รวมเทคนิค “ถ่ายรูปบ้านแบบมือโปร” สำหรับนายหน้า

รวมเทคนิค “ถ่ายรูปบ้านแบบมือโปร” สำหรับนายหน้า

เวลาเราจะตัดสินใจซื้อหนังสือสักเล่ม แน่นอนว่า หน้าปกคือส่วนหนึ่งที่ดึงดูดให้เลือกหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาเพื่ออ่านคำนำใช่ไหมครับ แล้วถ้าเป็นการเลือกซื้อบ้านจากเว็บไซต์ล่ะ? อะไรคือสิ่งที่ดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามา? ก็ต้องเป็นรูปภาพของบ้านหลังนั้นๆ ใช่ไหมครับ? แล้วทุกวันนี้ ได้เริ่มต้นถ่ายภาพที่สามารถดึงดูดหรือทำให้ผู้ซื้อสนใจในทรัพย์ที่คุณนำมาลงประกาศขายได้หรือยัง

ถ้าคำตอบของคุณคือ ‘ยัง’ วันนี้ผมมีเทคนิคการถ่ายภาพบ้านที่จะช่วยทำให้คุณสามารถถ่ายภาพทรัพย์ของคุณได้ดีขึ้นมาฝากกันแล้วครับ

ทำความเข้าใจกับองค์ประกอบภาพ

ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องลงทุนกับกล้องราคาแพงหลายแสน ขอแค่คุณมีมือถือก็สามารถถ่ายภาพบ้านให้ออกมาดูดีได้ โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้เรื่ององค์ประกอบภาพจากกฎ 3 ส่วน หรือที่หลายคนเรียกว่า จุดตัด 9 ช่อง ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนกรอบให้กับ Subject หรือแบบในภาพของเรา

ซึ่งถ้าคุณถ่ายภาพโดยการวางแบบไว้ตรงกลางอย่างเดียวอาจจะทำให้รูปดูทื่อ หรือไม่น่าสนใจ แต่ถ้าปรับให้วัตถุนั้นตรงกับเส้นและจุดตัดในเส้นใดเส้นหนึ่งก็จะทำให้วัตถุดูโดดเด่นขึ้นมาได้ในทันที และก็อย่าเผลอวางภาพไว้ตรงตำแหน่งจุดตัดทั้ง 4 จุด หรือวางไว้ที่ 2 จุดตรงข้ามกัน โดยมีขนาดภาพ สีของภาพ และความชัดของภาพที่เท่ากัน ซึ่งการทำในลักษณะนี้ทำให้ภาพ ๆ นั้นดูอึดอัด แน่น และขาดความน่าสนใจ ควรที่จะปรับใหม่ให้มีระยะใกล้ไกลของวัตถุที่เหมาะสมด้วย

นอกจากนี้กฎ 3 ส่วนยังใช้ได้กับการถ่ายบรรยากาศรอบๆ ของโครงการ โดยที่ต้องเลือกว่าสมดุลของท้องฟ้าและตัววัตถุ อะไรจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน เช่น ถ่ายให้เห็นท้องฟ้า 2 ส่วน พื้นดินหรือน้ำ 1 ส่วน ตัววัตถุ 1 ส่วน เป็นต้น

รู้จักการใช้แสงธรรมชาติ

แนะนำให้เข้าไปในห้องแล้วเปิดม่านออกให้กว้างๆ เพื่อให้แสงภายในห้องดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ก็จะช่วยทำให้ภาพดูไม่หลอกตา และน่าอยู่มากขึ้น หรือถ้าภายในห้องมืดมากๆ การถ่ายภาพอาจจะต้องใช้แฟลชเข้าช่วย ก็ไม่ควรจะใช้แฟลชกล้องยิงไปตรงๆ แต่ควรยิงแสงเสริมโดยการชี้ไปที่ผนังด้านหลังหรือเพดานแทน เพื่อให้แสงไม่ดูแข็งและยังเป็นธรรมชาติอยู่

มีความลึกและตื้นของภาพ

สำหรับภาพถ่ายภายในห้องการทำให้ภาพดูมีมิติจากเทคนิค foreground Middle ground หรือ Background

หรือก็คือการวางองค์ประกอบแบบมีระยะหน้า (Foreground) กลาง (Middle ground) และ หลัง (Background) เพื่อใช้แต่ละส่วน ทั้งหน้า กลาง หลัง เป็นตัวอ้างอิงระยะในทางลึกให้คนดูสามารถรับรู้ได้ ก็จะทำให้มองเห็นสภาพภายในห้องที่ชัดเจน และบางทียังทำให้ห้องดูกว้างมากขึ้นอีกด้วย

Article-08-1ถ่ายภาพจากหลายๆ มุม

ไม่ควรถ่ายภาพเดียว มุมเดียวทั้งหมด แต่ควรที่จะถ่ายภาพเผื่อเอาไว้ ด้วยการตั้งค่าแสงที่แตกต่างกัน เพื่อให้แน่ใจว่า จะได้ภาพที่สวยและสื่ออารมณ์ของห้องนั้นๆ ได้มากที่สุด โดยภาพที่คุณจะต้องถ่ายเก็บไว้ จะมีอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือ ภาพองค์ประกอบรวมทั้งหมดของห้อง เช่น ภาพมุมกว้าง เห็นขนาด เห็นบรรยากาศ, ภาพจุดเด่นของห้อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ พื้น โต๊ะ และภาพเก็บรายละเอียดดีเทล

ตกแต่งห้องให้มีสไตล์

ถ้าไม่ใช่การขายบ้านหรือคอนโดแบบ Fully Fitted แต่เป็นการปล่อยเช่าพร้อมเฟอร์นิเจอร์ หรือขายพร้อมเฟอร์นิเจอร์ก็ควรที่จะจัดตกแต่งภายในให้ดูดีมีสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นสีของตกแต่ง วอลล์เปเปอร์ ไฟ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ควรทำให้ดูเข้าชุดกัน เมื่อถ่ายภาพออกมาจะได้ดูสวย และดึงดูดคนให้คลิกเข้ามามากยิ่งขึ้น

เก็บทุกอย่างให้ไม่รก

ของรกๆ เหล่านี้มักทำให้ภาพไม่น่าดู ทางที่ดีควรจะรีบขจัดความยุ่งเหยิงที่มองเห็นได้ออกไปเสียก่อน เช่น ขยะ สิ่งของบางอย่างที่รกรุงรัง ความสกปรก หรือของใช้ที่มีมากเกินความจำเป็น จนทำให้ความน่าอยู่ลดลงไปจากการเห็นรูปถ่ายใบเดียว

รู้จักการคุม Mood & Tone ของภาพ

ทุกวันนี้เรามีเครื่องมือ โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่ช่วยแต่งภาพให้ออกมาดูดีมากมาย คุณสามารถเลือกเซ็ตของสีหรือ  Mood & Tone ของภาพได้จากเครื่องมือเหล่านี้เพื่อตกแต่งภาพให้ออกมาสวยมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าแต่งจนดูหลอกตา ควรจะแต่งให้ออกมาดูธรรมชาติ และเน้นแสงธรรมชาติให้ได้มากที่สุด 

และนี่คือเทคนิคทั้งหมดเกี่ยวกับการถ่ายรูปในเบื้องต้นที่นำมาฝากกันในวันนี้ ก็หวังว่าจะช่วยทำให้นายหน้ามือใหม่มองเห็นวิธีการสร้างโปรไฟล์ของทรัพย์ให้ดูดีและน่าดึงดูดใจมากขึ้นได้ไม่มากก็น้อยนะครับ