งานวิจัยถวาย ในหลวง ร.9 นำสังคมพ้นภัย ไขปมเศรษฐกิจ

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,ในหลวง ร.9,ในหลวง รัชกาลที่9
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,ในหลวง ร.9,ในหลวง รัชกาลที่9
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,ในหลวง ร.9,ในหลวง รัชกาลที่9
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,ในหลวง ร.9,ในหลวง รัชกาลที่9

เพราะ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ในหลวง ร.9 ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการจัดการครัวเรือน ชุมชน ให้กับประชาชนคนไทยได้นำไปปรับใช้ เพื่อยกระดับชีวิตที่ดีขึ้น

ถือเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประยุกต์ใช้ได้เห็นผลจริง จากชุมชนเล็ก ๆ ที่พึ่งพาตนเองได้ เกิดเป็นความเข้มแข็ง จนสามารถพัฒนาต่อยอด เติบโต ขยายผล สู่การแข่งขันตามแนวเศรษฐกิจยุคใหม่ระดับโลกได้ และเพื่อเป็นการสืบสานแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”, “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” จึงได้มีการเปิดผลการวิจัยแนวทางการขับเคลื่อนแนวพระราชดำริ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชน ภายใต้ชื่อ “ร่วมวิจัยถวายพระองค์” โดยมี “ดร.นฤมล อรุโณทัย” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของชนพื้นเมือง

กรณีศึกษาชาวเลมอแกน จ.พังงา และชาวกะเหรี่ยงโผล่วจ.กาญจนบุรี”, “รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท” มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แถลงผลวิจัยเรื่อง “3 ขั้นตอนเรียนรู้จากสหกรณ์สู่ทฤษฎีใหม่” และ “ผศ.ดร.อรพรรณ คงมาลัย” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงผลวิจัยเรื่อง “การรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน”

เศรษฐกิจพอเพียงกับชนพื้นเมือง

“ดร.นฤมล” กล่าวว่า แต่เดิมนั้นกลุ่มชนพื้นเมืองชาวเลมอแกน และชาวกะเหรี่ยงโผล่วเคยมีวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่นิยามได้ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียง เอื้อต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลรักษาป่าไม้และทะเล แต่ในปัจจุบันทั้ง 2 ชุมชนกลับหันเข้าสู่เศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาตลาด และระบบของเงินตรา ทำให้สภาพความพอเพียงแปรเปลี่ยนไปเป็นหนี้สิน ตลอดจนการบริโภคที่เน้นกระแสสังคมเป็นหลัก

“จากการศึกษาพบว่า สภาวะเปลี่ยนผ่านของชุมชนเกิดจากปัจจัยเร่งทั้งภายใน ทั้งจากการถูกผลักดันเข้าสู่ระบบตลาด และการขาดโอกาสและทางเลือก ขณะที่ปัจจัยภายนอก คือกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยม สังคมบริโภค-วัตถุนิยม ระบบการศึกษาเน้นตลาดแรงงาน การขาดวิสัยทัศน์เรื่องคุณค่าวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่สำคัญอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ว่าล้าหลัง ยากจน”

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ชาวพื้นเมืองละทิ้งวิถีดั้งเดิม ชาวเลมอแกนที่อยู่กับเกาะและสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง และชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อยู่กับป่า เริ่มมีหนี้สินและหันมาหาวิถีบริโภคมากขึ้น แม้ว่าบางชุมชนเริ่มมีกลุ่มเพื่อการบริหารจัดการ และหวนเข้าสู่การพึ่งตนเองได้มากขึ้น แต่เงื่อนไขที่มาจากสังคมใหญ่ และนโยบายรัฐมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้ามากระทบกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

“ฉะนั้นแล้ว เงื่อนไขความรู้และคุณธรรมนั้นไม่ได้จำกัดวงอยู่ในระดับชุมชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนโยบายระยะยาวของรัฐ และการผลิตเชิงพาณิชย์จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เพื่อให้ชุมชนพื้นเมือง เช่นทั้ง 2 ชุมชนนี้ได้รักษาและฟื้นฟูรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่มีฐานคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทุนเดิม”

