Nominee: ส่งผ่านอสังหาฯ ผิดกฏหมาย จับให้ได้ ถ้านายแน่จริง!

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีข่าวที่ค่อนข้างน่าตกใจ เกี่ยวกับจำนวนการถือครองที่ดินในประเทศไทยโดยชาวต่างชาติเป็นจำนวนกว่า 100 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของที่ดินทั้งหมด แน่นอนว่าเรื่องราวดังกล่าว ทำให้เกิดการตั้งคำถามสำคัญที่ว่า ในขณะที่มีกฎหมายเพื่อควบคุมการเข้าถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติ แต่เพราะเหตุใดเรื่องราวทั้งหลายยังคงเกิดขึ้นได้อย่างหน้าตาเฉย

Credits: Property-report.com

แม้มันจะดูน่าเหลือเชื่อ แต่ที่ดินของประเทศไทยหลายส่วนก็ถูกถือครองโดยชาวต่างชาติอย่างผิดกฎหมาย

ในแง่นี้ การถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติในลักษณะนี้ เกิดจากการมุดช่องโหว่ทางกฎหมาย ผ่านทางตัวแทนหรือ ‘นอมินี’ ที่ช่วยให้การซื้อขายและถือครองนั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยทางปฏิบัติ และเราจะมานำเสนอเรื่องราวของสามรูปแบบนอมินีที่มักจะถูกใช้กันอยู่เป็นประจำ ไม่ใช่เพื่อให้ท่านผู้อ่านจดจำเอาไปทำตาม หากแต่เพื่อให้ระลึกว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง เป็นมาโดยตลอด และควรอย่างยิ่งที่จะหลีกให้ห่างไกล เพื่อที่แวดวงอสังหาฯ จะได้โปร่งใส ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับทางเศรษฐกิจและประเทศชาติ

//นอมินีคู่สมรส: เรียบง่าย แต่จับได้ยาก

แม้จะไม่ใช่ภาพที่น่าประหลาดใจกับการแต่งงานระหว่างคนไทยและชาวต่างชาติในยุคสมัยปัจจุบัน แต่ด้วยกฎหมายด้านสินสมรสที่ไม่ชัดเจนและมีช่องโหว่อยู่มาก ทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับการซิกแซกเพื่อถือครองที่ดินและอสังหาฯ ได้แบบผิดกฎหมายผ่านนอมินี ที่ยากแก่การตรวจสอบ (เพราะผู้ปฏิบัติสามารถให้คู่สมรสชาวไทยเป็นตัวแทนซื้อขาย หรือถ่ายโอนให้พ่อแม่เพื่อให้เป็นสินสมรสได้)

//นอมินีฝากซื้อ: คนไทยซื้อขาย ต่างชาติได้เป็นเจ้าของ

คล้ายกับกรณีของนอมินีคู่สมรส หากแต่จะมีขั้นตอนที่เป็นหลักการมากยิ่งกว่า กล่าวคือ คนไทยที่รับจ้างซื้ออสังหาฯ ต่างชาตินั้น จะมีการร่างหนังสือสัญญากู้ยืม จำนอง หรือปล่อยเช่าในระยะยาว (ที่มีการร่างสัญญาต่อเนื่องอีกหลายฉบับ) เป็นอีกวิธีการนอมินีที่จับได้ยากยิ่งกว่า เพราะการซื้อขายในลักษณะนี้ ยังไม่มีวิธีการตรวจสอบที่มาที่ไปที่แน่นอน (อีกทั้งธุรกรรมใดๆ หลังจากการซื้อชาย เป็นธุระของผู้ซื้อ ทางราชการก็เกี่ยวข้องน้อยมาก)

//นอมินีนิติบุคคล: เครือข่ายโยงใย ซื้อขายกันเป็นทีม

ที่สุดแห่งกระบวนการนอมินี กับขั้นตอนอันสลับซับซ้อน ซ่อนเงื่อน และมีการถ่ายโอนที่เป็นระบบ รวมถึงการป้องกันที่ยากแก่การที่ฝ่ายกฎหมายจะทำการตรวจสอบ ทั้งการปันส่วนหุ้นไปยังบริษัทลูกในเครือ การถือหุ้นไขว้ การกระจายอำนาจควบคุมนิติบุคคลสำหรับอสังหาฯ อย่างแนบเนียน และแม้เราไม่ฟันธงว่าใครบ้างที่ใช้วิธีนี้ แต่เชื่อว่ามีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการถือครองอย่างผิดกฎหมายในสเกลที่ใหญ่ระดับล้านไร่…

ย้ำกันอีกครั้งว่า บทความชิ้นนี้ ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อให้ใครเอาเป็นจดจำทำตาม หรือหวงห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาถือครอง หากแต่กฎหมายในการถือครองที่ถูกร่างขึ้นนั้น ก็ค่อนข้างเอื้อให้เกิดธุรกรรมที่ถูกกฎหมายอย่างเพียงพอ และมันคงจะดี ถ้าเราจะปฏิบัติตามแนวทางนั้นๆ อย่างเข้มงวด โดยไม่ต้องไปใส่ใจกับการซิกแซกที่เมื่อระเบิดเป็นปัญหาแล้ว ไม่ใช่อะไรที่สนุกนัก…