แชร์ประสบการณ์ดีๆ ตรวจบ้านอย่างไรให้เก็บรายะเอียดได้หมด

ตรวจรับบ้าน

วันนี้เรามีประสบการณ์ดีๆ จาก คุณ งามอย่างไร สมาชิกจากเว็บไซตื pantip.com ที่ไม่อยากเก็บไว้คนเดียว เลยมาแชร์ไอเดียการ ตรวจรับบ้าน อย่างไรให้เก็บรายะเอียดได้หมด ทุกเม็ด และข้อดี ข้อเสียของการจ้างตรวจบ้าน จะได้รู้เขารู้เรา

ตรวจรับบ้าน อย่างไรให้เก็บทุกเม็ด รีวิวช่างตรวจบ้านชลบุรี BY งามอย่างไร

สวัสดีค่ะ กระทู้นี้เป็นกระทู้แรกของเรา เรามีประสบการณ์ดีๆ ไม่อยากเก็บไว้คนเดียว เลยมาตั้งกระทู้ เผื่อจะมีประโยชน์สำหรับคนที่ซื้อบ้านแล้วกำลังเครียดเรื่องตรวจบ้าน เพราะไม่มีความรู้เรื่องช่าง โดยเฉพาะสาวๆ ที่อยู่คนเดียว ตอนแรกเราก็กะจะตรวจเอง จะลากเพื่อนไปด้วย หาข้อมูลตามเน็ตบ้าง ถามพี่ๆ ที่รู้จักกันบ้าง แต่ก็ยังกังวลมาก เพราะเราเป็นคนนิสัยเก็บทุกเม็ด กลัวเช็คหลุดรอด

ก่อนวันตรวจ 1 วัน เราได้อ่านพันทิปกระทู้หนึ่งที่เขาตรวจบ้านเอง เขาหาข้อมูลเยอะมาก ซื้อหนังสือเกี่ยวกับวิศวะกรรมบ้านมาอ่านเป็นเดือนๆ ส่วนเรามีข้อมูลนะ แต่ประมาณว่าอ่านหนังสือร้อยหน้าจบในคืนเดียว มันไม่แน่นพอ แล้วจะไปเก็บรายละเอียดหมดได้ยังไง แต่นึกขึ้นได้ เพื่อนเคยบอกว่ามีช่างหรือบริษัทรับจ้างตรวจบ้าน เราเลยรีบหาดูในเน็ต เจอช่างรับตรวจบ้านแถวชลบุรี (บ้านเราอยู่ชลบุรี)

เราเลยโทรคุยกับช่าง ถามช่างว่าจะทำอะไรให้บ้าง ช่างตอบว่า…..

  1. ตรวจสอบงานโครงสร้างและระบบ จำพวก เสา, คาน, โครงหลังคา, ประปา, ไฟฟ้า, ท่อระบายน้ำ และอื่นๆ
  2. ตรวจสอบงานสถาปัตย์ จะเป็นเรื่องความสวยงาม จำพวก พื้น, กระเบื้อง, ผนัง, ฝ้าเพดาน, ประตู, หน้าต่าง และอื่นๆ
  3. ความพึงพอใจของลูกค้า ก็คือ ถ้าเจ้าของบ้านพบเจออะไรที่ต้องการให้แก่ไขเพิ่มเติม ก็บอกช่างเพิ่มเติมได้ค่ะ ช่างจะระบุลงในรายการแก้ให้
  4. ทำรายงานสรุปรายการตรวจและจุดที่ต้องแก้ไขพร้อมรูปภาพ

ที่ช่างบอกข้างต้น แค่คร่าวๆ นะคะ ต้องดูรายงานจริงที่ช่างทำออกมาเมื่อตรวจเสร็จแล้ว ในนั้นจะมีรายการตรวจและรูปภาพที่ระบุว่าต้องแก้อะไรอย่างละเอียด ช่างตรวจให้ 2 รอบค่ะ (ก็คงเป็นปกติของการจ้างตรวจบ้าน) โอเค ตกลงนัดแนะวันเวลาเสร็จสรรพ นัดกระทันหันไปหน่อย แต่โชคดีที่ช่างว่างพอดี

