ข้อกำหนด ‘บันไดหนีไฟ’ กฎหมายที่ควรรู้ไว้ก่อนซื้อคอนโด

เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนพักอาศัยเป็นจำนวนมากหรืออยู่ในตึกสูงอย่างคอนโดมิเนียม สิ่งหนึ่งที่คนมักหลงลืมและมักจะต้องเตือนกันไว้เสมอคือ การสังเกต “บันไดหนีไฟ” นั่นเอง เพราะเหตุเพลิงไหม้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การศึกษาข้อกำหนดบันไดหนีไฟ กฎหมาย และช่องทางการหนีไว้แต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินได้ โดยบันไดหนีไฟที่จะสร้างความปลอดภัยได้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายบันไดหนีไฟกำหนด 

1‘บันไดหนีไฟ’ กฎหมายภายในกรุงเทพมหานคร

สำหรับคอนโดในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องดูจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 หมวด 4: บันไดและบันไดหนีไฟ ซึ่งเรื่องที่เกี่ยวกับบันไดหนีไฟ กฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ว่า

  • อาคารที่มีชั้นใต้ดินตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป นอกจากจะมีบันไดตามปกติแล้วจะต้องมีทางหนีไฟโดยเฉพาะอย่างน้อยอีกหนึ่งทางด้วย
  • บันไดหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนไฟและถาวร มีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร และไม่เกิน 150 เซนติเมตร ลูกตั้ง (ระยะความสูงระหว่างขั้นบันได) สูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร และลูกนอน (ขั้นบันได) กว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร ชานพักกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได มีราวบันไดสูง 90 เซนติเมตร และห้ามสร้างบันไดหนีไฟเป็นแบบบันไดเวียน เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการก้าวข้าม 
  • พื้นหน้าบันไดหนีไฟต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได และอีกด้านหนึ่งกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
  • กรณีใช้ทางลาดหนีไฟแทนบันไดหนีไฟ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีความลาดชันของทางหนีไฟดังกล่าวต้องมีความลาดชันไม่เกินกว่าร้อยละ 12
  • บันไดหนีไฟภายในอาคารที่ไม่ใช่อาคารสูง ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร มีผนังทึบก่อสร้างด้วยวัสดุทนไฟและถาวรกั้นโดยรอบ เว้นแต่ส่วนที่เป็นช่องระบายอากาศและช่องประตูหนีไฟ และแต่ละชั้นต้องมีช่องระบายอากาศที่เปิดสู่ภายนอกอาคารได้มีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 1.40 ตารางเมตร โดยต้องมีแสงสว่างให้เพียงพอทั้งกลางวันและกลางคืน 
  • บันไดหนีไฟภายในอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อการพักอาศัย หรือประกอบกิจการประเภทเดียว หรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตังแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป) ที่ไม่สามารถเปิดช่องระบายอากาศได้ ต้องมีระบบอัดลมภายในช่องบันไดหนีไฟที่มีความดันลมขณะใช้งานไม่น้อยกว่า 38.6 ปาสกาลมาตร ที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้ และบันไดหนีไฟที่ลงหรือขึ้นสู่พื้นของอาคารนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งที่สามารถออกสู่ภายนอกได้โดยสะดวก
  • ตำแหน่งที่ตั้งบันไดหนีไฟ ยกเว้นอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมีระยะห่างระหว่างประตูห้องสุดท้ายด้านทางเดินที่เป็นทางตันไม่เกิน 10 เมตร ระยะห่างระหว่างบันไดหนีไฟตามทางเดินต้องไม่เกิน 60 เมตร 
  • กำหนดให้ต้องมีบันไดหนีไฟจากชั้นสูงสุดหรือดาดฟ้าสู่พื้นดินถ้าเป็นบันไดหนีไฟภายในอาคาร และต้องมีบันไดหนีไฟจากชั้นสูงสุดหรือดาดฟ้าถึงพื้นชั้น 2 ถ้าเป็นบันไดหนีไฟภายนอกอาคาร
  • ประตูของบันไดหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนไฟมีความกว้างไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร สามารถทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และต้องเป็นบานเปิดชนิดผลักเข้าสู่บันไดเท่านั้น ชั้นดาดฟ้า ชั้นล่างและชั้นที่ออกเพื่อหนีไฟสู่ภายนอกอาคารให้เปิดออกจากห้องบันไดหนีไฟ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ชนิดที่บังคับให้บานประตูปิดได้เอง ประตูหรือทางออกสู่บันไดหนีไฟต้องไม่มีขั้นหรือธรณีประตูหรือขอบกั้น
  • ที่สำคัญกฎหมายบันไดหนีไฟฉบับนี้กำหนดให้ต้องมีป้ายเรืองแสงหรือเครื่องหมายไฟแสงสว่างด้วยไฟสำรองฉุกเฉินบอกทางออกสู่บันไดหนีไฟ ติดตั้งเป็นระยะตามทางเดินบริเวณหน้าทางออกสู่บันไดหนีไฟ และทางออกจากบันไดหนีไฟสู่ภายนอกอาคารหรือชั้นที่มีทางหนีไฟได้ปลอดภัยต่อเนื่อง โดยป้ายดังกล่าวต้องแสดงข้อความทางหนีไฟเป็นอักษร มีขนาดสูงไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร หรือเครื่องหมายที่มีแสงสว่างและแสดงว่าเป็นทางหนีไฟให้ชัดเจน

