ทำความเข้าใจ “การอนุมัติ EIA” มีเพื่ออะไร อนุมัติแล้วทำไมยังมีปัญหาได้

การจะสร้างอาคารชุดสักหลังหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากมาย ดังนั้นเราจึงมี EIA หรือ Environmental Impact Assessment Report คือการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในโครงการนั้นให้น้อยที่สุดและมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยในรายงานนี้จะมีการกำหนดมาตรการป้องกันและติดตามผลกระทบของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โครงการที่อยู่อาศัยที่ต้องได้รับการเห็นชอบจาก EIA

  • โครงการคอนโดมิเนียมที่มีห้องชุดตั้งแต่ 80 Unit ขึ้นไปหรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป
  • โครงการบ้านจัดสรรที่มีจำนวนที่ดินแปลงย่อย 500 แปลงขึ้นไปหรือเนื้อที่เกิน 100 ไร่

EIA จะมีการศึกษาวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม 4 ด้าน

  • ทรัพยากรกายภาพ อย่างดิน น้ำ อากาศ เสียง ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
  • ทรัพยากรชีวภาพ เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์โดยรอบอย่าง เช่น สัตว์ป่า ป่าไม้ ปะการัง
  • คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาการใช้ประโยชน์จากทั้งทรัพยากรกายภาพและชีวภาพของมนุษย์
  • คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ก็คือการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น

การผ่านการประเมินจาก EIA นี้เรียกว่าสามารถเรียกความเชื่อถือจากเหล่านักลงทุนและกลุ่มผู้ต้องการซื้ออสังหาฯ ได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียวเพราะ EIA เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาอนุญาตสร้างอาคารชุด แต่ภายในปีกลับมีโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก EIA แล้วยังต้องถกเถียงกันอยู่ว่าสมควรอนุญาตให้มีการสร้างจริงหรือไม่

โครงการที่ผ่านการอนุมัติ EIA แต่ยังมีข้อสงสัย

สำหรับปีนี้หากนับเฉพาะโครงการที่มีปัญหาโดยตรงจะมีด้วยกัน 2 โครงการ คือ

โครงการ QUINTARA SYNC YENAKAT

QUINTARA

โครงการควินธารา ซิงค์ เย็นอากาศนี้เป็นของบริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการอนุมัติเห็นชอบจาก EIA เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 และต่อมาไม่นานก็มีการยื่นขอระงับใบอนุญาตการก่อสร้างจากนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ยื่นแก่ผู้ว่าฯ กทม. ด้วยเหตุผลว่าการประเมินของ EIA นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสภาพการจราจรเพราะถนนหน้าโครงการมีความกว้างตำ่กว่าเกณฑ์ซึ่งสร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและหากสร้างต่อไปย่อมเกิดปัญหาต่อลูกบ้านในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตามทางโครงการก็ได้ออกมาชี้แจงถึงการแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้พร้อมกับเสนอวิธีแก้ไขมาเรียบร้อย แต่จากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดข้อกังขาว่าการพิจารณาของ EIA นั้นยังสามารถเชื่อถือได้หรือไม่

โครงการ 125 สาทร

เป็นอีกหนึ่งโครงการของบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัดที่ได้รับการอนุมัติไปในวันที่ 24 ส.ค. 2564 แต่กลับถูกลูกบ้านในโครงการ เดอะเม็ทและชุมชนผู้อาศัยในย่านสาทรแสดงการคัดค้านการสร้างโครงการอาคารแฝดสูงใหญ่ที่หน้าโครงการ The MET ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการอนุมัติ EIA ทางลูกบ้านและชุมชนได้มีการส่งรายงานคัดค้ายแล้วแต่กลับไม่เป็นผล

หากมีการก่อสร้างคอนโดสูงในบริเวณนี้ย่อมจะส่งผลกระทบด้านลบต่อคุณภาพชีวิตและวิถีชุมชนที่มีอยู่เดิมทั้งด้านลม แสงแดด ฝุ่นพิษ เสียงและการสั่นสะเทือน แม้จะมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนแล้วแต่ลูกบ้านและชุมชนยังคงไม่พอใจกับคำอธิบายที่ได้รับจากโครงการ 125 สาทร และจากการสำรวจผู้เข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์ในจำนวน 400 คนยังมีผู้คัดค้านกว่า 60%

นับเป็นสองโครงการในปีนี้ที่เราต้องตั้งคำถามกับความโปร่งใสของการอนุมัติจาก EIA ว่ายังสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนคอนโดในเมืองใหย่ได้อีกหรือไม่ สำหรับนักลงทุนหรือคนที่ต้องการซื้อคอนโดในช่วงพรีเซลล์อาจจะต้องทำการพิจารณาให้รอบด้านมากขึ้น มากกว่าการดูใบอนุมัติจาก EIA

ที่มา https://www.thansettakij.com/property/502243 

https://www.bangkokbiznews.com/business/952714 

https://www.onep.go.th/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81/