 

บรรยากาศตอนตรวจบ้านในรอบแรก

นัดช่างบ่ายสามโมง ช่างมาตรงเวลา มีอุปกรณ์มาพร้อม เจ้าของบ้านไม่ต้องเอาอะไรมา เดินตัวปลิวมาก็พอค่ะ ก่อนอื่นช่างแนะนำก่อนว่าจะตรวจอะไรบ้าง แล้วก็เริ่มตรวจเป็นจุดๆ เป็นระบบ ไม่เสียเวลา (ก็แหงล่ะสิ ประสบการณ์ตรวจของเขาตั้ง 5 ปี) ตรวจละเอียดกว่าที่คิดไว้ ไม่รู้จะพูดไงดี ประมาณว่าสากกระเบือยันเรือรบอะค่ะ จุดไหนที่เจอปัญหา ต้องแก้ ช่างจะแปะสติ๊กเกอร์สีชมพูมาร์คไว้ให้หมด เราชอบตรงที่…..

  • ผนังไม่เรียบ เป็นเม็ดๆ ปูดๆ หรือยุบบุ๋ม เป็นริ้ว เล็กๆ น้อยๆ ช่างก็แปะแจ้งแก้ไขหมด
  • กระเบื้องบิ่นนิดเดียว ก็ไม่ปล่อยผ่าน แปะแจ้งแก้ไขหมด
  • จุดที่เจ้าของบ้านไม่คาดคิด เช่น ลามิเนตขอบริม ช่างก็เหยียบๆ เคาะๆ ดู พบว่ามันกลวง ต้องแก้
  • เหลี่ยมเสาไม่ตรง พริ้ว ช่างแจ้งแก้ไข พร้อมแนะนำช่างของโครงการว่าไม่ควรโป๊ะปูนทับ เพราะจะมีปัญหาร่อนในอนาคต
  • ปีนขึ้นไปบนกำแพงเพื่อดูพนังด้านบน พบว่าผนังเหนือหลอดไฟจุดที่เป็นมุมอับยังเป็นรูอยู่ ถ้าเราตรวจเองคงหาไม่เจอ
  • เปิดท่อดูระบบระบาย มุดใต้หลังคาดูโครง, ฉนวนกันความร้อนและอื่นๆ
  • เปิดน้ำในห้องน้ำทิ้งไว้เพื่อดูว่าน้ำขังหรือไม่ ระบายได้ดีรึเปล่า
  • มีอุปกรณ์ตรวจระบบไฟฟ้ามาพร้อม ยืนยันได้ว่าระบบไฟฟ้าไม่มีปัญหา
  • ตรวจละเอียด ใจเย็น ไม่เร่งรีบ ตรวจนาน 3 ชม.กว่าๆ (บ้านเราเป็นทาวน์โฮมนะคะ ถ้าบ้านเดี่ยวจะนานกว่านี้)
  • เรื่องที่ชอบมีอีกมากมาย แต่เดี๋ยวจะยาวเกินไป ขอจบไว้เท่านี้ค่ะ

 

ช่างแนะนำความรู้ดีๆ

นอกจากจะตรวจบ้านแล้ว ช่างยังมีความรู้ดีๆ แนะนำเจ้าของบ้านด้วย หลายเรื่องเลยค่ะ เรื่องที่เราพอจะอธิบายแบบชัดเจน ได้ก็มีประมาณนี้

– ถังดักไขมัน เป็นถังที่ต่อจากซิงค์ล้างจานออกไปหลังบ้านลงสู่ถังดักไขมัน ถังเปิดออกได้ ข้างในมีแผงกั้นแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งจะมีตะกร้าสำหรับกรองเศษ อีกฝั่งหนึ่งเป็นฝั่งรับน้ำที่กรองเศษแล้ว ตะกร้านั้นหยิบออกมาแล้วเอาเศษทิ้งและล้างได้

