัฐให้ ซี.พี.ถือหุ้น 51%”

ขณะที่ “วรวุฒิ” กล่าวว่า การให้ ซี.พี.แก้ไขสัญญาได้เป็นเรื่องปกติของสัญญาก่อสร้าง ซึ่งโครงการนี้เป็นสัญญาระยะยาว 50 ปี ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่ทั้งหมดต้องมีเหตุและผล โดยผ่านการพิจารณาจากคณะกำกับโครงการ

“ร่างสัญญาที่จะเซ็นกัน ดูในประเด็นหลักที่ไม่ขัดกับอัยการสูงสุด ทีโออาร์และมติ ครม.ที่อนุมัติไว้ คือ รัฐต้องชดเชยไม่เกิน 119,425 ล้านบาท อายุสัมปทาน 50 ปี กำหนดวันส่งมอบพื้นที่ ระยะเวลาก่อสร้าง การขยายเวลา ค่าปรับ”

นอกจากนี้ ยังมี 3 ข้อเสนอของ ซี.พี.คือ พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางราง การร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ และชักชวนผู้ผลิตอุปกรณ์ รถไฟฟ้ามาตั้งโรงงานที่อีอีซี ส่วนที่เหลือ เช่น การต่อขยายเส้นทางไประยอง ย้ายจุดที่ตั้งสถานี ไม่จำเป็นต้องระบุในสัญญา สามารถเพิ่มเติมภายหลังได้

EEC
รูปภาพจาก prachachat

รอเคลียร์ EIA-ส่งมอบพื้นที่

สำหรับการเซ็นสัญญา ยังอยู่ภายในวันที่ 15 มิ.ย. ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย 1.รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติซึ่ง ร.ฟ.ท.กำลังเร่งทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ 2.ความพร้อมของคณะกรรมการคัดเลือก และกลุ่ม ซี.พี. เช่น การส่งมอบพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ (TOD) และก่อสร้าง ทั้ง 2 ฝ่ายต้องทำเป็นแผนงานและเห็นตรงกันก่อน

“ได้หารือส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเป็นการภายในแล้ว แต่เป็นโครงการใหญ่ รถไฟจะเป็นผู้ตัดสินใจส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องเชิญกลุ่ม ซี.พี.มาหารือด้วย แล้ววางเป็น Master Plan ส่งมอบพื้นที่ แนวเส้นทางก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ในแนวรถไฟอยู่แล้ว มีเวนคืนทั้งโครงการ 850 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง เงินชดเชย 3,570 ล้านบาท จุดใหญ่อยู่ที่ฉะเชิงเทรา 550 ไร่ สร้างสถานี ทางวิ่ง และศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งรถไฟจะส่งมอบแค่สิทธิ์ให้ แต่เอกชนต้องรื้อย้ายเอง”

ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ 2 แปลง คือ มักกะสัน 150 ไร่ และศรีราชา 25 ไร่ มักกะสัน 150 ไร่ จะส่งมอบได้ทันที 100 ไร่ อีก 50 ไร่จะทยอยส่งมอบภายใน 5 ปี ส่วนพื้นที่ศรีราชาจะส่งมอบทั้งหมด 25 ไร่ได้ภายใน 2 ปี โดยเอกชนต้องเป็นผู้รื้อย้ายทั้งหมด

 

ที่มา prachachat.net

สิทธิเหนือพื้นดินคนมีบ้านหรือคอนโดควรรู้ สิทธิเหนือพื้นดิน ที่หลายคนไม่รู้

 

 

ซื้อบ้าน

วิกฤต!! ความสามารถในการ ซื้อบ้าน ของคนไทยลด คาดอนาคต ชาวต่างชาติครองเมือง

 

 

 

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เรานำมาเสิร์ฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก