ติดปีกขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสไตล์ ‘ฟรีแลนซ์’

ในยุคสมัยปัจจุบัน ที่ความยืดหยุ่นของชีวิตการทำงานนั้นมีหลากหลายยิ่งกว่าช่วงเวลาที่ผ่านๆ มา ทำให้คนทำงานสายอิสระหรือ ‘ฟรีแลนซ์’ ที่ไม่ยึดโยงอยู่กับระบบสำนักงานแบบเดิมนั้น มีเพิ่มมากขึ้น ตอบสนองกับทัศนะในด้านสมดุลของการใช้ชีวิตกับการทำงานหรือ ‘Work-Life Balance’ ที่อาจจะช้าลงนิดหนึ่ง มั่นคงน้อยลงนิดหน่อย แต่ควบคุมทุกความเป็นไปได้ด้วยตนเองมากกว่า

Credits: talentgarden.org

แต่ในทางหนึ่ง ความอิสระในฐานะฟรีแลนซ์ที่ไม่ผูกกับสลิปหรือหลักฐานทางรายได้ ก็มักจะตามมาด้วยปัญหาหนักอกเกี่ยวกับการติดต่อธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ตั้งแต่เล็กน้อยอย่างการทำบัตรเครดิต จนถึงเรื่องคอขาดบาดตายอย่างการกู้เงินหรือขอสินเชื่อเพื่อ ‘ซื้อหาที่อยู่อาศัย’ ที่หลายครั้ง มักจะถูกทางธนาคารพาณิชย์ประเมินว่ามีความเสี่ยงทางการเงิน เกินกว่าที่จะออกอนุมัติให้อย่างที่ควรจะเป็นหรือตั้งใจ

Credits: dontpayfull.com

แต่ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มี ‘ข้อยกเว้น’ แม้แต่การขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านสำหรับเหล่าคนสายอินทรีฟรีแลนซ์ทั้งหลาย ก็ยังมีหนทางที่พอจะทำให้ทุกสิ่งเป็นจริงได้ ด้วยแนวทางคร่าวๆ ที่เหล่าฟรีแลนซ์อาจจะต้องทำเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

//สร้าง ‘ตัวตน’

Credits: blog.Inw.co.th

ในที่นี้ เราไม่ได้หมายถึงให้เหล่าฟรีแลนซ์ผลิตผลงานชนิดลืมตายไม่ต้องกินต้องนอน แต่สิ่งที่ธนาคารพาณิชย์กังขาในตำแหน่งแห่งที่ของเหล่าฟรีแลนซ์คือ ‘ตัวตน’ ที่สามารถติดตามได้ยามอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งจุดนี้ สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการจดทะเบียนพาณิชย์หรือธุรกิจการค้า (ทั้งแบบปกติและแบบอิเล็กทรอนิกส์) และเปลี่ยนสถานะเป็น ‘เจ้าของกิจการ’ ที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายให้กลายเป็น ‘ตัวตน’ ใหม่ และแม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะต้องมาวุ่นวายกับขั้นตอนการเสียภาษี แต่เมื่อแลกกับการที่ทำให้ธุรกรรมทางการเงินง่ายขึ้นนั้น ก็นับว่าคุ้มค่าไม่น้อย หรือถ้าไม่อยากเสียภาษีในอัตราเจ้าของกิจการ เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ก็พอชดเชยได้ไม่เสียหายอะไร

//ชัดเจนใน ‘ความมั่นคงทางการเงิน’

Credits: fsnewsletter.net

ฟรีแลนซ์เป็นวิถีอาชีพอิสระที่รับงานตามใบสั่ง แน่นอนว่าความสม่ำเสมอของงานก็ขึ้นกับว่าฟรีแลนซ์คนนั้นมีฝีมือและความน่าเชื่อถือในแวดวงมากเพียงใด และความสม่ำเสมอของรายได้ ด้วยเงินเดินอบัญชีต่อเนื่องขั้นต่ำ 1 ปี ก็เป็นหลักฐานที่ดีว่าฟรีแลนซ์ผู้ขอสินเชื่อนั้นๆ มีความสามารถในการจ่ายคืนดอกเบี้ยในยามที่ต้องทำ หรือในบางกรณี ธนาคารพาณิชย์บางแห่งก็จะพิจารณาจากเงินฝากประจำที่มีอยู่ ซึ่งถ้ามีในปริมาณที่มากเพียงพอ (โดยส่วนมากแล้ว จะต้องมากกว่าจำนวนที่ขอกู้…) ก็มักจะได้รับการยกเว้นให้ขอสินเชื่อได้

//อย่า ‘บินเดี่ยว’

Credits: moneyandbanking.co.th

เราเข้าใจว่าความเป็นฟรีแลนซ์ คืออิสระของการควบคุมเส้นทางชีวิต การงาน และการเงินของตนเอง แต่เมื่อมาถึงการขออนุมัติสินเชื่อแล้วนั้น ถ้าวิถีบินเดี่ยวไม่อาจทำให้คุณถึงฝั่งฝัน ก็ลองมองหาผู้ช่วยเพื่อขอกู้ร่วมกับทางธนาคารพาณิชย์ดู เพราะการมีผู้กู้ร่วม ย่อมสร้างความมั่นใจว่าสินเชื่อที่ถูกปล่อยออกไปจะสามารถถูกใช้คืนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดที่กล่าวไป ดูเผินๆ เหมือนกับการพาตัวเองกลับไปสู่วงจรของ ‘ระบบ’ อันอาจจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับวิถีแห่งฟรีแลนซ์อย่างรุนแรงสิ้นเชิง แต่ขอให้มองในอีกมุมหนึ่งว่า ถ้าความยืดหยุ่นคือธรรมชาติและหัวใจของฟรีแลนซ์แล้วนั้น การผ่อนหนักบ้างเบาบ้างเพื่อบ้านในฝัน ก็น่าจะเป็นการฝึกฝนการจัดการ อันเป็นสิ่งที่จะสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ของอาชีพอิสระได้ในภายภาคหน้าเป็นอย่างดี ไม่มากก็น้อย

หมายเหตุ:: ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีความผ่อนปรนกับอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์สำหรับสินเชื่อและเงินกู้แบบต่างๆ มากขึ้น โปรดสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