ตรวจรับบ้าน

– บ่อเกรอะ เป็นบ่อที่ต่อจากโถส้วม มีไว้สำหรับรับของเสียและน้ำเสีย ในนั้นมีแผงมีเดียอยู่ ลักษณะเป็นรูๆ เป็นตัวที่ให้จุลินทรีย์ยึดเกาะจุลินทรีย์ช่วยในการบำบัดน้ำเสีย ประเด็นสำคัญ คือ ในบ่อเกรอะจะต้องมีน้ำขังค่อนบ่ออยู่ตลอดเวลา เพื่อปิดกลิ่นไว้ไม่ให้โชยออกมา เพราะกลิ่นผ่านน้ำไม่ได้ ถ้าน้ำแห้งแสดงว่าบ่อแตกหรือมีรอยรั่ว ต้องแก้ไขซ่อมแซม ถ้าช่างไม่บอก ถ้าน้ำแห้ง เราก็คงปล่อยน้ำแห้งอย่างนั้น โดยไม่รู้ว่าบ่อแตก

ตรวจรับบ้าน

รายงานสรุปการตรวจบ้านรอบที่ 1 (มี 45 รายการ แต่ตัดมาให้ดูเป็นตัวอย่างแค่ 19 รายการค่ะ)

ตรวจรับบ้าน

รูปภาพจุดแก้ไขพร้อมคำบรรยาย (มี 9 หน้า แต่เลือกแค่หน้า 1 และ 7 มาให้ดูเป็นตัวอย่างค่ะ)

ตรวจรับบ้าน

ตรวจรับบ้าน

ช่างตรวจบ้านจะทำรายงานส่งให้เจ้าของบ้านและโครงการเพื่อให้ทำการแก้ไข โครงการก็จะแก้ไขตามรายการนั้น พอช่างของโครงการแก้ไขเสร็จแล้ว เขาก็จะโทรแจ้งเราให้เข้ามาตรวจรอบ 2 เราก็ติดต่อช่างตรวจบ้านเพื่อนัดวันเวลาให้มาตรวจรอบ 2 โอเคนัดกันเสร็จสรรพ วาร์ปไปตอนต่อไปค่ะ

บรรยากาศตอนตรวจบ้านในรอบสอง

ช่างตรวจบ้านและช่างโครงการจะถือรายงานตามข้างต้นไว้ แล้วก็ไล่ดูแต่ละรายการ เจอตรงไหนยังไม่แก้ไข หรือยังแก้ไม่สมบูรณ์ ช่างตรวจบ้านก็จะแจ้งช่างโครงการให้แก้ไข ช่างโครงการก็จะระบุลงในรูปภาพแต่ละรายการ แล้วก็ทำการแก้ไขต่อไป เรามีเรื่องข้องใจ ช่างตรวจบ้านบอกว่า…อย่าปล่อยให้ค้างคา ติดใจเรื่องอะไรบอกมาให้หมด จะได้ดูให้ ให้เวลาเต็มที่ ก่อนจะตรวจบ้านเราได้ความรู้ดีๆ มาจากพี่ชายท่านหนึ่ง บอกให้เน้นตรวจแท่งกราวน์ด้วยนะ เราก็เลยถามช่าง แต่สาวๆ งง!!! ใช่ไหมคะว่า แท่งกราวด์คืออะไร อธิบายคร่าวๆ อย่างนี้นะคะ ระบบไฟฟ้าของบ้านจะมีสายดินอยู่ที่ตู้ควบคุมไฟ โดยจะลากไปยังเต้าเสียบปลั๊กของเครื่องใช้ไฟฟ้า หากมีไฟรั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟก็จะไหลไปตามสายดินลงสู่แท่งกราวด์ที่ฝังอยู่หลังบ้านเพื่อนำไฟลงดิน ไฟจะได้ไม่ช็อตคน แต่ถ้าแท่งกราวด์ถูกฝังไม่ลึกพอ ไฟที่รั่วอาจจะไม่ลงดิน ดังนั้นการเช็คว่าระบบสายดินกับแท่งกราวด์ว่ามีปัญหาหรือไม่จึงสำคัญ สามารถเช็คได้หลายวิธี เช่น เช็คด้วยเครื่องตามภาพด้านล่าง โดยเสียบลงบนเต้าเสียบ ถ้าไฟโชว์สีเขียวถือว่าโอเค

