สายสีแดง…”ฮีโร่” ใหม่ขวัญใจชานเมือง

ว่ากันว่า ความสะดวกสบายมักจะมาพร้อมกับปัญหาและความเสื่อมโทรมของพื้นที่นั้นๆเสมอ แต่หากเกิดการวางแผนและพูดคุยสร้างความเข้าใจกันแล้วก็จะสามารถลดทอนปัญหาลงได้ไม่มากก็น้อย

นับตั้งแต่การเริ่มการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร การเดินทาง การเชื่อมต่อต่างๆก็ดูจะสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมานั่นก็คือ ความเดือดร้อนของชุมชนชาวบ้านใกล้เคียง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องหาทางออกเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่แต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้างทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานครนั้น ได้มีการดำเนินการในส่วนของสายเหนือ (บางซื่อ-รังสิต) และพัฒนาสถานีรถไฟบางซื่อให้เป็นสถานีหลักเพื่อลดจำนวนรถไฟที่จะเข้าสู่สถานีหัวลำโพง โดยวางแผนให้ย่านพหลโยธินเป็นย่านศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกรุงเทพฯในส่วนเหนือ ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษารายละเอียดโครงสร้างและโครงการต่างๆ เพื่อการรองรับความสะดวกของระบบการขนส่งให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2554-2559

แนวเส้นทางโครงการ
เริ่มต้นหัวลำโพง ไปทางทิศใต้ของสถานีบางซื่อ ในเขตทางรถไฟเส้นทางสายเหนือ ผ่านจตุจักร, บางเขน, หลักสี่, ดอนเมือง สิ้นสุดที่สถานีรังสิต จังหวัดปทุมธานี ระยะทางยาว 26.3 กิโลเมตร และวางแผนจะต่อขยายไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สถานี ประกอบด้วย 8 สถานี ได้แก่
1. บางซื่อ (ชุมทางบางซื่อ หรือถนนเทอดดำริ)
2. จตุจักร (ถนนกำแพงเพชร 2 และถนนกำแพงเพชร 6 ใกล้กับที่พักนิคมรถไฟ กม.11)
3. บางเขน (แยกบางเขน ช่วงถนนกำแพงเพขร 6 ตัดถนนงามวงศ์วาน ตรงข้ามม.เกษตร ฝั่งวิภาวดีรังสิต)
4. ทุ่งสองห้อง (ถนนกำแพงเพชร 6 และวิภาวดีรังสิต ใกล้กับกองกำกับการสุนัขตำรวจ)
5. หลักสี่ (ถนนกำแพงเพชร 6 ทิศเหนือของแยกหลักสี่ ตรงข้ามไอทีสแควร์)
6. การเคหะ (ถนนกำแพงเพชร 6 และวิภาวดีรังสิต ใกล้แฟลตการเคหะฯ ดอนเมือง)
7. ดอนเมือง (ตรงข้ามอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมือง ถนนกำแพงเพชร 6 และวิภาวดีรังสิต ใกล้สถานีรถไฟดอนเมือง)
8. รังสิต (ถนนรังสิต-ปทุมธานี และถนนกำแพงเพชร 6 บริเวณหมู่บ้านรัตโกสินทร์ 200 ปี)

สถานีที่จะก่อสร้างในระยะต่อไป ได้แก่
1. วัดเสมียนนารี (สถานียกระดับ)
อยู่ระหว่างสถานีจตุจักรกับสถานีบางเขน บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ตรงข้ามวัดเสมียนนารี
2. สถานีหลักหก (สถานีระดับดิน)
อยู่ระหว่างสถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 เชื่อมต่อกับถนนเอกทักษิณและถนนพหลโยธิน ใกล้กับหมู่บ้านเมืองเอก

รูปแบบสถานี
มีการแบ่งรูปแบบและการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
1. สถานีกลางบางซื่อ แบ่งเป็น
1.1. ชั้นใต้ดิน (จอดรถได้ 1,700 คัน มีโถงเชื่อจากพื้นที่จอดรถไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และมีทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีบางซื่อ)
1.2. ชั้นพื้นดิน
– มีโถงคอยและรับผู้โดยสาร
– พื้นที่ชั้นลอยควบคุมระเดินรถ และส่วนต้อนรับบุคคลสำคัญ
– โถงจำหน่ายตั๋วโดยสาร และจุดเชื่อมต่อไปรถใต้ดินสถานีบางซื่อ
– ร้านค้า
1.3. ชั้นที่ 2 (ชานชาลารถไฟฟ้าทางไกลสายเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ)
1.4. ชั้นที่ 3 (ชานชาลารถไฟชานเมือง)
2. สถานีประเภทที่ 1 : จตุจักร, วัดเสมียนนารี(วางแผนก่อสร้าง), บางเขน, ทุ่งสองห้อง, หลักสี่, การเคหะ
– สถานียกระดับ รองรับเฉพาะรถไฟฟ้าชานเมือ
3. สถานีประเภทที่ 2 : สถานีดอนเมือง
– สถานียกระดับ รองรับทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองและรถไฟทางไกลสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
4. สถานีประเภทที่ 3 : สถานีหลักหก (วางแผนก่อสร้าง)
– สถานีระดับดิน รองรับเฉพาะรถไฟฟ้าชานเมือง
5. สถานีประเภทที่ 4 : สถานีรังสิต
– รองรับรถไฟฟ้าชานเมือง ระดับดิน และรถไฟฟ้าทางไกลสายเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ

อีกแค่ 1 ปี เท่านั้น การติดขัดของการจราจรชานเมืองก็คงจะบรรเทาเบาบาง เพราะฮีโร่ สายสีแดงจะ เข้ามาทำหน้าที่อำนวยความสะดวก แต่ถึงวันนั้นการคมนาคมของไทย จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ก็คงต้องรอดูกันต่อไป