ชวนดูกฎหมายค่าส่วนกลางหมู่บ้าน ไม่จ่ายผิดกฎหมายมั้ย?

เป็นที่ทราบกันดีว่าค่าส่วนกลางนั้น ถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งที่ไม่ว่าจะซื้อบ้านจัดสรรหรือคอนโดก็จะต้องเจอกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคน ๆ ที่จะเห็นว่าการจ่ายค่าส่วนกลางคอนโดหรือบ้านนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะในบางครั้งเราก็ไม่ได้ใช้ส่วนกลางต่าง ๆ อย่างสระว่ายน้ำ ฟิตเนส หรือสวนส่วนกลาง ดังนั้นในวันนี้เรามาลองดูกันว่ากฎหมายค่าส่วนกลางหมู่บ้านหรือกฎหมายค่าส่วนกลางคอนโดนั้น มีการะบุไว้ว่าอย่างไร หากเราไม่ได้ใช้ทรัพย์สินส่วนกลางเท่าไหร่นัก จำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ และถ้าไม่จ่ายจะได้รับโทษอย่างไรบ้าง

ค่าส่วนกลางคืออะไร ? 

ก่อนที่เราจะไปรู้กฎหมายค่าส่วนกลางหมู่บ้านหรือคอนโดนั้น เรามาเริ่มทำความรู้จักกันก่อนว่าค่าส่วนกลางนั้นคืออะไร 

ค่าส่วนกลาง หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ทางนิติบุคคลเรียกเก็บจากทางลูกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในหมู่บ้านจัดสรร หรือโครงการคอนโดมิเนียมก็ตาม ซึ่งค่าส่วนกลางนี้จะถูกเรียกเก็บจากลูกบ้านทุก ๆ คนที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่ว่าจะซื้อมาแล้วอยู่อาศัย หรือปล่อยทิ้งว่างไว้ไม่มีผู้อยู่อาศัยก็ตาม 

Pic_1ค่าส่วนกลางถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง ?

หลังจากที่เราได้รู้แล้วว่า ทางนิติของทางโครงการบ้านหรือคอนโดต่าง ๆ นั้น เป็นผู้ที่ทำหน้าที่จัดเก็บและดูแลในเรื่องของค่าส่วนกลาง คราวนี้เรามาลองดูกันบ้างว่าค่าส่วนกลางต่าง ๆ จะถูกนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง

สำหรับค่าส่วนกลางที่ทางนิติได้เก็บจากลูกบ้านนั้น ส่วนใหญ่จะใช้เป็น ค่าจ้างพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น พนักงานทำความสะอาด พนักงานเก็บขยะ พนักงานรักษาความปลอดภัย รวมไปถึงค่าไฟฟ้าที่ใช้สำหรับพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งอาคารคลับเฮาส์ สวนส่วนกลาง สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกลาย พื้นที่ต้อนรับ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วค่าส่วนกลางยังจะได้รับการแบ่งเอาไว้สำหรับพัฒนาหรือปรับปรุงพื้นที่ที่มีความเสียหายหรือทรุดโทรม เช่น หากสีของอาคารหลุดลอก เกิดน้ำรั่วบริเวณชั้นดาดฟ้า หรือมีรอยแตกร้าวบริเวณพื้นที่จอดรถ ทางนิติก็จะนำเงินค่าส่วนกลางที่เก็บจากลูกบ้านไปใช้ในการซ่อมแซม 

Pic_2กฎหมายค่าส่วนกลางหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์บ้านหรือคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัยหรือไม่อยู่อาศัยก็ตาม จำเป็นที่จะต้องจ่ายค่าส่วนกลางทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีคนมองว่าในเมื่อตนเองไม่ได้อยู่หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางเลยแม้แต่น้อยจะยังต้องจ่ายค่าส่วยกลางอยู่อีกหรือไม่ ลองมาดูข้อกฎหมายกัน

ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10230/2553 เรื่องกฎหมายค่าส่วนกลางหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมนั้น มีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ค่าส่วนกลางเป็นหนี้ที่เกิดตามกฎหมายพ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ดังนั้นผู้ที่เป็นลูกหนี้ หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่าลูกบ้านนั้น จึงจะต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ตามกฎหมาย ไม่สามารถฝ่าฝืนได้โดยเด็ดขาด ดังนั้นสำหรับใครที่คิดว่าตนเองไม่ได้ใช้งานพื้นที่ส่วนกลางหรือไม่ค่อยได้อยู่อาศัยในบ้านของตนเองมากเท่าไหร่นัก ก็จะต้องทำหน้าที่จ่ายค่าส่วนกลางโดยไม่มีทางละเว้นได้เช่นกัน

Pic_3หากไม่จ่ายค่าส่วนกลางจะเกิดอะไรขึ้น ?

หลังจากที่เราได้รู้แล้วว่ากฎหมายค่าส่วนกลางหมู่บ้านและคอนโดมิเนียมนั้น เป็นกฎหมายชัดเจนที่จะต้องปฏิบัติตามและชำระค่าใช้จ่ายตามที่กำหนด คราวนี้เราก็มาดูกันว่าหากมีใครที่ยังดื้อดึงหรือไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลางตามกฎหมายค่าส่วนกลางหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม จะเกิดอะไรขึ้นหรือโดนอะไรบ้าง

1.กรณีที่เป็นกฎหมายค่าส่วนกลางหมู่บ้าน

  • หากไม่ชำระค่าส่วนกลางในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเบี้ยปรับอยู่ที่ประมาณ 10-15% ของยอดที่ต้องจ่าย
  • หากไม่จ่ายค่าส่วนกลางเกิน 3 เดือน อาจถูกระงับสิทธิ์ต่าง ๆ เช่น การบริการเก็บขยะ การถูกระงับสิทธิ์ในการใช้คีย์การ์ด หรือพื้นที่ส่วนกลางใด ๆ ก็ตาม ทั้งคลับเฮาส์ สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย เป็นต้น
  • หากไม่จ่ายค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือน จะถูกระงับสิทธิ์ในการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์บ้าน
  • หากไม่จ่ายค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือนขึ้นไป อาจถูกดำเนินการทางกฎหมายโดยการยื่นฟ้องศาลPic_4

2.กรณีที่เป็นกฎหมายค่าส่วนกลางคอนโด

หากไม่ชำระค่าส่วนกลางในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเบี้ยปรับอยู่ที่ประมาณ 12-20% ของยอดที่ต้องจ่าย

  • เสียสิทธิ์การลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่
  • ไม่สามารถซื้อขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ใด ๆ ได้ เนื่องจากจะไม่ได้รับ “ใบปลอดหนี้”
  • อาจถูกดำเนินการทางกฎหมายโดยการยื่นฟ้องศาล

ดังนั้นเมื่อเราทราบแล้วว่าเรื่องของค่าส่วนกลางเป็นเรื่องของกฎหมาย ก็ไม่ควรที่จะละเลยหรือพยายามหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นอาจสร้างปัญหาต่าง ๆ มากมายตามมาในภายหลัง

อ้างอิง
https://www.chanuntorn.com/post/swnklaangkhuue-aair-aelwaimcchaayaidaihm