3 ขั้นตอนจากสหกรณ์สู่ทฤษฎีใหม่

“รศ.จุฑาทิพย์” กล่าวว่า การวิจัยเรื่อง 3 ขั้นตอน เรียนรู้จากสหกรณ์สู่ทฤษฎีใหม่ ถือเป็นผลงานวิจัยตามศาสตร์พระราชา โดยทั้ง 3 ขั้นตอนนั้น ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่นำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดย 3 ขั้นตอนดังกล่าวประกอบด้วย

1.ยกระดับสมรรถนะ 3 มิติ แก่ปัจเจกบุคคล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลกใหม่ ทั้งเรื่องการปลุกจิตสำนึก การปรับวิธีคิด และการเพิ่มพูนทักษะความรู้

2.ยกระดับขีดความสามารถกลุ่มหรือสหกรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแก้ไขปัญหาอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ บนหลักการพึ่งพาและร่วมมือกัน

3.การเชื่อมโยงเครือข่าย ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่า เพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่ม และนำไปสู่การสร้างสรรค์พื้นที่เศรษฐกิจแนวใหม่ ใส่ใจการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะจะแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญสร้างโอกาสการตลาดใหม่

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ “สามพรานโมเดล” ที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจชุมชนที่มีการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทำให้เห็นแนวปฏิบัติที่ดีของภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาควิชาการ ที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนสู่การเป็นสังคมเกษตรอินทรีย์ และทำให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม”

อีกทั้ง “คิชฌกูฏโมเดล” ที่เป็นสหกรณ์ที่ก้าวตามทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตอน เป็นต้นแบบธุรกิจสหกรณ์ที่สามารถแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำได้อย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน

“ผศ.ดร.อรพรรณ” กล่าวว่า จากการศึกษาแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 และการลงพื้นที่ศึกษาการพัฒนาในชุมชนทั่วประเทศ พบว่า แนวปฏิบัติในการนำเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปสู่การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น มีลำดับขั้นตอน 3 ขั้น

โดยขั้นที่ 1 ครัวเรือนต้องพึ่งพาตนเองได้มีผลผลิตพอกินตลอดปี มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายจ่ายและหนี้สินลดลง จะต้องบริหารจัดการน้ำและป่าไม้ให้ได้ประโยชน์ตลอดปี ทำเกษตรผสมผสานเพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี และการบริหารจัดการที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขั้นที่ 2 การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในชุมชนรูปแบบต่างๆ ทั้งกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ และจะต้องมีการดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิก พัฒนาการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด และต้องให้ความรู้ใหม่ ๆ แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง

ส่วนขั้นที่ 3 เชื่อมโยงกับภายนอก เพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ และเงินทุนมาต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า การสร้างแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ แสวงหาความร่วมมือจากองค์กรภายนอกชุมชน

นอกจากนี้ยังมีบันได 7 ขั้นที่จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1.การประเมินความพร้อมของกลุ่ม 2.การสร้างความเข้าใจในสิทธิหน้าที่และประโยชน์ของสมาชิก 3.พัฒนาโมเดลธุรกิจและระบบการจัดการกลุ่มให้ทันสมัย 4.เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต 5.กระตุ้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก 6.ส่งเสริมการใช้ฐานข้อมูลและองค์ความรู้ประเมินผลและเพิ่มประสิทธิภาพ และ 7.สร้างทักษะการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานให้ตรงจุดสำคัญและต่อเนื่องต่อไป

อันเป็นงานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นแนวทางการขับเคลื่อนแนวพระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และสร้างความอยู่ดีมีสุขให้แก่ประชาชนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก prachachat.net

ต้องการซื้อ-เช่ !!!คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินทั่วไทยมากกว่า 300,000 รายการคลิ๊กที่นี่

ลงประกาศขาย-ให้เช่า ฟรี !!! คอนโดมือสอง บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดินกับ Dot Property ขายง่าย ขายไว ไม่มีค่าใช้จ่ายลงประกาศเลย