Green Living Mythology: มายาคติ ‘สีเขียว’ (ตอนที่ 1)

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คือประเด็นหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบัน ที่เราไม่อาจจะมองข้ามได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงใด ดังจะเห็นได้จากการตื่นตัวในแนวทาง ‘เพื่อสิ่งแวดล้อม’ หรือ Eco-Living อันหลากหลาย ไม่ว่าจะด้วยผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาดหมุนเวียน ไปจนถึง ‘อาคารรักษ์โลก’ ทางสถาปัตยกรรม แน่นอนว่าแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ที่เกี่ยวข้องกับการผสมผสานของศาสตร์หลากหลายแขนง ก็น้อมรับกับแนวทางดังกล่าวไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์ของวิถีสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้ มันก็ยังเป็นเพียงย่าวก้าวเริ่มต้น ที่ยังคงมีความล้มลุกคลุกคลาน มีการลองผิดลองถูก จนอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ในทางปฏิบัติที่แตกต่าง หลากหลาย และยากที่จะหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ ว่าวิถีทางแห่ง ‘Green Living’ ที่แท้จริงนั้น มันควรจะเป็นเช่นใด

และมันอาจจะดีกว่า ถ้าเราจะเริ่มทบทวน และทำความเข้าใจ ของวิถีทางแห่ง Green Living ที่กำลังเป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้ให้ชัดๆ กันสักครั้ง….

//อยู่อย่างยั่งยืน

อะไรคือนิยามของ ‘Green Living’? ในแง่นี้ เราอาจจะต้องย้อนกลับไปยังรากฐานเริ่มต้น ในความเคลื่อนไหวของสิ่งที่เรียกว่า ‘Sustainable Living’ ในปี 1954 ในหนังสือ ‘Living the Good Life’ โดย Helen Nearing และ Scott Nearing ที่พยายามจะแนะนำถึงแนวทางการใช้ชีวิตที่สมดุลรอบด้านระหว่างสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ อันเป็นรากฐานที่ต่อยอดไปสู่หนังสือชุด ‘back-to-the-land movement’ ในช่วงทศวรรษที่ 60 ถึงต้นทศวรรษที่ 70

Credits: helloecoliving.com

ในเวลาต่อมา เมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริการุดหน้าอย่างรวดเร็วช่วงทศวรรษที่ 80 แนวคิดเรื่องการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนในแนวทางสีเขียว หรือ Eco-Living ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญเพื่อคัดง้างกับความก้าวหน้าที่แลกมาด้วยความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าว ก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าที่แนวคิด วิถีปฏิบัติ และวิทยาการจะมาถึงจุดที่ลงตัว และช่วยให้สิ่งต่างๆ ประสบผลอย่างเป็นรูปธรรม

Credits: technology-green-energy.blogspot.com

ปัจจุบัน มีองค์กรและนักออกแบบอิสระจำนวนมากในหลากหลายแวดวง ที่ทุ่มเทแรงกาย ความคิด และฝีมือให้กับแนวทางดังกล่าว รวมถึงการรวมตัวของผู้คนเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนวิถีทางแบบ Green Living ให้เดินหน้าต่อไป

//ความเคลื่อนไหวด้าน Green Living กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ความเคลื่อนไหวทางด้านแนวคิดแบบ Green Living กับธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เองนั้น ก็ดูจะมีความสัมพันธ์เคียงคู่กันไปในเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมักจะทำงานร่วมกับสถาปนิก นักออกแบบ และวิศวกรระบบเพื่อจัดสรรที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามความต้องการด้าน Eco นับตั้งแต่แรกเริ่ม เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น ประยุกต์เข้ากับงานสร้างที่ผ่านการคิดมาเป็นอย่างดี รวมถึงการวางระบบหลัก (น้ำประปา ไฟฟ้า ระบบกำจัดขยะ) ที่หมุนเวียนและไม่มีสิ่งใดเสียเปล่าในทุกกระบวนการ

Credits: engadget.com

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประสิทธิภาพ แต่การสร้างที่อยู่อาศัยในแนวทางสีเขียวยั่งยืนนั้นมีค่าใช้จ่ายในช่วงแรกเริ่มที่สูงมากจากทุกขั้นตอน ทำให้ยากที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงปฏิบัติในสเกลใหญ่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะมีบ้างก็คงจะเป็นอาคารสำนักงานหรือที่พักอาศัยแนวดิ่งประหยัดพลังงาน หรืออาคารสีเขียว ภายใต้การกำกับมาตรฐานอย่าง LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเห็นจริง

นั่นทำให้คำถามที่ตามมาเกี่ยวกับแนวทาง ‘สีเขียว’ กับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังเป็นที่พูดถึงในปัจจุบันนั้น เต็มไปด้วยความกังขาในการใช้งานจริงอยู่มากมาย ที่เราจะมาขยายความต่อในตอนถัดไป …