กฎหมายบันไดหนีไฟ‘บันไดหนีไฟ’ กฎหมายนอกกรุงเทพมหานคร

แต่ถ้าจะซื้อคอนโดฯ ในต่างจังหวัด ว่าที่ผู้พักอาศัยต้องดูข้อกำหนดต่าง ๆ จากกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ส่วนที่ 4: บันไดหนีไฟ ซึ่งทุกเรื่องเรื่องที่เกี่ยวกับบันไดหนีไฟ กฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ดังนี้

  • อาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารที่สูง 3 ชั้นและมีดาดฟ้าเหนือชั้นที่ 3 ที่มีพื้นที่เกิน 16 ตารางเมตร นอกจากมีบันไดของอาคารตามปกติแล้ว ต้องมีบันไดหนีไฟที่ทำด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และต้องมีทางเดินไปยังบันไดหนีไฟนั้นได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
  • บันไดหนีไฟต้องมีความลาดชันน้อยกว่า 60 องศา เว้นแต่ตึกแถวและบ้านแถวที่สูงไม่เกิน 4 ชั้น ให้มีบันไดหนีไฟที่มีความลาดชันเกิน 60 องศาได้ และต้องมีชานพักบันไดทุกชั้น
  • บันไดหนีไฟภายนอกอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และต้องมีผนังส่วนที่บันไดหนีไฟพาดผ่านเป็นผนังทึบก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟ หากบันไดหนีไฟทอดไม่ถึงพื้นชั้นล่างของอาคารต้องมีบันไดโลหะที่สามารถเลื่อน ยืด หรือหย่อนลงมาจนถึงพื้นชั้นล่างได้
  • บันไดหนีไฟภายในอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร มีผนังทึบก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟกั้นโดยรอบ เว้นแต่ส่วนที่เป็นช่องระบายอากาศและช่องประตูหนีไฟ และต้องมีอากาศถ่ายเทจากภายนอกอาคารได้ โดยแต่ละชั้นต้องมีช่องระบายอากาศที่เปิดสู่ภายนอกอาคารได้มีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 1.4 ตารางเมตร และต้องมีแสงสว่างให้เพียงพอทั้งกลางวันและกลางคืน
  • ประตูหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนไฟ มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร และต้องทำเป็นบานเปิดชนิดผลักออกสู่ภายนอกเท่านั้น และต้องติดอุปกรณ์ชนิดที่บังคับให้บานประตูปิดได้เอง และต้องสามารถเปิดออกได้โดยสะดวกตลอดเวลา ประตูหรือทางออกสู่บันไดหนีไฟต้องไม่มีธรณีหรือขอบกั้น
  • ส่วนบริเวณพื้นหน้าบันไดหนีไฟ กฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ว่าต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได และอีกด้านหนึ่งกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร

กฎหมายบันไดหนีไฟ_2บันไดหนีไฟแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้ใช้หรืออาจจะไม่ได้ใช้เลย แต่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้องค์ประกอบอื่น เพราะนี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ ดังนั้นก่อนที่จะเลือกซื้อคอนโดฯ ว่าที่ผู้พักอาศัยจึงควรตรวจสอบให้ดีว่ามีบันไดหนีไฟที่เป็นไปตามที่กฎหมายบันไดหนีไฟต่าง ๆ ได้กำหนดไว้หรือไม่ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง

……….

ที่มา:

  1. https://download.asa.or.th/03media/04law/cba/mr/mr43-55-upd68.pdf
  2. https://download.asa.or.th/03media/04law/cba/bb/bb44-03.pdf