ฤดูหนาวมาถึงแล้ว ควรเตรียมพร้อมอย่างไรดี

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้ว แต่ว่าเราอาจจะยังไม่รู้สึกหนาวสักเท่าไหร่นักเพราะตอนนี้เรียกว่าเพิ่งจะเข้าสู่ช่วงเวลาเปลี่ยนฤดูเท่านั้นเราจึงเห็นว่าหลายที่จะยังมีฝนและอากาศแปรปรวนอย่างที่คาดการณ์ไม่ได้กันอยู่บ้าง เรามาดูกันดีกว่าว่าช่วงที่หนาวที่สุดที่เราจะคาดหวังได้นั้นอยู่ที่ช่วงไหนและความหนาวอย่างนี้เราควรจะเตรียมพร้อมอย่างไรดี

ความหนาวของประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีฤดูร้อนยาว ฤดูหนาวสั้น ดังนั้นช่วงที่หนาวสุดของปีจึงอาจมีเพียงหนึ่งถึงสองเดือนเท่านั้น ซึ่งหากนับช่วงที่หนาวที่สุดของปีแล้วจะอยู่ที่ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม โดยความต่ำของอุณหภูมิจะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ 

อุณหภูมิปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ฤดูกาลในประเทศไทยมีฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาวเรียงต่อกันทุกปี ฤดูร้อนที่ผ่านมาทั่วโลกยังคงเผชิญกับไฟป่าหลายพื้นที่ ส่วนในฤดูฝนจีนและยุโรปก็เผชิญกับภัยน้ำท่วมครั้งรุนแรง และในขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวประเทศไทยเราก็มีบางพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำทะเลหนุนสูง เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ กรมอุตุนิยมวิทยาจึงมีการคาดการณ์ไว้ดังนี้

เดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม

ช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศกำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเพื่อให้เราเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างแท้จริงเราจึงจะได้เจอกับอากาศเย็นในบางวัน ซึ่งอาจจะยังร้อนอยู่ในบางช่วงของวัน และในบางพท้นที่อาจจะได้พบกับอากาศหนาวกันบ้างแล้วและอาจมีหมอกตอนเช้าในบางแห่ง แต่ช่วงนี้เชื่อว่าทุกคนคงสังเกตได้ว่าอากาศเริ่มเย็นกว่าปกติแล้ว

กลางเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมกราคม

นี่คือช่วงที่เราจะได้พบกับฤดูหนาวอย่างแท้จริงกันสักที เป็นช่วงพีคของฤดูหนาวเลยก็ว่าได้ ใครที่อยากรับความหนาวอย่างเต็มที่ก็แนะนำให้ออกทริปขึ้นเหนือขึ้นเขากันช่วงนี้เลย ซึ่งมีการคาดการณ์เอาไว้ว่าอุณหภูมิต่ำสุดที่เราอาจจะได้เจอในปีนี้คือ 6-7 องศาเซลเซียสกันเลยทีเดียว

ต้นเดือนกุมภาพันธ์

เข้าสู่ช่วงปลายฤดูหนาวที่อากาศจะเริ่มเปลี่ยนจากฤดูหนาวกลับสู่ฤดูร้อน ลักษณะอากาศจะเริ่มแปรปรวนมากขึ้นและจะเริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยๆ บางวันอากาศจะร้อนแล้ว พวกเราก็จะกลับสู่เมืองร้อนกันอีกครั้ง

อุณหภูมิ 16 องศาเซลเซียสที่ไม่เท่ากัน ทำไมเราหนาวเหลือเกิน

ปีที่แล้วช่วงที่เราเผชิญกับความหนาวของฤดูหนาวนั้นอุณหภูมิไม่นับว่าต่ำมากหากเทียบกับหลายประเทศที่อยู่ในแถบหนาวแต่กลับมาการกล่าวกันว่าในอุณหภูมิที่เท่ากันนั้นบ้านเราหนาวกว่ามากเหลือเกิน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ดอทสรุปมาให้เป็นสองข้อหลักที่เห็นถึงความต่างได้ชัดเจนได้แก่

เพราะความชื้นที่มากกว่า

ประเทศไทยมีสภาพอากาศเดิมคือร้อนชื้น เมื่ออากาศเย็นขึ้นความชื้นไม่ได้หายไปแต่ยังคงอยู่ในอากาศเหมือนเดิม ซึ่งหากเรากล่าวให้เห็นภาพเหมือนกับตัวเราที่แห้งสนิทเจออากาศหนาวย่อมรู้สึกเย็นได้ไม่เท่ากับตัวเราที่เปียกชื้น ดังนั้นเราจะรู้สึกว่าอากาศหนาวมากกว่าในพื้นที่แถบหนาวที่อากาศแห้งกว่าบ้านเรานั่นเอง

เพราะบ้านของเราสร้างเพื่อรับมือกับความร้อนมากกว่าความหนาว

ประเทศไทยเผชิญความร้อนอยู่ราว 8-10 เดือนต่อปีกันเลยทีเดียว ดังนั้นหากเราต้องออกแบบสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาสักแบบหนึ่งย่อมเป็นแบบที่เหมาะกับฤดูร้อน เน้นอากาศถ่ายเท วัสดุไม่เก็บความร้อน หากในช่วงฤดูหนาวเราอยู่ใกล้กำแพงจะรู้สึกได้ชัดถึงความเย็นที่แผ่ออกมากันเลยทีเดียว

เตรียมความพร้อมรับมือฤดูหนาวกันเถอะ!

เราอาจจะอยู่กับความร้อนมาจนรู้สึกโหยหาฤดูหนาวแต่ว่าอย่าลืมเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองด้วย เพราะร่างกายของเราไม่ได้ชินกับการเจออากาศหนาวเย็นหากปรับตัวไม่ได้อาจจะทำให้ล้มป่วยซึ่งในช่วงที่การระบาดของโควิดยังไม่จากไปแบบนี้ การดูแลตัวเองให้รอบคอบห่างไกลโรงพยาบาลไว้ก่อนนับเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/social/966764