ตรวจรับบ้าน

รายงานสรุปการตรวจบ้านรอบที่ 2 (มี 9 หน้า แต่เลือกแค่หน้า 4 มาให้ดูเป็นตัวอย่างค่ะ)

ตรวจรับบ้าน

ช่างจะไฮไลท์สีแดงไว้ตรงจุดที่ยังแก้ไม่สมบูรณ์ ส่งให้เจ้าของบ้านและโครงการเพื่อให้ทำการแก้ไข โครงการก็จะแก้ไขตามรายการนั้น พอช่างของโครงการแก้ไขเสร็จแล้ว เขาก็จะโทรแจ้งเราให้เข้ามาตรวจรอบ 3 ตอนตรวจรอบ 3 นี้ ช่างตรวจบ้านไม่ได้มาแล้ว เราต้องมาตรวจเอง โดยดูตามรายการ ถ้ายังแก้ไม่ครบถ้วนก็จะมีรอบ 4, 5 วนไป โครงการเราไม่มีลิมิต ตรวจได้หลายรอบจนกว่าจะพอใจ แต่ถ้าเยอะไปโครงการอาจจะเคืองได้ ส่วนเราไม่ค่อยเป๊ะเว่อร์เท่าไหร่ ตรวจไปแค่ 5 รอบเอง (ตามเก็บเล็กๆ น้อยน่ะค่ะ)

 

ข้อดี ข้อเสียของการจ้างตรวจบ้าน

เล่ามาแต่ข้อดี ข้อเสีย ก็มีนะคะ คือ เสียเงิน หลักพัน แต่คุณภาพหลักหมื่น ได้ความเก็บทุกเม็ด และสบายใจ เราไม่ได้ซื้อบ้านบ่อยๆ ซื้อหลังนึงก็เป็นล้าน เสียเงินเท่านี้ ยอมค่ะ ราคาจ้างตรวจและระยะเวลาจะแตกต่างกันไปตามประเภทของบ้านค่ะ อีกอย่างการเลือกช่างก็สำคัญ ถ้าช่างเป็นคนหัวร้อน ใจร้อน ขี้รำคาญ สาวๆ ก็คงไม่กล้าจู้จี้มาก คงลำบากใจ ดีไม่ดีจุดเสียเล็กๆ น้อยๆ อาจปล่อยเลยตามเลย เพราะขี้เกียจคุยกับช่าง พออยู่บ้านไปนานๆ ปัญหาเล็กๆ อาจขยายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ดังนั้นเลือกช่างที่ใจเย็น ตรวจละเอียด ตรวจนานเหมือนบ้านตัวเองนะคะ

 

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับการแชร์ประสบการณ์ดีๆที่คุณ งามอย่างไร นำมาฝากกัน สำหรับท่านไหนที่ยังรู้สึกว่าอ่านยังไม่จุใจสามารถเข้าไปอ่านบทความ  ตรวจรับบ้าน ได้อีกที่นี้เลย การตรวจรับบ้านด้วยตัวเองแบบง่ายๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  คุณ งามอย่างไร สมาชิกจากเว็บไซตื pantip.com

 

สนใจข้อมูลข่าวสารเด่นๆ คอนเทนท์ร้อน ที่เราหามาเสริฟให้คุณผู้อ่านในทุกๆวันจาก Dotproperty คลิ๊ก …